CPF's Growth Engine

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากเข้าสู่ธุรกิจกุ้งมาเป็นเวลา 18 ปี ถึงวันนี้ธุรกิจกุ้งกำลังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่จะสร้างอัตราการเติบโตให้กับ CPF มากที่สุดในอนาคต
เพราะความพร้อมในการบวนการผลิตและอุปสรรคในการส่งออกได้คลี่คลายลง

CPF เริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจกุ้งตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว โมเดลที่นำมาใช้ในธุรกิจนี้ก็ยังคงเป็นธุรกิจครบวงจร (Vertical Integration) ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจไก่เนื้อมาก่อนแล้ว โดยกระบวนการนี้จะเริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้ง การผลิตแม่พันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะฟักลูกกุ้งส่งให้เกษตรกร พัฒนาระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานสากลและนำออกเผยแพร่สู่เกษตรกร สุดท้ายก็รับซื้อผลผลิตเหล่านั้นกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายทั้งที่เป็นแบรนด์ของลูกค้าและของตนเอง

แม้เป้าหมายจะชัดเจนแต่กว่ากระบวนการทั้งหลายจะรองรับและนำพามาถึงจุดนี้ได้กลับต้องใช้เวลาไม่น้อย

สำหรับธุรกิจอาหารกุ้งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ CPF เพราะเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเครืออยู่แล้ว แต่กระบวนการถัดจากนั้น มากลับมีอุปสรรคให้ต้องแก้ไขในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่สายพันธุ์กุ้งกุลาดำที่ยังไม่สามารถ เพาะเลี้ยงขึ้นได้ ต้องอาศัยการจับแม่พันธุ์จากทะเล ทำให้ขาดความสม่ำเสมอและไม่สามารถผลิตเพื่อรองรับระบบอุตสาห-กรรมขนาดใหญ่ได้ แม้จะมีความพยายามจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงแม่พันธุ์กุ้ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประสบผล อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ได้คลี่คลายไปแล้วโดยการเปลี่ยนพันธุ์กุ้งจากกุลาดำมาเป็นกุ้งขาวแวนาไมที่สายพันธุ์สามารถเพาะเลี้ยงและพัฒนาต่อได้

ในส่วนของกระบวนการเลี้ยงก็ประสบปัญหาโรคระบาดเกิดขึ้นหลังจากที่เลี้ยงไปได้เพียงไม่กี่ปี จนในที่สุดได้พัฒนามาเป็นวิธีการเลี้ยงในระบบปิดที่ต้องฆ่าเชื้อในน้ำก่อนปล่อยกุ้งลงในบ่อและมีการนำสาหร่ายมาใช้ดูดของเสียที่เกิดขึ้น

เมื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคได้แล้ว คราวนี้เจอปัญหา ตลาดส่งออกสำคัญตั้งแต่ข้อกำหนดเรื่องข้อห้ามสารเคมีตกค้างในตัวกุ้ง ประเดิมที่ญี่ปุ่นและอเมริกา แต่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตกุ้งในประเทศอย่างรุนแรงก็คือ กลุ่มสหภาพยุโรปที่ตั้งข้อกำหนดสารเคมีตกค้าง ในตัวกุ้งต่ำเพียง 0.01 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ข้อกำหนดนี้บีบให้ผู้ประกอบการไทยจำต้องพัฒนาวิธีการเลี้ยงกุ้งปลอดสารเคมีขึ้น

ปัจจุบัน CPF ได้พัฒนาระบบการเลี้ยงกุ้งที่ปลอดสารเคมี หรือโปรไบโอติก เป็นผลสำเร็จและนำออกเผยแพร่ให้เกษตรกรรายอื่นนำไปใช้มา 3-4 ปีแล้ว โดยจากการที่ "ผู้จัดการ" ได้เดินทางไปสำรวจกระบวนการผลิตกุ้งครบวงจรของ CPF ในภาคตะวัน ออกพบว่ากระบวนการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อที่ต้องมีรั้วกั้นรอบขอบบ่อ เพื่อกันไม่ให้ปูและสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ ลงไปในบ่อได้ ขณะที่ด้านบนก็ยังขึงเส้นเอ็นจนทั่วเพื่อไล่นกไม่ให้โฉบลงในบ่อเลี้ยง น้ำที่จะปล่อยลงบ่อเลี้ยงยังต้องผ่านการฆ่าเชื้อและพักไว้จนมีสภาพที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้ง ลูกกุ้งที่นำมาปล่อยลงบ่อเลี้ยงก็เป็นลูกกุ้งปลอดเชื้อที่เพาะฟักขึ้นภายใต้การควบคุม ในระหว่างการเลี้ยงจะใช้อาหารกุ้งที่ผลิตโดยบริษัทในเครือ CPF เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อีกทั้งยังใช้จุลินทรีย์มาช่วยในการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ในส่วนของคนงานก็จะต้องใส่เสื้อผ้ามิดชิด สวมถุงมือ รองเท้าบู๊ต จุ่มมือและเท้าในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าสู่พื้นที่บริเวณบ่อเลี้ยงทุกครั้ง การฆ่าเชื้อก่อนเข้าสู่พื้นที่ฟาร์มยังรวมไปถึงการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ตัวรถที่จะเข้าสู่บริเวณฟาร์มทุกคันอีกด้วย

น้ำที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งมาแล้วจะไม่ถูกปล่อยทิ้งออกสู่ภายนอก แต่จะนำไปบำบัดเพื่อกำจัดของเสียและเติมออกซิเจน ก่อนที่จะวนนำกลับมาใช้ในการเลี้ยงครั้งต่อๆ ไป

ซึ่งกระบวนการนี้หากเทียบกับขั้นตอนของธุรกิจไก่ ก็เปรียบได้กับการเลี้ยงในระบบปิด ที่จำกัดให้มีสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกเข้ามาอยู่ในกระบวนการเพาะเลี้ยงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หลังจากที่พัฒนาเทคนิคการเลี้ยงกุ้งแบบโปรไบโอติกได้แล้ว CPF พบว่าการจะกระตุ้นให้เกษตรกรนำระบบนี้ไปใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเกษตรกรต่างก็มีสูตรและความเชื่อในการเลี้ยงกุ้งของตนเอง วิธีที่จะสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นได้จึงต้องอาศัยการทำตัวอย่างให้เห็น ประกอบกับในช่วงนั้นเป็นจังหวะที่มีบ่อกุ้งถูกทิ้งร้างจากปัญหาโรคระบาดเป็นจำนวนมาก CPF จึงเข้าไปเช่าใช้บ่อกุ้งเหล่านี้ทำเป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรมาพิสูจน์ เมื่อพบว่าการเลี้ยงในระบบปิดและใช้วิธีโปรไบโอติกเช่นนี้สามารถแก้ปัญหาโรคระบาดและสารเคมีตกค้างได้จริง จำนวนเกษตรกรที่ให้การยอมรับจึงมีเพิ่มขึ้น

กุ้งที่ได้จากการเลี้ยงด้วยวิธีการเช่นนี้จะถูกนำส่งเข้าสู่โรงงานแปรรูปที่สร้างขึ้นตามมาตรฐานที่ต่างประเทศกำหนด กระบวนการผลิตในโรงงานทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามที่ลูกค้าระบุเอาไว้เช่นกันเพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตจากกระบวนการ integrate ทั้งระบบเช่นนี้จะไม่มีปัญหาในการส่งออก

"โรงงานส่วนขยาย ที่เราได้เริ่มลงทุนสร้างมาเมื่อ 1 ปีก่อน และเริ่มเปิดดำเนินการไปแล้วบางส่วน เพื่อป้อนผลิตภัณฑ์ส่งขายให้กับ Tesco ที่อังกฤษ ทุกขั้นตอนของการก่อสร้างโรงงาน จะต้อง ผ่านการพิจารณาและอนุมัติจาก Tesco ว่า อยู่ในมาตรฐานที่ Tesco กำหนดไว้" วันชัย ตันจารุพันธ์ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัทแกลง จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเนื้อกุ้งที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของ CPF บอก

ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ CPF นำเอาระบบ integrate มาใช้กับธุรกิจกุ้งได้อย่างครบวงจร โดยเชื่อว่าจะมีกำลังการผลิตส่งให้กับโรงงานแปรรูปที่มีอยู่ 3 แห่งคือที่แกลง มหาชัย และระโนด ได้อย่างเพียงพอ

หากเปรียบเทียบตลาดส่งออกสินค้าไก่และกุ้งของไทยจะพบว่า อุปสรรค ในการส่งออกกุ้งมีมากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรปและอเมริกา ที่เป็นเช่นนี้ น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำ CPF ให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะนักลงทุนจากกลุ่มสหภาพยุโรปเข้าไปลงทุนเลี้ยงกุ้งในประเทศอาณา นิคมของตนเอง จึงตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากุ้ง จากประเทศอื่นแต่ให้สิทธิพิเศษกับประเทศ อาณานิคมในการส่งกุ้งเข้าจำหน่ายในยุโรป ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก นโยบายนี้จึงเป็นนักลงทุนของยุโรปนั่นเอง

"ในประเทศมาดากัสการ์จะเป็นนักลงทุนจากฝรั่งเศสเข้าไปทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ถึงขนาดที่ออกเป็นกฎเกณฑ์ว่า ถ้าเป็น คนต่างชาติจะไปลงทุนเรื่องนี้ต้องมีพาร์ตเนอร์เป็นคนฝรั่งเศสถึงจะทำได้" น.สพ.สุจินต์กล่าว

ส่วนตลาดอเมริกาที่ไทยถูกฟ้องร้องในเรื่องการทุ่มตลาด (Anti-dumping) นั้นเดิมไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้จนกระทั่งเกิดกรณี Clayfish ที่อเมริกาชนะการฟ้องร้องว่าจีนทุ่มตลาดและมีวุฒิสมาชิกเสนอให้นำเงินค่าเสียหายที่ได้มาแบ่งให้กับผู้ลงชื่อร่วมในการฟ้องร้อง หลังจากนั้นมาจึงเกิดการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดูจะเป็นโชคดีของผู้ส่งออกกุ้งของไทย รวมถึง CPF ด้วย จากกรณีคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ของไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจกุ้งของไทย ทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงลูกกุ้งและฟาร์มกุ้ง และได้เกิดข้อเรียกร้องให้สหภาพยุโรปและอเมริกาผ่อนปรนกฎเกณฑ์นำเข้ากุ้งจากไทยด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม เพื่อเปิดให้ผู้ประกอบการมีโอกาสพลิกฟื้นฐานะได้อีกครั้ง โดยคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

เมื่อถึงวันนั้น CPF จะเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากความช่วยเหลือนี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ในระยะยาว CPF ได้กำหนดนโยบายเอาไว้ 2 ประการ

ประการแรกคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกต้องแข่งกับผู้ผลิตจากหลายประเทศ ผู้ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดย่อมมีความได้เปรียบสูงสุด

ประการที่สอง ได้แก่ การตัดคนกลาง เพื่อให้ระยะห่างระหว่าง CPF และผู้บริโภค หดสั้นลงมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าที่ไปถึงมือผู้บริโภคลดต่ำลงและจะสามารถ ขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น การมุ่งสร้างแบรนด์ CP ก็เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญประการ หนึ่งในนโยบายนี้

เมื่อเทคโนโลยีด้านการผลิตมีพร้อม อุปสรรคของการส่งออก ก็เริ่มคลี่คลาย ผู้บริหาร CPF จึงมั่นใจว่า วันนี้ธุรกิจกุ้งพร้อมแล้วที่จะเป็นตัวสร้างการเติบโตให้กับบริษัทต่อไป

"ที่ผ่านมา รายได้จากกุ้งถือเป็นอันดับ 3 รองจากอาหารสัตว์ และไก่ แต่หากถามว่า ธุรกิจใดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงที่สุดหลังจากนี้ไป ก็คือกุ้ง" อดิเรก ศรีประทักษ์ บอก

"ปีที่แล้วกำลังการผลิตจากโรงงานแกลง เราสามารถแปรรูป เนื้อกุ้งได้ 4,100 ตัน แต่ปีนี้หลังโรงงานส่วนขยายเริ่มเปิดดำเนินการ เป้าที่ผู้บริหารจากกรุงเทพฯ ให้กับเรามา เราต้องทำให้ได้ 14,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า" วันชัย ตันจารุพันธ์ รองผู้จัดการทั่วไป บริษัทแกลงยืนยันตัวเลขกับ "ผู้จัดการ"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.