Long Walk to World Kitchen

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ความเคลื่อนไหวของ CPF ในการร่วมลงทุนกับ Yonekyu Corp. บรรษัทผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ขนาดกลางจากญี่ปุ่น ด้วยการจัดตั้งบริษัท CP-Yonekyu เมื่อช่วงปลายปี 2004 ที่ผ่านมา กำลังเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพและความสามารถของ CPF ในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่

แม้ในด้านหนึ่ง กรณีดังกล่าวจะสะท้อนความพยายามของ CPF ในการสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท ภายใต้ความมุ่งหวังว่าระดับการพัฒนาและเทคโนโลยีทางการผลิตของ Yonekyu อาจช่วยลดทอนระยะเวลาและเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นในอนาคต หลังจากที่ CPF ต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ไข้หวัดนก ในช่วงที่ผ่านมา

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในแต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้าไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง และไก่แปรรูปจากประเทศไทยมีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 47-52 ของมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ของไทย การสูญเสียตลาดส่งออกไก่ดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมารองรับกับรายได้ที่หดหายไปด้วย

แต่การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ย่อมมิได้เกิดขึ้นโดยลำพัง ท่ามกลางสุญญากาศที่ปราศจากคู่แข่งขันในการช่วงชิงช่องทางธุรกิจนี้ เพราะผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรทั้งจากยุโรปและอเมริกา ต่างติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "วิกฤติของไก่คือโอกาสของหมู"

การร่วมทุนระหว่าง CPF และ Yonekyu ก็กำลังสะท้อนความเป็นไปดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

แม้ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมิใช่ครั้งแรกที่ CPF พยายามขยายบริบททางธุรกิจให้กว้างขวางออกไปจากปริมณฑลของไก่ เพราะก่อนหน้านี้ CPF ได้ขยายบริบททางธุรกิจเข้าสู่ Aquaculture ที่กำลังมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ CPF ในปัจจุบันก็ตาม

อย่างไรก็ดี ภายใต้โครงสร้างทางธุรกิจของ Yonekyu ที่ประกอบด้วยธุรกิจผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์สด (fresh meats) ธุรกิจ Hams & Sausages และธุรกิจแปรรูปอาหาร (processed foods) ซึ่งมียอดการจำหน่ายรวมประมาณ 9.93 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 3.86 หมื่นล้าน บาท ในช่วงปี 2004 ที่ผ่านมา Yonekyu กำลังดำเนินความพยายามที่จะขยายฐานรายได้ในหมวด Hams & Sausages และธุรกิจแปรรูปอาหาร (processed foods) ให้มากยิ่งขึ้น

แม้ Yonekyu จะมีฐานการผลิตหลักอยู่ในเขตจังหวัด Shizuoka แต่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารแปรรูปของ Yonekyu มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การเป็นอาหารแปรรูปที่สอดรับและไปกันได้ดีกับ Asian Cuisine ซึ่งพร้อมจะขยายตลาดไปได้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันการมี Kirin Brewery เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังเปิดโอกาสให้สินค้าของ Yonekyu สามารถจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายหรือแม้กระทั่งเครือข่ายร้านอาหารของ Kirin ด้วย

นอกจากนี้สายการผลิตของ Yonekyu ซึ่งครอบคลุมเนื้อสัตว์ทุกประเภททั้งเนื้อวัว หมู และไก่ ยังเปิดโอกาสให้ CPF สามารถอาศัยใช้ความชำนาญการของ Yonekyu มาหนุนเสริมการแปรรูปวัตถุดิบหลากหลายที่ CPF ผลิตได้อย่างกว้างขวางไปในคราวเดียวกัน

การร่วมลงทุนดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามว่า ผลิตภัณฑ์และสินค้าที่ผลิตได้จากโรงงานแห่งนี้จะก้าวเดินเข้าสู่ตลาดแต่ละแห่ง ภายใต้ แบรนด์สินค้าของผู้ร่วมทุนฝ่ายใดและอย่างไร

หรือถึงที่สุดแล้ว CPF ยังต้องดำรงสถานะเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตที่ ต้องอาศัย Yonekyu เป็นธงนำในการอุ้มจูงผลิตภัณฑ์ของ CPF ไปสู่ตลาด โลก ซึ่งดูเหมือนหนทางของการพัฒนาไปสู่การเป็นครัวของโลก ที่หลายฝ่าย มุ่งหมายจะให้เกิดขึ้นนั้นจะยังไม่ปรากฏเป็นจริงในห้วงเวลาอันใกล้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.