MFCเปิดแผนหาทุนรถไฟฟ้า7สาย4แสนล.


ผู้จัดการรายวัน(24 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

MFC ชงสูตรระดมทุนโครงการรถไฟฟ้า 7 เส้นทาง มูลค่า 4.1 แสนล้านบาท แนะใช้ระบบตั๋วร่วมเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ป้องกันเอกชนคู่สัญญาสัมปทานชาร์จค่าบริการแพงเกินเหตุ คาดราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท สถานีต่อไป 2 บาทต่อสถานี เตรียมหารือกรมธนารักษ์เปิดทางเอกชนร่วม พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รอบบริเวณใกล้เคียงรถไฟฟ้าใต้ดิน ก่อนออก "พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์" เสนอขายนักลงทุน เพื่อสร้างรายได้หล่อเลี้ยงโครงการ

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะกรรมการ คณะทำงานระดมทุนโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย มูลค่าประมาณ 4.1 แสนล้านบาท เปิดเผยว่า ผลการศึกษารูปแบบการลงทุนระบบรางทั้ง 7 สาย ที่จะก่อสร้างในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า จะเปิดทางให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานหัวรถจักรมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท และในส่วนของระบบรางมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท จะใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลเพียง 8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทำการเปิดสัมปทานให้ภาคเอกชนแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) และการออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์)

สำหรับระบบตั๋วรถบริษัทได้เสนอแนวคิดให้ใช้ระบบตั๋วร่วม ซึ่งจะมีการพัฒนาระบบเคลียริ่งเฮาส์ใช้ร่วมกัน ซึ่งจุดนี้จะช่วยลดภาระต้นทุนให้กับภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานในแต่ละสาย โดยราคาค่าเดินสายเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อสถานี ส่วนสถานีต่อไปจะคิดในอัตรา 2 บาทต่อสถานี ราคาสูงสุดจากมหาชัยและรังสิต เข้ามาในตัวเมืองจะไม่เกิน 50 บาท

เส้นทางทั้ง 7 สาย ประกอบด้วย 1.สีเขียวอ่อน ระหว่างพรานนก-สมุทรปราการ 2. สีเขียวเข้ม ระหว่างบางหว้า-สะพานใหม่ 3. สีน้ำเงิน วงแหวน-จรัญสนิทวงศ์ 4.สีม่วง บางใหญ่ - ราษฎร์บูรณะ 5.สีส้ม บางกะปิ-บางบำหรุ 6. สายสีแดงเหนือ-ใต้ ระหว่าง รังสิต-มหาชัย และ 7. สายสีแดงตะวันตก-ตะวันออก ระหว่าง ตลิ่งชัน-สุวรรณภูมิ

สำหรับวงเงินลงทุนในส่วนของระบบราง 2.8 แสนล้านบาท ส่วนแรกจะเปิดสัมปทานให้กับภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นค่าเซ้งพื้นที่จะเปิด Open Bid คิดเป็นเงินประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่สอง จะออก Revenue Bond ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีเฉพาะคนที่ได้รับผลประโยชน์จากระบบขนส่งราง เช่น ภาษีป้ายรถยนต์ในกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีเงินเข้ามาประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่สาม เป็นรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ในส่วนใกล้เคียงกับบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 7 สาย ซึ่งจะออกกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) ให้กับนักลงทุนที่สนใจ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาเพิ่มเติมประมาณ 8 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาท

"ในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง การทำรถไฟฟ้าใต้ดิน ค่าโดยสารไม่คุ้มกับค่าก่อสร้าง การออก Property Project ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียม โครงการเอนเตอร์เทนเมนต์ เงินส่วนนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงโครงการได้ ซึ่งจุดนี้ต้องมีการร่วมมือกับกรมธนารักษ์ เพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ" นายพิชิตกล่าว

สำหรับสถานีที่จะมีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรมธนารักษ์ ประกอบด้วย บริเวณมักกะสัน บางซื่อ ศูนย์ประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ หัวลำโพง สนามกีฬาแห่งชาติ และท่าเรือคลองเตย

นายพิชิตกล่าวว่า การออกพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ และสามารถดึงเม็ดเงินไหลเข้าประเทศหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้ามักกะสัน ที่เชื่อมโยงกับแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งคาดว่าความต้องการมีสูงทั้งจากนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ โดยรูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะพัฒนาขึ้นมารองรับประกอบด้วย ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาค และกลายเป็นศูนย์การประชุมระหว่างประเทศ การพัฒนาโครงการ คอนโดมิเนียม ออฟฟิศบิวดิ้ง ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้มีเงินส่วนเพิ่มที่ได้จากกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การระดมทุนผ่านซีเคียวริไทเซชัน และการออกพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ จะช่วยลดช่องว่างเงินออมและเงินลงทุน ที่คาดว่าการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลจะมีมูลค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 2 แสนล้านบาทต่อปี

ส่วนสุดท้ายในการลงทุนระบบรางจะมาจากงบประมาณจำนวน 8 หมื่นล้านบาท

นายพิชิต กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศบาห์เรน ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก และในช่วงเดือนมีนาคมนี้จะเดินทางไปโรดโชว์ประเทศตะวันออกกลางอีกครั้ง เพื่อเสนอรายละเอียดโครงการเมกะโปรเจกต์

ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมที่จะเสนอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งองค์การขึ้นมาระดมทุนโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะอยู่ในรูปขององค์การมหาชน แต่รัฐบาลจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. เนื่องจากการตั้งองค์การดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการออก พ.ร.ฎ.ไปแล้วระยะหนึ่งจะมีการเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อทำให้องค์การเป็นองค์การที่มีหน้าที่ระดมทุนอย่างถาวร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.