|

SALEE ใน MAI
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หากจะวัดจากจำนวนบริษัทเข้าจดทะเบียน ปี 2547 ที่ผ่านไปถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ นับตั้งแต่ก่อตั้งมาเลยทีเดียว เนื่องจากมีหุ้นเข้าทำการซื้อขายถึง 14 บริษัท และคาดหมายกันว่าน่าจะส่งโมเมนตัมต่อเนื่องมาถึงปีนี้ด้วย
บริษัท สาลี่อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เปิดตัวเตรียม เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ในปีนี้ โดยมีบริษัทบางกอก ซิตี้ แอดไวเซอรี จำกัด และ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับ 1 แบบแสดงรายการข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา
สาลี่ฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ดำเนินธุรกิจผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนพลาสติก ประเภทอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ผลิตสินค้าต้นแบบ (Original Equipment Manufacturer : OEM) และ Subcontractor ของผู้ผลิตสินค้า OEM ชิ้นงานที่บริษัทรับผลิตให้ลูกค้ามีหลายประเภทด้วยกัน อาทิ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของสแกนเนอร์และพรินเตอร์ ส่วนประกอบของเครื่องไมโครเวฟ แฟกซ์และปลั๊กไฟ รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อการอุปโภคบริโภค จำพวกถาดใส่กุ้งแช่แข็งและอาหารทะเล กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทยและต่างประเทศ ธุรกิจ นี้ทำรายได้ให้บริษัทในสัดส่วน 60%
ส่วนอีก 40% ที่เหลือมาจากธุรกิจผลิตฉลากสินค้าครบวงจรที่ดำเนินงานโดย สาลี่ พริ้นท์ติ้ง ที่สาลี่ฯ ถือหุ้นอยู่ 99.99% การผลิตฉลากสินค้าครบวงจรที่สาลี่ พริ้นท์ ติ้ง ดำเนินการจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิต และจัดส่ง โดยมีกลุ่มลูกค้ากระจายไปในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ของใช้ในครัวเรือน คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้า อื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ในเครือซี.พี. สยามไวน์เนอรี่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
สาทิส ตัตวธร กรรมการผู้จัดการ สาลี่ฯ ประเมินว่า ทิศทางของอุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ ไฟฟ้าที่บริษัทดำเนินการอยู่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยของความจำเป็นในสินค้าประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของประเทศญี่ปุ่นที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักกับประเทศคู่ค้าสำคัญก็ยังคงอยู่ในอัตราสูง ขณะเดียวกันธุรกิจการผลิตฉลาก สินค้าคุณภาพสูงก็มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสำคัญจากกระแสนิยมฉลากสินค้าคุณภาพสูงในต่างประเทศเริ่มเข้ามาในประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้เองสาลี่ฯ จึงเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 115 ล้านบาทเป็น 145 ล้านบาท ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญ เพิ่มทุนจำนวน 30 ล้านหุ้นให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งหลังจากการเพิ่มทุนแล้วจะทำให้สัดส่วน ของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งได้แก่ บริษัทวีไอวี อินเตอร์เคม จำกัด กลุ่มตระกูลจิวะพรทิพย์ กลุ่มอัศวกาญจน์และผู้บริหาร ของบริษัท ลดลงเหลือ 79.31%
เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและฉลาก สินค้าคุณภาพสูงแห่งใหม่ในพื้นที่ 30 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 50% ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างไปบ้างแล้วและคาดว่าจะเสร็จในช่วงกลางปีนี้ โดยมีมูลค่าการก่อสร้าง ทั้งหมดประมาณ 300 ล้านบาท และเงินส่วนที่เหลือจะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ผลการดำเนินงานของสาลี่ฯ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2544 มีรายได้รวม 86.58 ล้านบาท กำไรสุทธิ 5.55 ล้านบาท ปี 2545 รายได้รวม 119.80 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10.92 ล้านบาท ปี 2546 รายได้ เพิ่มขึ้นเป็น 267.69 ล้านบาทและกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 42.92 ล้านบาท ส่วนในปี 2547 งวด 9 เดือน สาลี่ฯ มีรายได้ 248.92 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 34.01 ล้านบาท
สาลี่ฯ วางแผนการขยายงานในอนาคตด้วยการขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยจะเน้นไปในประเทศที่ลูกค้าของบริษัทเข้าไปตั้งฐานการผลิตเพิ่ม เพื่อรองรับการผลิตให้แก่ลูกค้ากลุ่มเดิมของบริษัท นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการผลิตและมีศักยภาพในการเติบโตสูงในอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคและชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งการปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานเพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจในสินค้าของบริษัท
ส่วนในสายธุรกิจพรินติ้งจะนำนโยบายการตลาดเชิงรุกมาใช้ เพื่อขยายฐานลูกค้าภายในประเทศให้มีความครอบ คลุมอุตสาหกรรมมากขึ้น และจะเพิ่มบริการ แบบครบวงจรให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยเพิ่มบริการออกแบบฉลากสินค้าและการขยายตลาดไปต่างประเทศ เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน โดยการใช้ตัวแทนที่เป็นคนท้องถิ่นในการหาตลาดและประสาน งานขาย
ด้านทวีสิทธิ์ สันตติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของสาลี่ฯ ให้ความเห็นว่า สาลี่ฯ มีจุดเด่นในการเป็นผู้ผลิตสินค้าในตลาดเฉพาะทางที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ซึ่งตลาดนี้จะมีอัตราการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยบริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีและมีศักยภาพในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม สาลี่ฯ ยังมีความ เสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบหลักของบริษัททั้งที่เป็นเม็ดพลาสติก แผ่นพลาสติกและแผ่นฟิล์มพลาสติกเป็นสินค้าที่ราคาผันผวนไปตามราคาน้ำมันและราคาก๊าซในตลาดโลก ดังนั้นหากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำไรของบริษัท ขณะเดียว กันธุรกิจหลักก็มีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ผลิตที่เป็นโรงงานขนาดเล็กจำนวนมากและส่วนใหญ่จะใช้นโยบายด้านราคาในการทำตลาดเป็นหลัก
สำหรับที่มาของชื่อบริษัท ที่ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคิดไปว่าเป็นผู้ผลิตขนมสาลี่ที่สุพรรณบุรี หรือมีความเกี่ยวข้องประการใดกับผลไม้สาลี่นั้น สาทิสเฉลยให้ฟังว่า เป็นการดึงเอาคำต้นของชื่อเขา มาผสมกับคำ "ลี่"กลายเป็นสาลี่ เพื่อให้เรียกง่าย เหมาะกับกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นชาวญี่ปุ่นนั่นเอง
อีกไม่นานก็จะได้พิสูจน์กันว่า โมเมนตัมของตลาดใหม่และกระแสความนิยมในบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจะช่วยให้การระดมทุนของ สาลี่ฯ ประสบความสำเร็จเพียงใด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|