มหัศจรรย์แห่งแสงเหนือ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ปลายฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเฝ้าดูปรากฏการณ์ธรรมชาติเหนือขอบฟ้าอลาสก้า ที่เรียกกันว่า "แสงเหนือ" (aurora borealis) ซึ่ง Ken Griffiths ช่างภาพประจำนิตยสาร Conde Nast Traveller ใช้เวลา 8 วันเฝ้าจับภาพความมหัศจรรย์ของแสงเหนือช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วมาฝาก พร้อมกับเล่าประสบการณ์ประทับใจว่า

"คุณเฝ้ารอแล้วรอเล่าจนคิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วล่ะ แต่แล้วคุณก็สังเกตเห็นแสงรุ่งโรจน์ขึ้นที่ขอบฟ้า และมันเริ่มเคลื่อนตัวเข้าหาคุณด้วยความเร็วและแรงเหมือนขบวนรถไฟ เมื่อมันเคลื่อนใกล้เข้ามา บางครั้งมันก็ส่ายไปมา และบางครั้งก็แผ่ออกเหมือน ม่านบางๆ ที่พลิ้วไหวตามแรงลม แสงเหนือที่ปรากฏต่อสายตาคุณ แต่ละครั้งจึงไม่มีวันเหมือนกันเลย"

ความแปลกประหลาดชวนขนหัวลุกของแสงเหนือก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ นานา สำหรับหลักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอธิบายว่า แสงเหนือเกิดจากอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า ซึ่งพวยพุ่งออกจากดวงอาทิตย์ และถูกขั้วแม่เหล็กโลกดูดเข้ามา ซึ่งปรากฏการณ์ของแสงเหนือที่เกิดขึ้นในซีกโลกเหนือและแสงใต้ที่เกิดในซีกโลกใต้ มีลักษณะเดียวกันคือ เมื่ออนุภาคดังกล่าวเดินทางถึงบรรยากาศโลกชั้นนอกสุด ก็จะชนเข้ากับแก๊สที่อยู่ในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) เกิดเป็นลำแสงรุ่งโรจน์ขึ้นในลักษณะเดียวกับอิเล็กตรอนวิ่งผ่านแก๊สในหลอดไฟนีออน แล้วเกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมานั่นเอง

ส่วนที่เห็นเป็นเหมือนแสงกำลังเริงระบำ และรูปร่างแลดูแปลกประหลาดบนท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้น เป็นเพราะการปิดโค้งของสนามแม่เหล็ก ที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่ลำอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าพุ่งเข้าปะทะ ส่วนสีต่างๆ ที่เรามองเห็นนั้น เกิดจากแก๊สในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ โดยสีเขียวและแดงเกิดจากแก๊สออกซิเจน สีน้ำเงินและม่วงเกิดจากแก๊สไนโตรเจน

สำหรับสีเขียวของแสงเหนือที่ Ken Griffiths ถ่ายภาพมาได้เกิดจากแก๊สออกซิเจนที่ลอยอยู่เหนือพื้นโลกประมาณ 60 ไมล์ (ส่วนสีแดงเกิดจากแก๊สออกซิเจนทำปฏิกิริยากับอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า ซึ่งพวยพุ่งจากดวงอาทิตย์ ณ ความสูงจากพื้นโลกราว 200 ไมล์)

8 วันของการเฝ้าดูแสงเหนือบนขอบฟ้าอลาสก้าของ Ken Griffiths เป็นประสบการณ์ประทับใจไม่รู้ลืม "เหมือนได้อยู่บนดวงจันทร์ยังไงยังงั้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.