สะพานสะท้อนอัจฉริยภาพของ Leonardo da Vinci


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"มันเหมือนกับได้ตกหลุมรัก" Vebjorn Sand ศิลปินชาวนอร์เวย์ฟื้นความหลัง "ผมไม่สามารถสลัดมันออกไปจาก ความรู้สึกนึกคิดได้"......

เป็นเรื่องราวที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Popular Science ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ Sand พูดถึงเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ขณะมีโอกาสเข้าชมนิทรรศการผลงานของ Leonardo da Vinci ซึ่งทำให้เขาสะดุดและให้ความสนใจในแบบจำลองสะพานที่ da Vinci ทำขึ้นเสนอสุลต่าน Bajazet II แห่งอาณาจักรออตโตมาน ในปี 1502 เพื่อทำการก่อสร้าง

ในครั้งนั้น สุลต่านมีโครงการขยายอ่าว Golden Horn ซึ่งอยู่ระหว่างเมือง Pera และ Constantinople (Istanbul ในปัจจุบัน) ของตุรกี และถ้าได้ก่อสร้างขึ้นจริง ก็จะได้ชื่อว่าเป็นสะพานใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในยุคนั้นเลยทีเดียว

ปรากฏว่า ราชสำนักออตโตมานกลับรู้สึกทึ่งและประหลาดใจมาก กับงานออกแบบสะพานที่เป็นรูปทรงโค้งขนาดมหึมา และหลังจากปรึกษา กับคณะที่ปรึกษาแล้ว สุลต่านมีบัญชาที่มีผลให้โครงการก่อสร้างต้องพับฐานไปว่า สะพานทรงโค้งขนาดใหญ่อย่างนั้นมีสิทธิจะถล่มพังลงตรงส่วนกลางของสะพานได้

แต่ทันทีที่ Sand ได้เห็นแบบของสะพาน เขาเชื่อมั่นว่ามันต้องสร้างได้ "ที่สำคัญเรากำลังจะได้ร่วมงานกับ Leonardo" เขาคิด

Sand ไม่ยอมเสียเวลาอีกต่อไป เขาติดต่อกับ Norwegian Public Road Administration ทันที พร้อมเสนอให้สร้างสะพานตามแบบของ da Vinci

แล้วฝันของ Leonardo da Vinci ก็เป็นจริงเอาในศตวรรษที่ 21 นี้เอง เมื่อทางการนอร์เวย์ตกลงสร้างสะพานดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องย่อส่วนให้เล็กลงจากต้นแบบซึ่งยาว 787 ฟุตให้เหลือ 328 ฟุต โดยสนับสนุนเงินงบประมาณให้สร้างสะพานด้วยไม้สนอัดซ้อนกันเป็นชั้นๆ (Laminated pine) ที่บริเวณ As ซึ่งอยู่ชานกรุงออสโล นครหลวงนั่นเอง

เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ สมเด็จพระราชินี Sonja แห่งนอร์เวย์ เสด็จเปิดสะพานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมปีที่แล้ว

ที่น่าทึ่งที่สุดในสายตาของวิศวกรก็คือ รูปลักษณ์อันทันสมัยของสะพาน ซึ่งบางคนถึงกับยกย่องให้เป็นสะพานแห่งอนาคต ด้วยซ้ำ

Sand อธิบายเหตุผลในจุดนี้ว่า เป็นเพราะการออกแบบซึ่งใช้หลักคณิตศาสตร์นั่นเอง "คณิตศาสตร์และเรขาคณิตเป็นหลักวิชาที่อยู่เหนือกาลเวลา"

แต่ถ้าพินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน ก็ช่วยไม่ได้ที่คนทั่วไปจะคิดด้วยหลักสามัญสำนึกเหมือนราชสำนักออตโตมานยุคนั้นว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สะพานโค้งกลมขนาดนั้นจะทอดตัวลงสู่แนวราบได้ในระยะทางที่หดสั้นเข้า?

คำตอบก็คือ ใช้หลักการก่อสร้าง "pressed-bow construction" (โปรดอ่านผังประกอบ)

โดยตัวสะพานจะมีฐานที่แผ่กว้างออกไปมาก ซึ่งก่อให้เกิดแรงต้านจากพื้นดินบริเวณที่รองรับฐานของตัวสะพานนั่นเอง นอกจากนี้ การสร้างให้สะพานโค้งคู่กันแบบ double-arch construction ยังทำให้สะพานสามารถต้านแรงลมที่พัดกระโชกเข้าทางด้านข้างได้เป็นอย่างดี

สะพานที่สะท้อนอัจฉริยภาพของ Leonardo da Vinci นี้จึงได้รับการยกย่องจากทั่วโลกแบบไม่มีข้อกังขา

เป็นเรื่องของกาลเวลาโดยแท้!

500 ปี หลังจาก Leonardo ออกแบบสะพานแก่สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมาน ในที่สุดผลงานของสมองอันปราดเปรื่องของเขาก็เป็นจริงขึ้นที่ชานกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เป็นสะพานโค้งที่ออกแบบโดยใช้หลักเรขาคณิตได้อย่างสมบูรณ์แบบดังที่แสดงในผังประกอบ ที่ทีมวิศวกรซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้สร้างขึ้น

A นำทรงกระบอกที่มีปีกโค้งเว้าเข้าข้างในมาหนึ่งอัน แล้วตัดขวางตามแนวนอน B ได้ส่วนของส่วนโค้งที่เกิดจากการตัดขวางรูปทรงกระบอก C จากนั้นตัดส่วนที่เป็นปีกของส่วนโค้งนั้นออก เกิดเป็นรูปโค้งทรง parabola คือมีความแบนโค้งสองด้านขนานกัน D ตอนนี้ส่วนโค้งนั้นก็กลายเป็นสะพานที่มีความมั่นคง เชิงโครงสร้างคือ มีฐานกว้าง และคอดแคบเข้าบริเวณ ส่วนกลางของตัวสะพาน E ต้นแบบเชิงเรขาคณิตที่เห็นอยู่นี้ เกือบจะเป็นภาพเดียวกับภาพวาดของ Leonardo da Vinci เมื่อปี 1502

ภาพสะพานที่ Leonardo da Vinci สเกตช์ขึ้นและเสนอต่อสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมาน (ขวาสุด)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.