จากทางเดินที่เป็นสะพานไม้เล็กๆ ริมน้ำได้ถูกเชื่อมต่อไปยัง
เรือน "รสิกคาม" เรือนสำหรับผู้ชื่นชอบงานศิลปะ ในโรงเรียนรุ่งอรุณ
"รสิกคาม" เป็นห้องเรียนศิลปะ และแกลลอรี่ในโรงเรียน ที่นอกจากมีรูปลักษณ์ภายนอกแปลกตาแล้ว
กระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่นี่ก็ผ่านวิธีการสอนที่น่าสนใจอย่างมากๆ ทีเดียว
ตัวอาคารเรียนนั้นเป็นบ้านเรือนไทยหลังใหญ่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคามุงด้วยจากที่เย็บอัดกันแน่นกันฝนกันแดดได้อย่างดี
ตัวเรือนเปิดฝาโล่งให้ลมพัดผ่านได้เต็มที่ มีพัดลมเป็นบางจุดบนเพดาน และเสาบางต้น
รสิกคามมีทั้งหมด 3 หลังเชื่อมต่อถึงกันด้วยชานบ้านและทางเดินที่มีราวระเบียง
ไม้ไผ่ ริมทางเดินมีทั้งต้นโมก ต้นปาล์ม และไม้ในร่มอื่นๆ ดูร่มรื่นเย็นตา
"รสิก" แปลว่า ผู้รู้รสศิลปะ "คาม" แปลว่า บ้าน รสิกคาม คือ บ้านของผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ
แต่เดิมห้องเรียนวิชานี้ก็อยู่ภายในห้องเรียนเหมือนโรงเรียนทั่วไป แต่เมื่อประมาณ
3-4 ปีก่อน ครูสอนศิลปะและผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้แนวคิดที่ชัดเจนขึ้นว่าการเรียนศิลปะนั้นนอกจากจะทำให้เด็กรับรู้ความงามด้วยการมอง
การฟัง และลงมือทำสิ่งอันประณีตแล้ว สิ่งที่จะต้องแทรกไว้ เสมอในทุกช่วงจังหวะการสอนก็คือ
ความงามจากธรรมชาติ ห้องเรียนท่ามกลางธรรมชาติเลยเกิดขึ้น โดยมีผู้อำนวยการ
โรงเรียน คือ รศ.ประภาภัทร นิยม เป็นผู้ร่วมออกแบบ
เด็กๆ จะนั่งเรียนกันบนพื้นไม้กระดานที่ยกพื้นขึ้นมาเหมือนบ้านไทยในชนบท
เมื่อยนักก็นั่งวาดนอนวาดบรรเลงสีกัน ได้เต็มที่ เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมถึงมัธยมต้น
ซึ่งมีเพียงห้องละไม่เกิน 25 คน จะมีชั่วโมงเรียนในห้องเรียนแห่งนี้เฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ
1.30 ชม. ส่วนมัธยมปลาย จะมีชั่วโมงเลือกเพิ่มขึ้นมาด้วย
หลักสูตรหลักๆ ในระดับประถมก็คือ การเรียนสีน้ำ การปั้นดิน งานถัก งานทอ
งานทอผ้า งานไม้ งานภูมิปัญญาชาวบ้าน
เรือนไม้ริมสุดยังเป็นที่สำหรับงานปั้นที่นักเรียน ซึ่งบางครั้งผู้ปกครองก็สามารถเข้ามาร่วมได้ด้วยในชมรมปั้นทุกเย็นวันอังคาร
แต่การเชื่อมโยงสู่ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติใกล้ตัว ของวิชานี้เกิดขึ้นได้เมื่อเด็กๆ
สามารถลงไปขุดดินดำๆ เละๆ ริมน้ำของห้องเรียน มาเลือกขี้กรวด ขี้ทรายออก
นวดแล้วก็ปั้น หลังจากเลอะเทอะไปทั้งครู และลูกศิษย์แล้ว เด็กๆ ถึงจะมีโอกาสได้ปั้นกับดินวิทยาศาสตร์อื่นๆ
ในชั่วโมงต่อๆ มา
เมื่อเป็นห้องเรียนใหญ่ที่เปิดโล่ง การใช้ประโยชน์จากเรือนนี้ก็สามารถทำได้เต็มที่และหลากหลาย
ในช่วงเช้าของแต่ละวัน จะไม่มีชั่วโมง เรียนห้องเรียนสามารถเปลี่ยนเป็นแกลลอรี่
ที่โชว์ผลงานของเด็กๆ ของครู หรือผู้ปกครอง และในแต่ละปีจะมีการประกวดผลงานของนักเรียนอย่างชื่องานในปีนี้ก็คือ
"ผลิดอกออกผล"
และที่สำคัญยังสามารถเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียง มาสอนและให้ความรู้กับเด็กๆ
รวมทั้งโชว์ผลงานของแต่ละท่านด้วย เช่น ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์, อาจารย์เกริก
ยุ้นพันธ์, โชคชัย ตักโพธิ์, นายดี ช่างหม้อ และล่าสุดก็คือ มีการแสดงภาพวาดของอาจารย์อคิน
ระพีพัฒน์
กิจกรรมต่างๆ พวกนี้มีผลอย่างมากในการซึมซับงานศิลปะ และเป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ
มีความมั่นใจ และมีความกล้าในการทำงานของตัวเองมากขึ้น
"ทุกครั้งที่มีศิลปินใหญ่ๆ มา ทั้งนักเรียน และครูจะตื่นเต้น กันมากครับ
เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ชัดเจนมากได้ฟังเขาพูดแล้วเห็นผลงานเขาอีก ผมเชื่อว่าการเรียนศิลปะนั้นสิ่งที่สำคัญมากคือ
การดู เพราะว่า เราจะทำงานได้ดีนั้นจากตัวเราที่เราจะเขียนออกมาส่วนหนึ่ง
ส่วนประสบการณ์ในการดู จะช่วยให้เรากล้าทดลอง หรือกล้าทำตาม กล้าจะเล่นสี
กล้าครีเอทีฟมากขึ้น"
อาจารย์พิษณุ หรือ "ครูนุ" ของนักเรียนพูดให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ในยามสายของวันหนึ่งที่ชานเรือนรสิกคาม
ซึ่งเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงร้องของจักจั่น
ครูนุ จบจาก มศว.ประสานมิตร ด้านศิลปะ เริ่มต้นชีวิตการ ทำงานในโรงเรียนแห่งนี้
การมีแกลลอรี่ทำให้ครูเองก็ได้ทำงานด้วย ได้แสดงผลงานด้วย และยังได้มีโอกาสเรียนรู้งานจากศิลปินด้วย
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมพวกนี้ จะจัดได้ในช่วงเทอมที่ 3 คือ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น
เพราะมีข้อจำกัด ของสถานที่ที่โล่งมาก จัดกิจกรรมหน้าฝนจะลำบาก และในชั่วโมง
เรียนปกติ ศิลปะก็ยังสัมพันธ์กับหน่วยการเรียนในวิชาต่างๆ ของแต่ละชั้นด้วย
เพราะผู้สอนต้องการให้นักเรียนได้ใช้ศิลปะในการ ใช้ชีวิตจริงอย่างมีความสุขด้วย