ค้นฅน "สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่เรื่องราวชีวิตของจ๊ะเอ๋ เชิญยิ้มออกในรายการ "ฅนค้นฅน" ครั้งแรกทางช่อง 9 ก็ดูเหมือนว่า "เนื้อหาสาระ" ของรายการโดนใจคนดูกลุ่มใหญ่ทันที

เป็นรายการที่เล่าเรื่องราวของมนุษย์อย่างมีชั้นเชิงในหลายมิติ โดยที่ "พิธีกร" อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์บ้างในช่วงแรกๆ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ทีวีบูรพายังเดินหน้าค้นฅนต่อไปในรูปแบบที่ไม่เหมือนรายการใด จนจะครบ 2 ปีเต็มในเดือนเมษายน 2548 นี้ พร้อมๆ กับ การเกิดขึ้นของรายการใหม่ "กบนอกกะลา"

สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ตั้งใจที่จะทำสารคดีดีๆ ให้ยืนหยัดอยู่ได้ในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ของสถานีโทรทัศน์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มีแนวคิดเดียวกัน กล้าสร้างรายการที่ "แตกต่าง" จากรายการเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นตอกย้ำความมั่นใจว่าวิธีคิดของเขาถูกต้อง

ตัวตนของสุทธิพงษ์ผู้กำหนดย่างก้าวต่อไปของบริษัททีวีบูรพา จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่นกัน

ออฟฟิศเล็กๆ 3 ชั้นในซอยรามคำแหง 43/1 เป็นสมบัติอีกชิ้นหนึ่งที่ซื้อหามาจากเม็ดเหงื่อของความเหนื่อยยาก ถูกใช้เป็นสำนักงานเป็นสตูดิโอ และห้องตัดต่อ ในห้องที่นั่งคุยกันวันนั้น คือโต๊ะประชุมของทีมงาน ซึ่งนานๆ ครั้งจะมีโอกาสได้มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน

นอกจากสารคดี 2 รายการซึ่งกำลังทำยังมีรายการใหม่ที่ต้องคิดค้นเสนอต่อทางสถานีเพื่อออกอากาศในเดือนเมษายน 2548 พ็อกเก็ตบุ๊กของสำนักพิมพ์บูรพาเองก็ต้อง เตรียมทยอยวางแผง สุทธิพงษ์ยังวางแผนทำแมกกาซีนดีๆ อีกหนึ่งเล่ม รวมทั้งการเตรียมทำรายการสารคดีท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร

ทั้งหมดคืองานที่ต้องอาศัยการระดมสมอง และการร่วมแรงร่วมใจของทีมงานกว่า 40 ชีวิต

"หากเมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมไม่กล้าตัดสินใจลาออกจาก บริษัทเจเอสแอล ไม่กล้าเอาบ้านไปรีไฟแนนซ์ ยอมขายรถ เพื่อเอาเงินไปตั้งบริษัทเล็กๆ บริษัทหนึ่งกับเพื่อน วันนี้ก็คงยังไม่มีวันมาถึง" สุทธิพงษ์เริ่มเล่าเรื่องตัวตนของเขาให้ "ผู้จัดการ" ฟังด้วยบุคลิกที่ไม่ต่างกับในทีวี คือพูดช้าชัดและแฝงไปด้วยการครุ่นคิด

บริษัทแรก 2000 ทูทรีโอ รับถ่ายวิดีโอ ทำงานพรีเซ็นต์ รวมทั้งรับจ้างผลิตรายการทั่วๆ ไป เช่น เกมโชว์ ทอล์คโชว์ จนเวลาผ่านไป 2 ปี เขาก็มั่นใจว่ารายได้ที่ได้ไม่คุ้ม ทางสว่างไม่มี และที่สำคัญไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการทำ

"คน" เป็นสิ่งน่าสนใจ แต่จะทำอย่างไรให้รายการทีวีสามารถนำเสนอเรื่องของคนให้น่าสนใจ ทอล์คโชว์ ซึ่งเป็นแค่เรื่องเล่ายังสามารถติดตลาดได้ แต่หากต่อยอดออกไปนำเสนอภาพด้วย มันน่าจะยิ่งดีกว่าคือสิ่งที่เขาคิด และเป็นที่มาของการตั้งบริษัททีวีบูรพา

เทปแรกถูกนำไปเสนอกับจำนรรค์ ศิริตัน เจ้านายเก่าที่ให้การสนับสนุนด้วยการเข้าร่วมหุ้น เกินกว่าครึ่ง โชคดีอีกอย่างคือรายการนี้ได้เวลาทางช่อง 9 ซึ่งกำลังเปลี่ยน positioning จากแดนสนธยาเป็นโมเดิร์นไนน์ทีวี และได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบรายการใหม่

"กบนอกกะลา" ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2547 เป็นอีกรายการหนึ่งที่สุทธิพงษ์ต้องการตอกย้ำว่า รายการสารคดียังมีคนดู แต่ต้องรู้จักหาวิธีการนำเสนอให้โดนใจผู้ชมเท่านั้น

"ผมไม่เชื่ออยู่อย่างว่า คนเราจะกินอาหารซ้ำๆ แบบเดิม คงต้องการอาหารอย่างอื่นบ้าง แล้วยิ่งเราเอามาปรุงรสชาติให้ดี หน้าตาสวยงาม อย่างไรเสียก็ต้องมีคนกิน บางคนอาจมองว่า ฅนค้นฅน ติดตลาด เพราะขายความเป็นดราม่ามากกว่าเป็นสารคดี ดังนั้นกบในกะลา ผมฟันธงไปเลยว่าจะสร้างให้เป็นสารคดี เป็นความรู้จริงๆ และขอเวลาไพร์มไทม์ยิ่งกว่าฅนค้นฅนด้วย"

ฅนค้นฅน ออกอากาศทางช่อง 9 ทุกวันอังคาร เวลา 22.00-23.00 น. ส่วนกบนอกกะลาออกอากาศทุกวันศุกร์ทางช่อง 9 ในเวลา 20.30-21.30 น.

ค่าโฆษณาในรายการนี้ตกนาทีละประมาณ 200,000 บาท เป็นรายได้หลักที่เป็นหัวใจของบริษัท แต่สุทธิพงษ์ได้เอาเวลาทำเงินจากโฆษณาส่วนหนึ่งไปทำประชาสัมพันธ์หนังสือของสำนักพิมพ์บูรพา ซึ่งคือหนังสือที่เกิดจาก การต่อยอดจากรายการฅนค้นฅน บางส่วนคือหนังสือดีๆ ในแวดวงวรรณกรรม โดยสาเหตุหลักของการเกิดสำนักพิมพ์ เขากลับอธิบายว่า

"ผมมีความฝันที่จะเป็นนักเขียน เพื่อนสนิทส่วนใหญ่ก็อยู่ในแวดวงวรรณกรรม และรับรู้มาตลอดว่าหนังสือดีๆ ขายยากมาก พิมพ์ครั้งละ 2-3 พันเล่ม กว่าจะขายหมด ผมเลยขอเวลาทางผู้ใหญ่ เพื่อจะทำให้มีคนได้รู้จักหนังสือประเภทนี้เพิ่มขึ้น 10-20 คนก็ยังดี ส่วนผลประโยชน์ที่ตกอยู่กับสำนักพิมพ์นั้นมันเทียบไม่ได้หรอกกับค่าโฆษณาที่หายไป"

แมกกาซีนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาต้องการทำ โดยจากพื้นฐานความคิดที่ว่า เมื่อมีคนกลุ่มหนึ่ง ดูฅนค้นฅน ก็น่าจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการอ่านหนังสือดีๆ เช่นกัน

ทรัพย์สินอื่นๆ ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท หากมีกระบวนการบริหารจัดการที่ดีอาจจะกลายเป็นรายได้ที่สำคัญส่วนหนึ่งของบริษัท แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้นัก เช่น ซีดี หรือเทปของบางตอนที่เคยออกอากาศไปแล้ว แทนที่จะนำมาขายอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่ง เขาก็ก๊อบปี้แจกทุกโรงเรียน หรือองค์การต่างๆ ที่ขอมา

ปีที่ผ่านมาทีวีบูรพาทำรายได้ถึง 40 ล้านบาท "ผู้จัดการ" ไม่สามารถคำนวณได้ว่าเป็นกำไรที่ตกถึงทีวีบูรพาเท่าไร แต่เขาบอกว่า "กำไรประมาณสัก 20 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่ง ตรงนั้นก็หรูแล้วครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมจ่ายโบนัสโดยเฉลี่ยแล้ว 4 เดือน ผมถือว่าค่าตอบ แทนก็เป็นสิ่งสำคัญ"

กับ "คน" ที่มีวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ต่างกับคนอื่นเช่นเขาคาดหวังอย่างไรกับตัวบริษัท ทีวีบูรพาในอนาคต

"ผมคิดว่าถ้าบริษัทมีประมาณ 3-4 รายการก็น่าจะพอแล้ว แต่ถ้าสมมุติว่ามีเงื่อนไขที่จะได้ทำอีก ก็อาจจะต้องทำ เพราะผมคิดว่าคนเราถ้ามีโอกาสลงเรือลำเดียวกัน หรือคบหาเป็น เพื่อนฝูงกัน บางสิ่งบางอย่างเมื่อได้รับการร้องขอ มันยากที่จะปฏิเสธ ไม่ได้ทำเพราะว่าโลภที่จะขยาย แต่ทำเพราะว่าเขาคงเห็นว่าเราทำได้จริงๆ เขาต้องการความช่วยเหลือ และเชื่อใจเรา"

บ้านหลังเล็กนี้จะขยายออกไปกลายเป็นตึกสูงหรือไม่ดูเหมือนว่าไม่ใช่ประเด็น แต่การที่เขาสามารถทำให้ลูกน้องมีความสุข และมีความมั่นคงในชีวิตต่างหากคือ สาระสำคัญ และคือความคิดของสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ในวันนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.