|

รัฐบาลจุดพลุ"ซีเคียวริไทเซชั่น" MFC ประเมินปีนี้ 1.2 หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(28 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.เอ็มเอฟซีประเมินภาพรวมการออกหุ้นกู้ "ซีเคียวริไทเซชั่น"ในปีนี้ ภาครัฐจะเป็นตัวจุดพลุให้ตลาดตื่นตัว โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการออกตราสารประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ส่วนโครงการระบบราง 4.1 แสนล้านบาท ที่เตรียมทำซีเคียวริไทเซชั่นกว่า 2 แสนล้านบาท คาดเริ่มทยอยออกได้ในปีหน้า
นายศุภกร สุนทรกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ภาพรวมการะดมทุนผ่านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) ของภาคเอกชนและรัฐบาลในปีนี้คาดว่าจะมีการระดมทุนในตลาดประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยการระดมทุนผ่านการออกตราสารหุ้นกู้ของภาครัฐจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดขยายตัวเพิ่ม
"ในปีนี้ตัวจุดพลุน่าจะมาจากการระดมทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์ราชการที่จะมีการออกตราสาร โดยคาดว่าจะมีการระดมทุนผ่านการออกตราสารประมาณ 1 หมื่นล้านบาท"
ส่วนการระดมทุนในระบบขนส่งราง 4.1 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการระดมทุนผ่านการทำซีเคียวริไทเซชั่นประมาณ 2 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถออกตราสารมาระดมทุนได้ในปี 2549
รายงานข่าวเปิดเผยว่า โครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ มีแผนระดมทุนผ่านการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ช่วงไตรมาสที่ 4 มูลค่า 9.5 พันล้านบาท ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มูลค่า 9 พันล้านบาท และในไตรมาส 4 ปี 2550 วงเงิน 5.5 พันล้านบาท
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข.มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล โดยคาดว่าจะเข้าไปลงทุนในตราสารหุ้นกู้ (ซีเคียวริไทเซชั่น) ในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ เช่น โครงการศูนย์ราชการแห่งใหม่ ซึ่งจะมีการทำซีเคียวริไทเซชั่นออกมา โดยกบข.จะเข้าไปลงทุนผ่านตราสารออกมาเพื่อระดมทุนในการก่อสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่
"กบข.คงเป็นหนึ่งในนักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ ที่จะมีการออกมาเพื่อระดมทุน โดยเราจะเน้นลงทุนในระยะปานกลาง แต่คงต้องดูในรายละเอียดในเรื่องการลงทุนก่อนว่าได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ และเชื่อว่านักลงทุนพร้อมที่จะลงทุนในตราสารทีออก เนื่องจากสภาพคล่องยังล้นระบบธนาคารพาณิชย์ 4-5 แสนล้านบาท หากรัฐบาลมีการทำซีเคียวริไทเซชั่น โครงการต่างๆออกมา เงินที่ล้นระบบน่าจะสามารถรองรับได้"
นอกจากนี้ กบข.จะเป็นอีกนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ของโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ลงทุน ซึ่งสินทรัพย์ที่นำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกระแสรายรับในอนาคต โดยจะขายสินทรัพย์ของเจ้าของกองทรัพย์สินเดิม ให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV : Special Purpose Vehicles) เพื่อเป็นตัวกลางในการออกหลักทรัพย์ที่มีกองทรัพย์สินดังกล่าวหนุนหลัง และเพื่อทำหน้าที่รับสภาพหนี้แทนเจ้าของสินทรัพย์เดิม โดยแยกความเป็นเจ้าของหลักทรัพย์ออกจากเจ้าของสินทรัพย์เดิม ทำให้นักลงทุนไม่ต้องรับความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ขององค์กร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปริมาณหุ้นกู้ ซีเคียวริไทเซชั่น ที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากการส่งเสริมของภาครัฐในการสนับสนุนและแก้ไขอุปสรรคในการทำซีเคียวริไทเซชั่น การใช้หุ้นกู้ซีเคียวริไทเซชั่น ซึ่งออกผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐที่วางแผนไว้ในปีนี้เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการบนถนนแจ้งวัฒนะมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท และโครงการขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าใต้ดิน 7 สาย มูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั้งในและนอกประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนที่สูงขึ้น อาจจะทำให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ มีความต้องการระดมทุนโดยการทำซีเคียวริไทเซชั่นเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น คาดว่าความต้องการลงทุนในหุ้นกู้ ซีเคียวริไทเซชั่น น่าจะเพิ่มขึ้นโดยในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะแก้เกณฑ์การออกเสนอขายหุ้นกู้ ซีเคียวริไทเซชั่น ในประเทศจากการขายให้เฉพาะบุคคลในวงจำกัดให้สามารถเป็นการขายให้กับบุคคลทั่วไปได้ ประกอบกับการที่ภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในหุ้นกู้ ซีเคียวริไทเซชั่น ให้กับนักลงทุนมากขึ้น น่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความต้องการลงทุนในตราสารประเภทนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|