Driven


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อะไรทำให้เราทำในสิ่งที่เราทำ
อะไรผลักดันให้เราเลือกในสิ่งที่เราเลือก ในหนังสือ Driven : How Human Nature Shapes Our Choices ผู้แต่งทั้งสองซึ่งเป็นนักวิจัยจาก Harvard ได้รวบรวมหลักฐาน ที่เชื่อถือได้หลายอย่าง ที่สามารถไขปริศนาความลึกลับเกี่ยวกับนิสัยและพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยการอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ Lawrence และ Nohria 2 ผู้แต่งได้เชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับชีววิทยา เพื่อแสดงให้เราเห็นว่า พฤติกรรมของสังคมมีผลต่อคนแต่ละคน การบริหาร ความเป็นผู้นำ และองค์กรแต่ละองค์กรอย่างไร

Lawrence และ Nohria อธิบายว่า พฤติกรรมของคนเราเป็นผลมาจากการเลือกของจิตสำนึกในขณะที่เรารู้ตัว แต่สิ่งที่มีอิทธิพลต่อทางเลือกต่างๆ นั้นกลับเป็นแรงขับที่มาจากจิตใต้สำนึก ซึ่งมีอยู่ 4 ตัวดังนี้

แรงขับที่ 1 : ความอยากได้
แรงขับจากจิตใต้สำนึกตัวแรกคือความอยากได้สิ่งของและประสบการณ์ ที่จะทำให้เรามีสถานภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่น แรงขับตัวนี้ เป็นแรงขับขั้นพื้นฐานที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ ผลการศึกษาข้าราชการอังกฤษ 2 ครั้งได้เผยให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงผลที่เกิดจากแรงขับตัวนี้ การศึกษาทั้ง 2 ครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาว่า สุขภาพของข้าราชการอังกฤษสัมพันธ์กับระดับสูงต่ำของตำแหน่งงานหรือไม่ ผลปรากฏว่า ยิ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งสูง ก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตต่ำกว่า ไม่ว่าจะมีระดับอายุเท่าใด ผู้ประพันธ์ทั้งสองสรุปว่า ในโลกที่มีทรัพยากรอันจำกัดนี้ มนุษย์ที่สามารถได้ในสิ่งที่ตนต้องการมากกว่าคนอื่น มีโอกาสอยู่รอดสูงกว่า

แรงขับที่ 2 : ความอยากผูกพันกับคนอื่น
แรงขับจากจิตใต้สำนึกตัวที่สองเป็นความต้องการที่จะผูกพันกับคนอื่น โดยการมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาว และมีความห่วงใยและรับผิดชอบซึ่งกันและกัน

ความต้องการผูกพันกับคนอื่นมีอยู่ในตัวคนทุกคนและมีอยู่ในทุกองค์กร แรงขับตัวนี้มีผลต่อศีลธรรมของคนรวมไปถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ขององค์กรด้วย ความต้องการผูกพันกับคนอื่นเป็นสิ่งที่คนใช้พิจารณาว่าองค์กรนั้นๆ น่าไว้วางใจหรือไม่ การผิดสัญญาซึ่งมีผลทำลายความสัมพันธ์กับคนอื่น จึงมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจจ้างงานหรือไล่ออก คนเราจะรู้สึกผูกพันกับองค์กรและเต็มใจทุ่มเทเวลาและความพยายามให้แก่องค์กร เหมือนที่ทุ่มเทให้กับเพื่อน มนุษย์รู้จักใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เป็นเครื่องมือช่วยในการสร้างความผูกพันกับคนอื่น โดยไม่ปล่อยให้ระยะทางที่ห่างไกลมาเป็นอุปสรรคในการสร้างความรู้สึกเป็นชุมชน และความผูกพันกับองค์กร

แรงขับที่ 3 : ความต้องการเรียนรู้
แรงขับตัวที่สามที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของเราคือ ความต้องการที่จะเรียนรู้และเข้าใจโลกภายนอกและเข้าใจตัวเราเอง แรงขับซึ่งสนองความอยากรู้อยากเห็นของเรา สนองความอยากรู้ อยากเข้าใจ อยากเชื่อ อยากเข้าถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ และอยากพัฒนาความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นตัวนี้ มีอยู่ในตัวเราทุกคน

แรงขับที่ 4 : ความต้องการปกป้องตนเอง
แรงขับตัวที่สี่คือความต้องการปกป้องตนเอง ปกป้องคนที่เรารัก ความเชื่อของเรา และทรัพยากรที่เราเป็นเจ้าของ

ผู้ประพันธ์ได้หยิบยกบทเรียนทางประสาทวิทยามาประกอบการอธิบายถึงแรงขับตัวนี้ว่า เป็นความต้องการที่จะปกป้องความรู้เกี่ยวกับโลกและตัวเราเองที่เราเคยได้เรียนรู้มา แรงขับนี้จะทำงานทันที เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกว่าโลกทัศน์ของเราหรือภาพลักษณ์ของตัวเรากำลังถูกคุกคาม กลไกป้องกันตนเองจะปรากฏตัวออกมาในรูปของการพูดโต้แย้ง การเขียน การสื่อสารผ่านสื่อสารมวลชน และการปฏิเสธ ในขั้นรุนแรงที่สุด แรงขับตัวนี้อาจจะแสดงออกมาในรูปของความโกรธแค้น ความรุนแรง กระทั่งถึงการก่อสงคราม ผู้แต่งทั้งสองย้ำว่า มนุษย์เราไม่มีแรงขับที่ทำให้เราแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดังนั้น พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทั้งหลายของมนุษย์นั้น แท้จริงแล้ว เป็นเพียงการป้องกันตัวเองเท่านั้น

แรงขับกับองค์กร
หลังจากอธิบายถึงแรงขับทั้งสี่ในเชิงวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาแล้ว Driven ได้อธิบายถึงนิสัยของมนุษย์ โดยกล่าวถึงประเด็นวัฒนธรรม ทักษะ อารมณ์ และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับความหลากหลายในสังคมที่เราต่างเผชิญมาเหมือนๆ กัน โดยอธิบายในบริบทขององค์กร และหากนำทฤษฎีเรื่องแรงขับจากจิตใต้สำนึกทั้งสี่มาปรับใช้กับองค์กรแล้ว ก็จะสามารถทำนายพฤติกรรมของคนในองค์กรได้

ดังนั้น สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ท้าทายคนอ่านคือ ด้วยพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับแรงขับจากจิตใต้สำนึก ทักษะ ความฉลาด และอารมณ์ของมนุษย์นี้ เราจะสามารถออกแบบองค์กร โดยคำนึงถึงแรงขับทั้งสี่ที่มีอยู่ในตัวสมาชิกองค์กรทุกคนได้หรือไม่ แล้วทำให้องค์กรมีบรรยากาศของการร่วมมือกันสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ตลอดจนผลิตและขายสินค้าและบริการที่มีคุณค่าต่อโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.