เรื่องของ จอห์น ฟอร์บส์ แนช (น้อย)

โดย อเนกระรัว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผมได้ชมภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Mind กำกับโดย Ron Howard นำแสดงโดย Russell Crowe และ Janiffer Connelly ซึ่งสามารถพิชิตรางวัลตุ๊กตาทอง (Oscar) ปี 2002 ได้ ถึง 5 รางวัล ในจำนวนนี้มีสุดยอดของรางวัล ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมรวมอยู่ด้วย A Beautiful Mind เป็นภาพยนตร์ที่น่าดูเรื่องหนึ่ง ทั้งในแง่ของการกำกับการแสดง และฝีมือดารานำ Russell Crowe แต่ที่น่าสนใจที่สุด (ผมว่า) และเป็นหัวเรื่องของผมคราวนี้คือ เรื่องราวของตัวละครเอกในเรื่องนี้

ดูภาพยนตร์จบยังรู้สึกไม่อิ่ม เพราะความเป็นภาพยนตร์ที่จำเป็นต้องแต่งเติมเรื่องราว หรือการนำเสนอเพื่อให้ดูสนุก ซึ่งอาจต้องละเลยความเป็นจริง และนอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องเนื้อหา ปริมาณและ "ความหนัก" ผมคิดว่าหนังสือน่าจะได้ข้อมูลและรายละเอียดที่มากกว่า ผมจึงไปหาหนังสือ A Beautiful Mind ซึ่งเป็นที่มาของภาพยนตร์มาอ่าน หนังสือเล่มนี้เขียนโดยเหยี่ยวข่าวสาวสายเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ The New York Times นาม Sylvia Nasar คิดจะหารายได้พิเศษ (หรือไม่ก็หวังรวยไปเลย) พิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อปี 1998 เป็นเรื่องราวชีวประวัติของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอเมริกันนามว่า จอห์น ฟอร์บส์ แนช น้อย (John Forbes Nash Jr.) ทราบมาว่า กว่าจะมาเป็นหนังสือเล่มนี้ Nasar ต้องค้นคว้าข้อมูลจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าตัว (Nash เอง) ยอมรับว่า Nasar ค้นคว้าได้อย่างละเอียดจริงๆ ข้อมูลจำนวนมากมาจากการสัมภาษณ์ผู้คนที่รู้จัก Nash คนในครอบครัว ญาติ อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ ไปจนถึง รปภ. ที่ทำงาน ฯลฯ มีจำนวนทั้งหมดเหยียบ 200 คน ใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อรวบรวมข้อมูลและเขียน

จอห์น แนช (น้อย) เป็นลูกชายของวิศวกรไฟฟ้านาม จอห์น ฟอร์บส์ แนช (ใหญ่) John Forbes Nash Sr. กับมารดาซึ่งเป็นครูนามว่า มากาเร็ต เวอร์จิเนีย มาร์ติน เกิดในปี 1928 บ้านเกิดของแนช เป็นเมืองเล็กๆ ชื่อ Blue Field อยู่ในรัฐ West Verginia ซึ่งออกจะบ้านนอกมาก แต่พื้นเพของบิดามารดาเป็นผู้มีความรู้ บรรพบุรุษเป็นครูอาจารย์มาหลายชั่วอายุคน ตอนเป็นเด็ก แนช มีปัญหาเรี่องพฤติกรรม ชอบอยู่คนเดียว เข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ ไม่ชอบเล่นแบบเด็กๆ ทั่วไป ชอบอ่านหนังสือและเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีท่าทีเบื่อโรงเรียน แต่ที่บ้าน แนชชอบทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้ากว่าใครๆ ในชั้นเรียนด้วยตัวเอง

เข้าสู่วัยแรกรุ่นเป็นคนก้าวร้าว อวดเก่ง (และยังคงไม่ค่อยมีเพื่อน) ชอบแกล้งคน ชอบเล่นแผลงๆ เช่นเข้ากลุ่มกับเพื่อนทำระเบิด จนเกิดอุบัติเหตุเพื่อนคนหนึ่งเสียชีวิต ส่วนการเรียนอยู่ในขั้นดี แต่ครูยังไม่เห็นแววอัจฉริยะ อายุ 17 ปีสามารถสอบได้ทุนการศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่ Carnegie Institute of Technology ตั้งความหวังว่าจะเรียนวิศวกรรมเคมี แต่แนชฉายแววแห่งความเป็นนักคณิตศาสตร์ ซึ่งก็เป็นวิชาที่แนชหลงใหลมาตั้งแต่สมัยมัธยมด้วย เข้าเรียนวิศวกรรมเคมีได้ไม่นาน ก็ได้รับการยุยงส่งเสริมจากอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ให้เอาดีทางคณิตศาสตร์ ในที่สุดสามปีต่อมา แนชเรียนจบปริญญาตรีและแถมด้วยปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์

จากความสามารถทางคณิตศาสตร์ที่เป็นเลิศของแนช ไปเตะตากรรมการ แนชได้รับทุนการศึกษาชั้นดีที่สุด (เงื่อนไขดีที่สุด) จากมหาวิทยาลัยแนวหน้าสุดของสหรัฐฯ คือ มหาวิทยาลัย Princeton อายุ 20 ปี แนชเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ที่ Princeton หนึ่งปีต่อมา เขาส่งข้อเขียนทางวิชาการเรื่อง Equilibrium points in n-person games เป็นส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์ ซึ่งเป็นผลงานแหวกแนววงการคณิตศาสตร์วิชา Game Theory ทำให้ชื่อเสียงของความเป็นอัจฉริยะกระจายทั่ว (ปี 1994 เขาได้รับรางวัลโนเบลจากงานชิ้นนี้) แนชเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถพัฒนาแนวความคิดของ John Von Neumann (อัจฉริยะของอัจฉริยะ) บิดาแห่ง Game Theory ให้สามารถประยุกต์ใช้งานกับวิชาเศรษฐศาสตร์ การทหาร หรือสังคมศาสตร์

ปี 1950 อายุ 22 ปี แนชได้รับดุษฎีบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์จาก Princeton จากผลงานเรื่อง Non-Cooperative Game นอกจากงานการพัฒนาทฤษฎี Game Theory แล้ว แนชยังสนใจเรื่องเรขาคณิตหลายมิติ (Riemannian Geometry) ซึ่งเป็นคณิตศาสตร์ที่ใช้ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ความท้าทายของแนชคือ แก้ปริศนาทางคณิตศาสตร์ที่สำคัญๆ และยากๆ ที่ตกค้างมานานและยังไม่มีใครสามารถทำได้

ความสำเร็จของแนช มีที่มาจากอุปนิสัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก มุทะลุดุดัน เชื่อมั่นในตัวเองอย่างยิ่งยวด ชอบคิดและทำในสิ่งที่ไม่ซ้ำใคร (บางครั้งถึงขั้นเพี้ยน) เขาจะหลีกเลี่ยงการเข้าชั้นเรียน เขาจะไม่พยายามรับความรู้สำเร็จรูปจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเก่งเท่าใดก็ตาม แต่จะเรียนรู้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วคิดต่อด้วยตัวเอง ที่กล่าวมาร่วมกับพลังสมองของแนช เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของความสำเร็จทางวิชาการ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นต้นตอของปัญหาและความล้มเหลวเรื่องชีวิตส่วนตัวของเขาด้วย เขาเป็นคนที่มีความประพฤติ และมีนิสัยน่าเกลียดชังมากที่สุดผู้หนึ่งในสายตาของผู้คนรอบข้างขณะนั้น ก้าวร้าว ไม่เกรงใจใคร เอาแต่ใจตัวเอง หลายครั้งชอบทำตัวแบบเด็กเกเร หรือไม่ก็เล่นพิเรนทร์ และทะเลาะกับผู้คนไปทั่ว เรียกว่ายิ่งเก่งยิ่งกร่าง เขาใช้ความเก่งกล้าด้านคณิตศาสตร์เป็นเหมือนอาวุธใช้ทำสงครามกับเพื่อน ครู หรือผู้รู้เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่เหนือผู้อื่น เนื่องจากความประพฤติของเขาทำให้เมื่อเรียนจบดอกเตอร์ เขาไม่ได้ตำแหน่งอาจารย์ที่ Princeton เขาได้รับงานสอนที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT และได้รับงานเป็นนักวิจัยทางการทหารที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีชื่อว่า RAND Corporation ตั้งอยู่ที่เมือง Santa Monica California

เขาทำงานที่ RAND ได้ไม่กี่ปี (1950-1954) ก็ถูกให้ออกเพราะถูกตำรวจจับและตั้งข้อหากระทำรักร่วมเพศ ซึ่งข้อหานี้มีความผิดร้ายแรงต่อตำแหน่งการงานซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ขณะที่ช่วงเวลานั้นเขาก็มีบุตรชื่อ John David Stier (เกิดปี 1953) กับภรรยานอกสมรสชื่อ Eleanor ออกจาก RAND เขากลับไปสอนที่ MIT พบรักกับลูกศิษย์ ชื่อ Alicia Larde ซึ่งในที่สุดก็แต่งงานกันในปี 1958 เขามีบุตรกับ Alicia หนึ่งคนชื่อ John Charles Nash แต่ชีวิตสมรสมีอายุได้ไม่ถึงปี ด้วยเหตุผลที่แนชมีอาการทางจิตรุนแรงเมื่อปลายปี 1958

แนชเป็นโรคจิตเสื่อมชนิด Paranoid Schizopphrenia คือ มีอาการได้ยินเสียง เกิดภาพหลอน เพ้อคลั่ง เขาเกิดความคิดแปลกๆ เช่น เรื่องการถอดรหัสข่าวลับจากสิ่งพิมพ์ คิดว่าตัวเองเป็นโน่นเป็นนี่ และสูญเสียสามัญสำนึกและความมีเหตุผล อาการทางจิตของแนช ปรากฏขึ้นชัดเจนหลังจากการถูกจับที่ Santa Monica จิตแพทย์ให้ความเห็นว่า อาการจิตเสื่อมประเภทนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ (บั้นปลายชีวิตของมารดาก็ต้องเข้าโรงพยาบาลโรคจิต และลูกชายของแนชก็ป่วยด้วยโรคเดียวกัน) แต่อาการของโรคอาจกำเริบรุนแรงจากแรงกดดันทางจิตใจ เขาต้องทนทุกข์กับอาการป่วยทางจิตอยู่ถึงเกือบ 30 ปี ระหว่างนั้นต้องเข้าออกโรงพยาบาลเป็นประจำ และไม่สามารถทำงานด้านคณิตศาสตร์ได้ เขากลายเป็นคนเงียบ เศร้า เก็บตัว จนได้รับสมญานามว่า ปีศาจเศร้าแห่ง Fine Hall (ห้องโถงหนึ่งที่ Princeton) เคราะห์ดีที่ทาง Princeton ช่วยเหลือให้เขาสามารถใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยได้ และที่สำคัญ ภรรยาของแนช Alicia กลับมาดูแลแนช โดยหวังที่จะให้แนชฟื้นจากอาการป่วยมาเป็นคนปกติ หลังจากปี 1990 อาการของแนชดีขึ้นมากจนสามารถกลับมาทำงานด้านคณิตศาสตร์ได้ ปี 1994 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับ John C. Harsanyi และ Reinhard Selton

ความน่าทึ่งของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่เนื้อหาที่หลากมิติ ตั้งแต่เรื่องราวชีวิตครอบครัวของแนช ย้อนไปถึงรุ่นปู่ ย่า เรื่องพฤติกรรมส่วนตัว เรื่องราวของคนรอบข้าง ท่านจะได้รับรู้บรรยากาศที่ Princeton ขณะที่เต็มไปด้วยอัจฉริยะบุคคลหลากสไตล์ แม้กระทั่งเรื่องราวทางวิชาการคณิตศาสตร์ ก็มีรายละเอียดสำหรับให้ผู้อ่านที่ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์ให้พอติดตามได้ (Nasar ผู้เขียนก็ไม่ได้เป็นนักคณิตศาสตร์) นอกจากนั้นยังแทรกด้วยเรื่องของบรรยากาศของสงครามเย็น และความเพี้ยนของวงการทหารและรัฐบาลสหรัฐฯ จนถึงรายละเอียดเรื่องอาการป่วยทางจิตของแนช หนังสือเขียนออกมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง พร้อมการอ้างอิงอย่างมีระบบ คล้ายกับหนังสือประวัติของ Albert Einstein ที่เขียนโดย Albrecht Folsing (มีโอกาสอาจจะเขียนถึง) แต่ Nasar เสริมแทรกด้วยพรรณนาโวหารในบางช่วงเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและรู้สึกถึงบรรยากาศ ซึ่งดูจะเหลือเชื่อที่จะถูกต้องกับความเป็นจริง ในขณะที่ Folsing พยายามยึดความถูกต้องตามความเป็นจริงเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ดี หนังสือ A Beautiful Mind เป็นหนังสือที่น่าอ่าน และเต็มไปด้วยเกร็ดความรู้หลายแง่มุม และยังได้รับความเพลิดเพลินไม่น้อย น่าเสาะหามาอ่านกันเป็นอย่างยิ่ง สวัสดีครับ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.