The Wealth of Knowledge


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การบริหารทุนทางปัญญา
เมื่อองค์กรค้นพบวิธีที่ดีกว่าในการบริหารสินทรัพย์ประเภทความรู้ อันได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และฐานข้อมูล รวมไปถึงทักษะ ความสามารถ และความชำนาญของพนักงานในองค์กร องค์กรก็จะสามารถประหยัดเงินได้ก้อนโต และความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน ในหนังสือ The Wealth of Knowledge : Intellectual Capital and the Twenty-First Century Organization ผู้ประพันธ์คือ Thomas A. Stewart ซึ่งเป็นบรรณาธิการคนหนึ่งในคณะบรรณาธิการของนิตยสาร Fortune และผู้ประพันธ์หนังสือ Intellectual Capital ซึ่งเป็นหนังสือ bestseller ในปี 1997 กล่าวว่า มีวิธีการมากมายที่บริษัทจะสามารถนำมาใช้ตีความและประยุกต์ใช้แนวคิดทุนทางปัญญา กับการปฏิบัติงานประจำวัน เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นในอนาคต

ใน Intellectual Capital ผู้ประพันธ์ได้สรุปความสำคัญและประเภทต่างๆ ของสินทรัพย์ประเภทความรู้ ส่วนในหนังสือเล่มใหมนี้ Stewart ได้เสนอ "วิธีปฏิบัติโดยละเอียด ที่จะทำให้คุณสามารถแปรเปลี่ยนสินทรัพย์ประเภทความรู้ให้กลายเป็นความมั่งคั่ง"

เมล็ดพันธุ์แห่งความมั่งคั่งและมูลค่า
ในส่วนแรกของหนังสือ Stewart อธิบายอย่างละเอียดว่า ทำไมความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและบริษัทในปัจจุบัน และให้เหตุผลที่มีน้ำหนักในเชิงธุรกิจว่า เหตุใดคุณจึงต้องยอมรับความสำคัญของความรู้และจะต้องลงมือทำอะไรบ้าง Stewart แจกแจงอย่างชัดเจนว่า สินทรัพย์ประเภทความรู้คืออะไรบ้าง และจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะสร้างความมั่งคั่งและมูลค่าได้อย่างไร ตลอดส่วนแรกของหนังสือ Stewart ได้ยกตัวอย่างวิธีบริหาร e-business และวิธีบริหารความรู้ทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง โดยใช้ตัวอย่างจริงที่ได้จากโลกธุรกิจ

4 ขั้นตอนบริหารทุนทางปัญญา
ส่วนที่สองของหนังสือเสนอแนวทางบริหารทุนทางปัญญาซึ่งมี 4 ขั้นตอน สำหรับที่จะนำมาใช้กับธุรกิจสมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังเสนอกลยุทธ์ที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่ประสงค์จะลงทุนในทุนทางปัญญาและแข่งขันกับคนอื่น

สำหรับแนวทางบริหารทุนทางปัญญา 4 ขั้นตอนมีดังนี้

1. ประเมินบทบาทความสำคัญของความรู้ที่มีต่อธุรกิจของคุณ ว่าอยู่ในฐานะเป็นข้อมูลป้อนเข้า เป็นกระบวนการทำงาน หรือเป็นผลงาน เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจของคุณเองให้มากขึ้น และเรียนรู้วิธีใช้ความรู้ของธุรกิจของคุณ ด้วยการค้นหาว่าใครได้รับเงินจากการใช้ความรู้ ใครเป็นผู้จ่ายเงิน เงินที่จ่ายนั้นเป็นจำนวนเท่าไร และใครที่เป็นผู้สร้างมูลค่าสูงสุด

2. จับคู่รายได้ที่คุณค้นพบกับสินทรัพย์ประเภทความรู้ที่เป็นตัวสร้างรายได้นั้น ค้นหาว่าองค์กรได้รับมูลค่าเพิ่มขึ้นมากเท่าไรจากความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ในองค์กร จากตราสินค้า จากสินทรัพย์ทางปัญญา จากกระบวนการทำงาน และจากทุนทางปัญญาอื่นๆ ขององค์กร

3. พัฒนากลยุทธ์การลงทุนและใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทางปัญญาของคุณ ก่อนที่จะวางกลยุทธ์ดังกล่าวได้ คุณต้องระบุได้ว่า สิ่งใดที่มีมูลค่า กล่าวคือ สิ่งใดที่เป็นความรู้ที่สามารถขายได้ และจะขายอย่างไรจึงจะสร้างกำไรได้ ระบุแหล่งควบคุม และกำหนดรูปแบบวิธีการทำกำไร ตลอดจนระบุกลยุทธ์การเพิ่มพูนสินทรัพย์ประเภทความรู้ที่บริษัทดำเนินการอยู่ได้ ทั้งนี้ วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คุณสามารถวางกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ทางปัญญาได้คือ การหาวิธีสร้างความแข็งแกร่งหรือปรับโครงสร้างของสินทรัพย์ทางปัญญา

4. ปรับปรุงประสิทธิภาพของงานที่ใช้ความรู้ในการผลิต และประสิทธิภาพของพนักงานที่ผลิตงานที่ใช้ความรู้ อย่าลืมว่า งานที่ผลิตขึ้นมาจากความรู้ ไม่จำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติงานแบบเรียงลำดับเป็นขั้นๆ เหมือนเส้นตรง เสมอไป เหมือนอย่างงานที่ผลิตโดยใช้แรงงานแบบเดิมๆ คุณจะต้องคอยมองหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของพนักงานที่ผลิตงานโดยใช้ความรู้

ตอบคำถามพื้นฐานทางธุรกิจ
ส่วนสุดท้ายของหนังสือเป็นการตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจ เช่น ทำไมจึงต้องมีบริษัทเกิดขึ้น ควรจัดองค์กรบริษัทอย่างไร ใครกำลังลงทุนในบริษัท บริษัทควรได้รับผลตอบแทนอะไร ในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ Stewart กล่าวว่า สินทรัพย์ประเภทความรู้ได้กลายเป็นกาวที่ประสานส่วนต่างๆ ขององค์กรเข้าด้วยกัน การจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากสินทรัพย์ประเภทนี้ จำเป็นจะต้องมีการติดตามวัดผล ผู้ประพันธ์ได้กล่าวถึงวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้ในการติดตามตรวจสอบและวัดผลสำเร็จของการใช้ทุนทางปัญญา โดยไม่สนใจการวัดผลด้วยวิธีดูบัญชีและงบการเงินแบบเดิมๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.