|

กบข.เล็งโยกเงินออมภาคสมัครใจลงเมกะโปรเจกต์
ผู้จัดการรายวัน(22 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กบข.เตรียมโยกเงินจาก "กองทุนออมภาคสมัครใจ" ที่คาดว่าหลังจากจัดตั้งภายใน 12 เดือน จะมีเม็ดเงินมูลค่า 3-5 พันล้านบาท ลงทุนในโครงการ "เมกะโปรเจกต์ระบบราง" ที่เตรียมทำ "ซีเคียวรีไทเซชัน" กว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ผลการศึกษาการระดมทุนระบบราง MFC ชี้ชัดรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปซื้อหุ้นคืนจากภาคเอกชน สวนทาง "สุริยะ" ที่จ้องฮุบหุ้น BMCL
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะที่ปรึกษารัฐบาลในการระดมทุนโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 7 เส้นทาง รวมมูลค่า 4.1 แสนล้านบาท ได้ยื่นเสนอแนวทางการระดมทุนทั้งหมดมายังรัฐบาลแล้ว โดยแผนดังกล่าวเสนอรัฐบาลไม่ให้ซื้อหุ้นบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL คืนจากภาคเอกชน เนื่องจากเส้นทางเดินรถไฟใต้ดินทั้ง 7 เส้นทางจะต้องเปิดให้เอกชนสัมปทานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเงินมาซื้อหุ้นคืน
"รัฐบาลมอบหมายให้เอ็มเอฟซีดูภาพใหญ่ว่า เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 7 สาย ควรจะมีผู้ได้รับสัมปทานดำเนินการรายเดียวหรือ 7 ราย แต่ไม่ว่าจะกี่รายก็เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานต่อจากรัฐอีกที เพราะรัฐจะลงทุนในส่วนของอุโมงค์และรางเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อหุ้นคืนจากเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้ต้องการซื้อหุ้นคืนแต่อย่างใด" แหล่งข่าวกล่าว
นายเจษฎาวัฒน์ เพรียบจริยวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) MFC กล่าวว่า รัฐบาลมอบหมายให้บริษัทดูแลการระดมเงินในเรื่องการย้ายส่วนราชการ 29 กรมกอง ไปยังบริเวณแจ้งวัฒนะมูลค่าโครงการ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการดำเนินการในรูปแบบการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) คือ การนำสัญญาของทั้ง 29 กรมกองมาออกเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งได้มีการทดสอบตลาดไปแล้ว และพบว่าได้รับความสนใจพอสมควร คาดว่าจะมีการออกหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 3 โดยออกหลายชุด อายุตั้งแต่ 15-30 ปี
นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) MFC กล่าวถึงแนวทางการระดมทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 7 เส้นทางว่า มูลค่าโครงการทั้งหมด 4.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การลงทุนในระบบฐานรากคือ อุโมงค์และตัวรางรถไฟ มูลค่าลงทุน 2.8 แสนล้านบาท และการดำเนินการด้านหัวรถจักรและรถไฟมูลค่าโครงการ 1.3 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนยื่น สัมปทาน ซึ่งแผนดังกล่าวได้ยื่นเสนอให้กระทรวงการคลังไปแล้วเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน น่าจะสรุปแนวทางการระดมทุนได้
นายพิชิตกล่าวว่า การระดมทุนในส่วนฐานราก 2.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วนคือ 1. การนำรายได้จากการพัฒนาสินทรัพย์ในอนาคต เช่น สัญญาเช่าพื้นที่ในตัวสถานีมาออกเป็นหลักทรัพย์ มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท 2. การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีป้ายรถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร ภาษีน้ำมัน ซึ่งจะนำมาออกเป็นหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Revenue bond มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท 3. รายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าและเส้นทางเดินรถ จากพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะนำมาออกเป็นหลักทรัพย์ มูลค่า 1 แสนล้านบาท และ 4. เงินจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจะกำหนดหลังจากรวบรวมรายได้จาก 1-3 แล้ว คาดว่าจะประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
ขณะที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. เตรียมจัดตั้งกองทุนออมภาคสมัครใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยคาดว่าหลังการจัดตั้งในช่วง 12 เดือน จะมีเงินออมไหลเข้ากองทุนประมาณ 3-5 พันล้านบาท โดยกองทุนออมภาคสมัครใจจะเปิดทางให้สมาชิกสามารถออมเพิ่มได้จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 3% ของเงินเดือนเพิ่มเป็นไม่เกิน 15% ของอัตราเงินเดือน
"เราสนใจที่จะลงทุนในเมกะโปรเจกต์ระบบรางที่รัฐบาลเตรียมจะทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) และมีอีกหลายโครงการที่รัฐบาลเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่าเงินออมในระบบน่าจะสามารถรองรับได้ เพราะมีเงินฝากล้นระบบกว่า 5 แสนล้านบาท"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|