The World Rival

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หากไทยต้องการจะเดินหน้ายุทธศาสตร์การเป็น "ครัวของโลก" จำเป็นต้องรู้ว่าในภาพรวมของการแข่งขันทางการค้าสินค้าอาหารในตลาดโลกนั้น คู่แข่งของเรานั้นเป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง

1. ประเทศพัฒนาแล้ว-คู่แข่งแรกที่น่ากลัว

อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่า คู่แข่งที่น่ากลัวของเราไม่ใช่แค่ประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ประเทศพัฒนาแล้วนั้นน่ากลัวกว่า เพราะเงินอุดหนุนภาคเกษตรจากรัฐบาลของเขานั้นหนากว่าของเราเยอะ สินค้าเกษตรอย่างข้าวและถั่วเหลือง ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ เป็นจำนวนมหาศาล เงินที่รัฐบาลอเมริกาให้กับผู้ปลูกถั่วเหลืองของเขานั้น มากพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกถั่วเหลืองได้ถึง 250% เลยทีเดียว งบประมาณช่วยเหลือด้านการเกษตรทั้งหมดของอเมริกาเมื่อปี 2001 ตกอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์ แต่กว่าครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนั้นหรือ 2.7 พันล้านดอลลาร์กลับตกไปอยู่กับผู้ผลิตถั่วเหลือง ทำให้เขาเอาถั่วของเขามาขายทุ่มในตลาดโลกได้ ดังนั้นถั่วเหลืองของอเมริกาที่มาขายในไทยจึงถูกกว่าถั่วเหลืองของไทยเยอะ ก็เพราะชาวนาของเขาได้เงินช่วยตั้งมากมายจากรัฐนั่นเอง ส่วนเงินช่วยเหลืออีกแบบหนึ่งคือ เงินสนับสนุนด้านการตลาด หรือ Market Access Program (MAP) ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย Farm Bill Act ปี 2002 เงิน MAP นี้จะเพิ่มจำนวนจาก 90 ล้านเหรียญ เป็น 200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2007 โดยมีสภาพันธุ์ข้าวของอเมริกา (The USA Rice Federation) เป็นผู้ล็อบบี้ รัฐบาล และสภาคองเกรสของอเมริกาไม่ให้ตัดงบตัวนี้ลงได้สำเร็จ ดังนั้นสมาคมผู้ส่งออก สินค้าเกษตรต่างๆ สามารถขอเงินช่วยเหลือ ก้อนนี้จากรัฐ เพื่อไปโปรโมตสินค้าของตนในต่างประเทศได้ บริษัทค้าข้าวอย่าง Uncle Ben's ได้รับเงินจากโครงการ MAP เพื่อโปรโมตข้าวของตัวเองในตลาดต่างประเทศ เป็นจำนวนเงินถึง 2.4 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 1989-1991 มากเป็นอันดับ 5 ในบรรดา บริษัทที่รับเงิน MAP ในช่วงเดียวกันนั้น (ข้อมูลจาก US General Accounting Office 1992) ได้งบโปรโมตกันขนาดนี้ ข้าว Uncle Ben's จึงครองตลาดข้าวในประเทศตะวันตกอย่างกินขาด ข้าวไทยของ เราคงจะต้องรับมือหนักขึ้น กว่าจะสามารถ เจาะตลาดตะวันตกได้ทุกหัวระแหงอย่างเขาได้

สำหรับสหภาพยุโรปเองก็มีประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสเปน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม หรือประเทศสมาชิกอียูใหม่ อย่างโปแลนด์และฮังการี ซึ่งต้นทุนการผลิตยังถูกอยู่ สินค้าของทั้งสองประเทศนี้ถึงจะยังมาไม่ ถึงอังกฤษมากนัก แต่ก็เข้าถึงประเทศเยอรมนีไปเรียบร้อยแล้ว เช่น ฮังการีส่งออกกะหล่ำปลี สำหรับฝรั่งเศสนั้นมีภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งชาวนาฝรั่งเศสยังเป็นฐานเสียงที่สำคัญต่อนักการเมืองมาก ดังนั้นฝรั่งเศสจึงล็อบบี้ประเทศสมาชิก อียูอื่นๆ อย่างเยอรมนีและโปแลนด์ ให้ออกเสียงไม่ให้รัฐสภาอียูตัดงบช่วยเหลือภาคเกษตร กรรมภายใต้นโยบายเกษตรกรรมร่วมของสหภาพยุโรป (Common Agricultural Policy-CAP) ไปจนถึงปี 2013 ทั้งๆ ที่ตามกฎของ WTO สหภาพอียูต้องลดจำนวนเงินช่วยเหลือ ภาคเกษตรลงเรื่อยๆ จนยกเลิกไปในที่สุด การค้าสินค้าเกษตรของโลกจะได้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ดูฟอร์มแล้วคงอีกนานกว่าวันนั้นจะมาถึง เงิน CAP เป็นเงินช่วยเหลือที่สหภาพอียูมอบให้แก่ชาวนาชาวไร่ในประเทศสมาชิก (แต่ 70% ของงบกลับไปตกอยู่กับ ฟาร์มใหญ่หรือบริษัทผลิตอาหารรายใหญ่ๆ มากกว่าจะไปถึงชาวนารายย่อย) จำนวนเงินช่วยเหลือภายใต้ CAP นี้มีมากมายมหาศาล เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณของอียูเป็นเงิน CAP นี่ทำให้ภาคเกษตรของเขาผลิตสินค้าออกมาล้นตลาด ปัจจุบันฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือจาก CAP มากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอียูด้วยกัน เพราะฉะนั้นถึงต้นทุนของเขาจะสูงกว่า เรา แต่เขาก็ขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าได้ อย่างนี้แล้วชาวนาบ้านเราจะไปขายตัดราคา แข่งกับเขาได้อย่างไร

2. ประเทศกำลังพัฒนา-คู่แข่งที่น่าจับตามอง

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเคนยา แอฟริกาใต้ บราซิล และอิสราเอลนั้น เราก็ควรจับตาดูเหมือนกัน เพราะจาก ตารางก็จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศพยายาม จะผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งออกมาแข่งกันขายในตลาดอียูทั้งนั้น อิสราเอลเองถึงจะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติอย่างที่ดินและน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจของการเกษตร แถมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังเป็นทะเลทรายอีก แต่เขาก็แก้ไขปัญหาในข้อนี้ไปได้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร ทำให้ตัวเองกลายเป็นหนึ่งในผู้นำในการส่งออกสินค้าเกษตร ไปแล้ว (แต่อิสราเอลก็ต้องเจอปัญหาหนักอยู่เหมือนกัน เพราะการทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงคนต่างชาตินี้ทำให้คนในประเทศมีน้ำไม่พอใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกอโวคาโด ซึ่งใช้น้ำมาก ปัญหาน้ำนี่อาจนำไปสู่วิกฤติภายในประเทศได้ในอนาคต)

เคนยาเองก็พึ่งรายได้ของประเทศกับการเกษตรไว้มาก จะเห็นได้ว่าผักหลายชนิด ที่ขายกันอยู่ในอังกฤษนั้น มาจากเคนยาทั้งนั้น ยิ่งดอกไม้สดเช่นดอกกุหลาบแล้ว ยิ่งเป็น สินค้าทำเงินเป็นอันดับสามให้ประเทศเลยทีเดียว รองจากการท่องเที่ยวและใบชา กว่า 90% ของดอกไม้สดที่ขายกันในอังกฤษมาจากเคนยา แต่ที่เคนยาส่งออกสินค้าเกษตรไปอียูได้มาก ขนาดนี้ ก็เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของยุโรปเป็นคนไปลงทุนที่เคนยาเอง เพื่อผลิตสินค้าเกษตรป้อนให้กับห้างและลูกค้าของตัวเองตลอดทั้งปี บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Del Monte ของอเมริกาก็ไปเปิดโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องที่นั่นเพื่อส่งออกทั่วโลกได้ทั้งปี ดังนั้น ประเทศยุโรปอย่างอังกฤษที่ต้องพึ่งพาอาหารจากประเทศอื่นเป็นหลัก จึงเริ่มไปยึดหัวหาด ในต่างแดนเพื่อจับจองพื้นที่เพื่อผลิตอาหารป้อนคนของเขา เข้าทำนองเดียวกับที่ญี่ปุ่นพยายามทำให้โลกทั้งใบเป็นครัวของเขาเอง (รายละเอียดโปรดอ่านเรื่อง Kitchen of the World VS World as the Kitchen)

สรุปแล้ว การส่งออกสินค้าอาหารนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเราต้องผ่านศึก ทั้งในด้านนโยบายระดับประเทศของประเทศคู่ค้า ที่พยายามกีดกันสินค้าของเรา ต้องคอยแข่งขันกับผู้ส่งออกรายอื่นๆ อีกมากมายทั่วโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและ ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งพึ่งรายได้จากการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรเป็นหลักเหมือนกัน อีกทั้งเรายังต้องคอยรับมือกับผู้ซื้อต่างประเทศ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ที่มีข้อเรียกร้องมากมาย และมีอำนาจการต่อรองสูงเพราะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ (Monopsony) ผู้ผลิตหลายรายในประเทศอังกฤษเอง ถูกซูเปอร์มาร์เก็ตบีบจนต้องเลิกส่งสินค้าให้ห้างไปแล้ว เช่น ชาวนาผู้ผลิตนมของอังกฤษที่ถูกห้างกดราคานม จนหลายคนต้องเลิกส่งนมขายห้างไปในที่สุด ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้การเจาะตลาดอาหารของอังกฤษและในประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องที่ลำบากมาก

บางทีเราอาจจะต้องมาทบทวนนโยบายการค้าของประเทศเราเองกันอีกครั้ง การมุ่งเน้นการส่งออกอย่างที่ทางรัฐได้วางยุทธศาสตร์เอาไว้นั้น เราเตรียมการพร้อมแล้วหรือ และนโยบายนี้มีผลดีผลเสียแค่ไหนต่อประเทศของเราเอง (ดูตัวอย่างปัญหาจากการมุ่งการผลิตเพื่อส่งออกของอิสราเอล เป็นต้น) ในโลกใบเล็กๆ ใบนี้ไม่ได้มีแค่เมืองไทยเท่านั้น ที่เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอาหาร การที่รัฐเร่งเจรจาการค้าเสรีเพื่อหวังเปิดประตูการค้ากับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นกับญี่ปุ่น ก็น่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีประเทศไหนยอมเอาภาคเกษตร ของเขามาแลกกับเราง่ายๆ อย่างที่ทางราชการคาดไว้ ข้าวไทยที่กระทรวงพาณิชย์ยกมาเป็นตัวอย่างของความสำเร็จทุกครั้งที่มีการถกเรื่องการค้าเสรี ก็จะเห็นได้ว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่ทางรัฐพูดเสมอไป ญี่ปุ่นเองไม่มีวันยอมคุยเรื่องข้าวกับเราเด็ดขาด (เพราะเราไม่ใช่ยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา)

หนังสือเรื่อง Rice as Self ของ Emiko Ohnuki-Tierney ก็ได้เขียนเล่าเอาไว้ด้วยว่า คนญี่ปุ่นมองข้าวของตัวเองว่ายังไงๆ ก็อร่อยกว่าของคนอื่น ยิ่งข้าวโฮชิฮิคาริของ เขาด้วยแล้ว ถึงจะแพงแค่ไหนก็ยอมซื้อ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่นโยบายของรัฐบาลใน ต่างประเทศเท่านั้น ที่เป็นอุปสรรคในการค้า สินค้าเกษตรของเรา แต่ทัศนคติของผู้บริโภคในประเทศของเขาต่อขั้นตอนการผลิตอาหารและแหล่งที่มาของอาหารนั้นๆ ก็เป็นสิ่งท้าทายสำหรับนโยบายการส่งออก อาหารของเราไม่น้อยไปกว่ากัน

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการเป็น "ครัวของโลก" ของเรานั้นจะเป็นได้ดั่งฝันหรือไม่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.