กองทุนสำรองฯ1แสนล้านจ่อตีทะเบียนบลจ.กรุงไทยตั้งเป้าบริหารเพิ่ม2หมื่นล้าน


ผู้จัดการรายวัน(21 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เผยยอดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างจ่อคิวตีทะเบียนจัดตั้งมีกว่า 1 แสนล้านบาท บลจ.กรุงไทยในฐานะเบอร์ 1 ธุรกิจบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งเป้าคว้าเม็ดเงินบริหารเพิ่ม 2 หมื่นล้านบาท ภายในปีนี้ "ประภา" เชื่อมั่นลูกค้าให้การตอบรับในฝีมือบริหาร ขณะที่บลจ.ทหารไทยซุ่มเปิดตัว Feeder Fund

นางสาวประภา ปูรณโชติ รองประธานกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจและเอกชนเพิ่มขึ้นประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ออกประกาศให้นายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสามารถเข้ามาจดทะเบียนเพื่อรับสิทธิพิเศษด้านภาษีได้ จากที่ก่อนหน้าได้ปิดรับการจดทะเบียน

สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.กรุงไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 อยู่ที่ 52,850.76 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) อันดับ 1 อันดับ 2. บลจ.ทิสโก้ มูลค่า 42,471.28 ล้านบาท อันดับ 3. บลจ. เอ็มเอฟซี 41,130.39 ล้านบาท อันดับ 4. บลจ.กสิกรไทย 35,694 ล้านบาท อันดับ 5 ธนาคารไทยธนาคาร 35,666.30 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า นายจ้างที่มีสวัสดิการประเภทเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย สามารถมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2548

เนื่องจากในปัจจุบันยังมีนายจ้างจำนวนหนึ่งที่ได้จัดให้มีสวัสดิการในลักษณะเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับลูกจ้าง แต่มิได้นำเงินดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งหมดเขตไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2540 ทำให้ทั้งนายจ้าง และลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ควรจะได้

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเงินเข้าสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดระยะเวลาเพิ่มเติมให้นายจ้างสามารถนำเงินประเดิมมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่ หรือนำเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ทั้งนี้ให้ทำได้จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2548 โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนของนายจ้างตามเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 247 (พ.ศ. 2547)

นางสาวประภา กล่าวว่า มีการประเมินว่ามีเม็ดเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งของรัฐวิสาหกิจและเอกชนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งประมาณ 1 แสนล้านบาท ถ้าหากนายจ้างนำเงินประเดิมมาจดทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีทำให้บริษัทตั้งเป้าบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีนี้เพิ่มขึ้น และคาดว่าในปีนี้ยอดการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ บลจ.กรุงไทยน่าจะใกล้เคียงระดับ 8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้ามาติดต่อให้บริษัทฯบริหารกองทุนให้เพิ่มเป็น 59,608 ล้านบาท

โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนประกอบด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ปัจจุบันของบลจ.กรุงไทย มีกองทุนที่บริหาร 36 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนเดี่ยว 33 กองทุน กองทุนรวมทุน 3 กองทุน จำนวนนายจ้าง 180 ราย แบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 24 ราย และเอกชน 165 ราย จำนวนสมาชิก 84,000 คน

นางสาวประภา กล่าวว่า การบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการของบริษัทเม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นของรัฐวิสาหกิจ การจัดสรรเงินลงทุนจะให้น้ำหนักการลงทุนผ่านตราสารหนี้ประมาณ 75% และลงทุนในตลาดหุ้นเพียง 25% เท่านั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน แม้ก.ล.ต.จะเปิดทางให้สามารถลงทุนในตลาดหุ้นได้สูงถึง 30% ของพอร์ตการลงทุนก็ตาม

"จุดเด่นของการบริหารจัดการกองทุนของเราอีกจุดหนึ่งที่ทำให้กรรมการของแต่ละกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเชื่อมั่นในการบริหารจัดการคือ เราจะมีการจัดส่งรายงานการบริหารกองทุนเป็นรายเดือนเพื่อให้กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละแห่งได้มีการตรวจสอบ และปรับรูปแบบการลงทุนได้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกองทุน" นางสาวประภากล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น บริษัทได้ปรับสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ระยะยาวลดลงจากเดิมที่ถือครองตราสารอายุ 2-2.5 ปี ลงมาเหลือ 1.5-2 ปีเท่านั้น เพื่อที่จะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ นางสาวกรองจันทร์ สกุลยง ผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฝ่ายวางแผนการลงทุนและพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด (TMBAM) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าไปบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับภาครัฐวิสาหกิจและเอกชน โดยรูปแบบการบริหารกองทุนจะเป็นในลักษณะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมของบลจ.ทหารไทย ที่มีอยู่แล้ว (Feeder Fund) ซึ่งก.ล.ต.ได้อนุมัติให้สามารถดำเนินการได้แล้ว

"การบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้โปรแกรม Feeder Fund จะช่วยลดต้นทุนค่าบริหารจัดการให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก เชื่อว่าหลังโปรแกรมนี้เสร็จสมบูรณ์ คาดว่าจะสามารถเปิดตัวในปีหน้าจะได้รับการตอบรับจากลูกค้า"

นางสาวกรองจันทร์ กล่าวว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลงทุนในกองทุนรวมจะมีความหลากหลาย และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละแห่งว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด หรือต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนแบบไหน ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้เลือกรูปแบบการลงทุนผ่านกองทุนของบลจ.ทหารไทย ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่จำเป็นต้องให้ความรู้กับกลุ่มลูกค้า และรูปแบบนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัทได้เป็นจำนวนมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.