|
วิโรจน์เปิดใจพร้อมสู้คดียันหลักทรัพย์คุ้มปล่อยกู้
ผู้จัดการรายวัน(16 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิโรจน์ นวลแข" เปิดใจหลังถูกแบงก์ชาติฟ้องร้องดำเนินคดี ยืนยันความบริสุทธิ์ปล่อยสินเชื่อตามเงื่อนไขทุกอย่าง ระบุหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอกับวงเงินกู้ ขณะที่การตรวจสอบวัตถุประสงค์การใช้เงินยังมีอำนาจจำกัด ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ พร้อมยืนยันไม่ห่วงเรื่องคดี มั่นใจมีหลักฐานเพียงพอชี้แจง ด้านผู้ว่าแบงก์ชาติแจงไม่ได้เลือกปฏิบัติตามข้อกล่าวหา ส่วนบอร์ดกรุงไทยยังไม่มีมติให้ดำเนินการกับพนักงานที่ถูกกล่าวโทษ ต้องรอให้ถึงขั้นฟ้องร้องก่อน
นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งความดำเนินคดีกับกรรมการผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และบุคคลภายนอกในข้อหาสร้างความเสียหายให้ธนาคารกรุงไทยว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งจะต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ดังนั้นระบบการปล่อยสินเชื่อจะมีเจ้าพนักงานสินเชื่อ ไล่จนถึงคณะกรรมการ ซึ่งเป็นการพิจารณาหลักการค้าปกติ
ทั้งนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปล่อยกู้ประมาณ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้กว่า 3 แสนราย การพิจารณาปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะคำนึงถึงประโยชน์กับประเทศและลูกค้า รวมทั้งผู้ถือหุ้นเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจก็มีการเปลี่ยนแปลงไป การให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาพิจารณาอีกครั้ง อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน
สำหรับกรณีของบริษัท โกลเด้นเทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่ถูกระบุว่ามีการใช้เงินผิดประเภทนั้น นายวิโรจน์ กล่าวว่า ในช่วงที่อนุมัติเงินกู้จำนวน 9,900 ล้านบาท มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ คือที่ดินที่เขตเศรษฐกิจใหม่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 4,000 ไร่
โดยเงินกู้จำนวนดังกล่าวบริษัทแบ่งเป็น 500 ล้านบาท นำไปซื้อที่ดินเพิ่มเติม และ 1,400 ล้านบาท นำไปก่อสร้างถนนเข้าที่ดิน เพื่อนำที่ดินขายให้กับบริษัทพัฒนาที่ดิน และอีก 8,000 ล้านบาท นำไปรีไฟแนนซ์เงินกู้จากสถาบันการเงินอื่น ส่วนกรณีลูกค้านำเงินที่ปล่อยกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ธนาคารไม่สามารถไปตรวจสอบบัญชีลูกค้าจากสถาบันการเงินอื่นได้
ส่วนกรณีการขายหุ้นบุริมสิทธิ แปลงสภาพของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC ให้กับบริษัท แกรนด์คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยไม่รับชำระเงินทันที ทำให้เกิดความเสียหาย 4,740 ล้านบาทนั้น เจ้าหน้าที่ของธนาคารได้เสนอให้ขายหุ้นบุริมสิทธิ KMC ในราคาหุ้นละ 8 บาท แต่คณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นว่าราคาต่ำเกินไป และต้องการขายในราคาต้นทุนคือ 10 บาท และขายให้กับบริษัทแกรนด์คอมพิวเตอร์ฯ และให้นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ค้ำประกัน ในราคา 10 บาทบวกกับต้นทุน แต่มีระยะเวลาในการชำระค่าหุ้น แต่เมื่อบริษัทที่รับซื้อหุ้นไปไม่สามารถชำระค่าหุ้นได้ธนาคารได้ดำเนินการฟ้องร้องทันที
"แบงก์ชาติ ต้องหาข้อพิสูจน์ว่ามีการทุจริตจริงหรือไม่ หากพบทุจริตจริง ผู้ที่ถูกกล่าวหาจะต้องได้รับผลประโยชน์ แต่ที่ทำไปเพื่อประโยชน์ แก่ธนาคารและผู้ถือหุ้น และการกล่าวโทษเป็นเรื่องของ 2 กลุ่มเท่านั้น ไม่ควรที่จะทำให้สาธารณชนหรือประชาชนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง เช่น เรื่องราคาหุ้น และผมเชื่อว่าคนที่ทำงานคงไม่มีใครทุจริต หากมีการทุจริตแบงก์ชาติคงมีการฟ้องร้องตั้งนานแล้ว และการปล่อยสินเชื่อผ่านคณะกรรมการทุกครั้ง"
สำหรับแนวทางการต่อสู้คดี นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องเอาความจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งก็พร้อมที่จะอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนการฟ้องกลับธปท.เป็นเรื่องที่ฝ่ายกฎหมายและทนายต้องให้คำแนะนำ ซึ่งถ้าทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็จะทำ
"ผมไม่ห่วงในเรื่องของคดี เพราะได้ทำตามกระบวนการ ซึ่งก็คิดว่าหลักฐานมีพอที่จะชี้แจง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นห่วงในเรื่องของขวัญและกำลังใจของพนักงานที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงของแบงก์ชาติควรจะให้นายธนาคารได้เรียนรู้และบอกให้ชัดว่าใช้อะไรเป็นเครื่องวัดในการตัดสินเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ" นายวิโรจน์ กล่าว
ผู้ว่าฯธปท. ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ
ต่อกรณีที่นายวิโรจน์ ฟ้องร้องธปท.และผู้ว่าฯ ธปท.กรณีสั่งห้ามนายวิโรจน์กลับมาเป็นกรรมการ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทยอีกสมัยก่อนที่จะถูก ธปท. ฟ้องร้องเรื่องการปล่อยสินเชื่อนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวยื่นผ่านอัยการเพื่อส่งให้ศาลปกครองพิจารณาแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา
"คดีฟ้องร้องก็ต้องสู้คดีกันต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องคดีการปล่อยสินเชื่อของ แบงก์กรุงไทยแต่อย่างใด การที่ ธปท.ฟ้องร้องกล่าวโทษ เป็นเรื่องส่วนบุคคล" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวานนี้ (15 ก.พ.) คณะกรรมการได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพนักงานที่ถูกกล่าวโทษจากธปท. แต่ขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้รับรายงานจากธปท.แต่อย่างใด ดังนั้นคณะกรรมการจึงมีความเห็นร่วมกันที่จะยังไม่ดำเนินการใดๆ กับพนักงานกลุ่มดังกล่าว เพราะขั้นตอนเป็นเพียงแค่กล่าวโทษ ไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง รวมทั้งขบวนการดังกล่าวยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน อาทิ ขั้นตอนการสอบสวนของตำรวจ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน พนักงานกลุ่มที่ถูกกล่าวโทษดังกล่าว จะไม่ซ้ำกับโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตั้งแต่ที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่
"ขณะนี้ธนาคารไม่มีอำนาจใดๆ ในการออกคำสั่งให้หยุด หรือโยกย้ายสายงานพนักงาน ต้องรอให้ถึงขั้นฟ้องร้องก่อน" นายอภิศักดิ์ กล่าว
สำหรับการปล่อยสินเชื่อใหม่ นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ธนาคารยังคงให้มีการอนุมัติและปล่อย สินเชื่อได้ตามปกติ ซึ่งธนาคารไม่มีข้อมูลในเชิงลึกของพนักงาน ดังนั้นการอนุมัติสินเชื่อจะเป็นไปตามกรอบปกติ และข้อมูลเดิมๆ ของการปล่อยสินเชื่อปกติ
ส่วนประเด็นแนวทางการดำเนินการกับพนักงานที่ถูกกล่าวโทษ หลังจากที่มีการฟ้องร้องแล้วนั้น ขณะนี้ธนาคารได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของธนาคารทำการศึกษาถึงระเบียบการและขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|