|
นักการเมืองหญิงเอี่ยวกรุงไทย
ผู้จัดการรายวัน(18 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แฉคดี แบงก์กรุงไทยปล่อยกู้บริษัทธนบุรีประกอบยนต์ มีนักธุรกิจหนุ่มและนักการเมืองหญิงจากภาคเหนือ มีเอี่ยวส่วนแบ่งค่านายหน้า 600 ล้าน ออกเช็ค 18 ใบ แต่บิ๊กแบงก์ชาติเลือกเล่นงานบางราย เก็บที่เหลือไว้ต่อรองฝ่ายการเมืองยามจำเป็น "สมคิด" ยันนโยบายแก้หนี้-ฟื้นฟูธุรกิจไม่เปลี่ยน บอร์ดกรุงไทยรอหนังสือจากแบงก์ชาติก่อนโยกย้ายผู้บริหาร
วานนี้ (17 ก.พ.) คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย ประชุมเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตกรรมการและ ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย (KTB) จำนวน 21 ราย ปล่อยสินเชื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารกรุงไทย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากธปท. โดยเฉพาะรายชื่อบุคคลต่างๆ ที่ถูกกล่าวโทษ เป็นเพียงการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น
"มติดังกล่าวเป็นไปตามมติของบอร์ดบริหาร ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ตอนนี้เรากำลังดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ในกรณีที่พนักงานแบงก์ถูกฟ้องร้อง ก็ต้องดูกฎหมายรวมทั้งรัฐธรรมนูญเข้ามาพิจารณาด้วย"
นายอภิศักดิ์ยังระบุว่า ไม่ทราบรายละเอียดหรือเส้นทางการไหลของเงินกู้ โดยเฉพาะคดีที่ 3 ซึ่งธปท.ระบุว่าพบเส้นทางการยักยอกเงินในการปล่อยกู้ไปสู่บุคคลภายนอก 600 ล้านบาท
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเป็นการปล่อยกู้ให้บริษัทธนบุรีประกอบยนต์ ธปท.อ้างว่าผู้บริหารไม่ปฏิบัติตามมติบอร์ดบริหาร จ่ายเงินสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกหนี้เกินกว่าที่ควรจ่ายจริง โดยไม่รักษาผลประโยชน์ทำให้ธนาคารกรุงไทยได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้ มีผู้ถูกฟ้องร้อง 4 คน
เกี่ยวกับคดีนี้ แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ผู้บริหารระดับสูงของธปท.ได้พูดกับคนรอบข้างว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีมากกว่า 4 คน ที่ได้ประโยชน์จากเงินที่บุคคลคนนอกซึ่งเป็นนักธุรกิจหญิงแบ่งให้ โดยในจำนวนนี้มีนักธุรกิจหนุ่มดาวเด่นในสังคมไทย และนักการเมืองหญิงที่ทรงอิทธิพลจากภาคเหนือ
"ผู้บริหารแบงก์ชาติคนนี้ บอกว่าเห็นเส้นทางการไหลของเงิน จึงได้ดำเนินคดี แต่คนที่ได้ส่วนแบ่งจากนักธุรกิจหญิง ยังมีอีกหลายคนซึ่งไม่ได้ฟ้องร้อง โดยเคสนี้มีการออกแคชเชียร์เช็คของแบงก์เอเชีย จ่ายให้กับผู้เกี่ยวข้องถึง 18 ใบ"
แหล่งข่าวระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าธปท.ไม่ได้ละเว้นเฉพาะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (ฟ้อง 3 จาก 5 คน) แต่ยังละเว้นบุคคลภายนอก อย่างไรก็ตามหากดูจากพฤติกรรมที่ผ่านมา เป็นไปได้ที่ผู้บริหารระดับสูงของธปท.จะเก็บข้อมูลนี้ไว้ เพื่อต่อรองทางการเมือง ในกรณีที่จำเป็น สังเกตได้จากการแสดงความกังวลของธปท.ที่กระทรวงยุติธรรมจะดึงเรื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับผิดชอบคดีนี้แทน
เผยคงไม่จบแค่ 3 คดี
นายวีระชาติ ศรีบุญมา ผู้อำนวยการฝ่ายคดี ธปท. เปิดเผยว่า กำลังดำเนินการส่งคดีการฟ้องร้องผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ในคดีที่บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ที่ไม่ควรได้ 600 ล้านบาท ให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ปปง.นำเรื่องไปดำเนินการสอบสวนต่อตามกฎหมายและวิธีการฟอกเงิน เนื่องจากทาง ปปง.มีอำนาจในตรวจสอบเส้นทางการเดินของเงินมากกว่า
"เท่าที่ฟ้องร้องไปแล้วคิดว่าครบถ้วนแล้ว เพราะได้ฟ้องร้องผู้อนุมัติสินเชื่อ ผู้สั่งจ่ายเงิน บริษัทผู้รับเงิน และผู้ที่ได้รับเงิน 600 ล้านบาท ขึ้นกับ ปปง. แต่อาจจะตั้งคณะกรรมการร่วมที่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายคดีของธปท.ร่วมด้วยก็ได้
สำหรับสินเชื่อที่เหลืออีก 9 ราย (ทั้งหมด 12 ส่งฟ้องแล้ว 3) นายวีระชาติกล่าวว่า ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการอนุมัติหรือการปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกจนผิดปกติ จึงอาจจะดำเนินการทีหลังได้
สำหรับเหตุผลที่ ธปท.ดำเนินการกันพยาน 2 คน ซึ่งเป็นกรรมการนั้น นายวีระชาติกล่าวว่า ทำตาม ป.วิ. อาญา มาตรา 226 กำหนดไว้ว่า การจะพิจารณาพยานที่จะมาเป็นพยานให้ว่า จะต้องมาด้วยความเต็มใจไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญมา และ ป.วิ.อาญา มาตรา 227 กำหนดว่าต้องเป็นบุคคลที่พิจารณาแล้วว่า ไม่ได้กระทำผิดหรือไม่มีข้อมูลหลักฐานว่ากระทำผิด
พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติเลขาธิการปปง.ให้สัมภาษณ์ว่า ปปง.ได้รับสำนวนคดีที่ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษ อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยแล้ว
สินเชื่อกรุงไทยระส่ำ
การร้องทุกข์กล่าวโทษของธปท.ต่อกรรมการผู้บริหารและบุคคลภายนอกดังกล่าว ยังกระทบต่อการปล่อยกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนายอภิศักดิ์กล่าวว่า จากการสอบถามพนักงานพบว่า พนักงานส่วนใหญ่เกิดความไม่สบายใจ แต่ทางธนาคารได้พยายามทำความเข้าใจว่า หากพนักงานทำไปอย่างสุจริต และเป็นไปตามขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อตามปกติ ธนาคารจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่ออย่างใด รวมทั้งเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบต่อเป้าหมายการขยายสินเชื่อในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายการขยายตัวจากปีก่อนไม่มากนัก
ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ถูกธปท. กล่าวโทษนั้น ขณะนี้ทั้ง 3 ราย ยังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งลูกหนี้จำนวน 1 ราย ยังมีการชำระหนี้ตามปกติ แต่ลูกหนี้ทั้ง 3 รายนั้นธนาคารได้จัดชั้นเป็นหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไปแล้ว
คลังยันแก้ NPL-ฟื้นฟูธุรกิจต่อ
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการที่ธปท.ฟ้องร้องกรรมการผู้บริหารและบุคคลภายนอกว่าไม่ทำให้นโยบายแก้หนี้เสียและฟื้นฟูธุรกิจเอกชนของรัฐบาลมีปัญหาแต่อย่างใด
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่า ธปท.ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังตัวในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ควบคุมมิให้ธุรกิจที่ได้รับสินเชื่อนำเงินกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ส่วนการที่ ธปท.ดำเนินการ แสดงว่าต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน
"ในส่วนของคลังได้เสนอให้มีการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออกไปอีก 2 ปี และตั้งคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสถาบันบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ของรัฐ โดยตั้งเป้าหมายปรับลดเอ็นพีแอลในระบบเหลือ 3% ในปี 2551 ซึ่ง ณ ขณะนี้นโยบายดังกล่าวยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นทิศทางนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้ยังคงเป็นไปตามที่วางไว้ คือ เร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป"
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อในช่วงนี้ ภาคธุรกิจยังสามารถพึ่งพาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|