ทำไมต้องเป็น Mobile easy

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

อีกไม่กี่วันป้ายชื่อร้านไออีซี เซอร์วิสเซ็นเตอร์ จะถูกแทนที่ด้วย Mobile easy พร้อมกับ โฉมหน้าใหม่ของร้านที่เน้นความสดใส และทันสมัย และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวของ ผู้ค้าโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในตลาดนี้มาแล้ว 15 ปี

ปี 2545 เป็นปีที่บริษัทอินเตอร์แนชั่น เนิล เอนจีเนียริ่ง จำกัด หรือไออีซี จะมีอายุ ครบรอบ 80 ปีเต็ม บริษัทแห่งนี้เริ่มต้น มาจากการเป็นผู้ติดตั้งรางรถไฟให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย และขยายมาสู่ธุรกิจ อื่นๆ เช่น ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากกิจการเหล่านี้ ไออีซี ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้าที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจค้าเครื่องลูกข่ายมาเป็นปีที่ 15 เริ่มต้นตั้งแต่ขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ 470 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กระทั่งมาถึงในปีนี้ที่ไออีซีต้องลุกขึ้นมาปรับปรุงโฉมใหม่ เปลี่ยนชื่อร้านให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้วยอัตราการขยายตัวของโทรศัพท์ มือถือที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับการเปลี่ยนแปลงของฐานลูกค้าที่ขยับจากลูกค้าระดับบนที่ขยายลงสู่ระดับล่าง จากลูกค้าธุรกิจกลายมาเป็นบุคคลทั่วไป และลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นที่อายุไม่มาก ทำให้ร้านค้าโทรศัพท์มือถือก็ต้องเปลี่ยนแปลง

แม้ได้ชื่อว่าอยู่ในตลาดค้าโทรศัพท์มือถือมานาน แต่การใช้ไออีซี เซอร์วิส ที่ดูเคร่งขรึมก็อาจไม่เหมาะอีกต่อไป

"เวลานั้นลูกค้าเป็นกลุ่มนักธุรกิจ ก็ต้องการความเชื่อถือ จากประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดมานาน การใช้ชื่อร้านไออีซี ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า" ศิริชัย ลาภมหานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทไออีซี เล่า "แต่เมื่อตลาดเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัวให้ทัน"

"โมบายอีซี่ ถูกเลือกมาแทนที่ชื่อร้านไออีซี เซอร์วิสเซ็นเตอร์" เราต้องการสะท้อนการเป็นร้านที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการได้ง่ายๆ" ศิริชัยบอก

โลโกหยดน้ำ ถูกแทนที่ตัวอักษรที่เคร่งขรึม เพื่อต้องการสะท้อนถึงการเปลี่ยน แปลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับ สีขาวสลับเหลือง นำมาแทนสี น้ำเงินและฟ้า เพื่อสร้าง ความสดใส หน้าร้านที่เคยมีกระจกใสหนากั้นไม่ต่างจากสาขาของธนาคาร จะถูกเปิดโล่ง เพื่อสะท้อนชื่อของร้าน

"เราวางแผนเรื่องนี้มาปีกว่าแล้ว" ศิริชัยบอก "แต่ติดปัญหาเรื่องหนี้ เราจึงต้องระงับแผนไปก่อน"

ก่อนหน้านี้ไออีซี ต้องประสบกับภาวะหนี้สิน อันเป็นผลมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และการขยายธุรกิจเกินกำลัง ทำให้ไออีซีต้องตัดทิ้งธุรกิจ ไม่ทำเงิน และหันกลับมาค้าโทรศัพท์มือถือ ที่ยังคงทำรายได้ต่อเนื่อง และหลังจากใช้เวลา 3 ปีแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินลุล่วง ไออีซี นำแผนปรับปรุงร้านออกมาปัดฝุ่นใหม่

เงินทุน 400 ล้านบาท จะถูกใช้ในการปรับโฉมสาขาไออีซี เซอร์วิสเซ็นเตอร์ ทั้ง 21 แห่ง ตามแผนงานที่วางไว้ ไออีซีจะขยายสาขาเป็น 42 แห่งในช่วงกลางปี และอีก 200 ล้านบาท จะนำไปใช้ในการตลาด และประชาสัมพันธ์

การปรับโฉมร้าน ด้วยรูปลักษณ์ใหม่ ครั้งนี้ ยังรวมไปถึงการรองรับกับการขยาย ฐานลูกค้าไปยังต่างจังหวัด "เมื่อเครือข่ายครอบคลุมถึง คนก็อยากใช้มากขึ้น"

แผนการขยายสาขา "อีซี่ชอป" ในต่างจังหวัด จะไม่ลงทุนเองทั้งหมด แต่จะทำในลักษณะของ Mobile easy partner program ให้กับดีลเลอร์เก่าแก่ที่ค้าขายกับไออีซีมานาน และมีทำเลที่ดี ซึ่งไออีซีจะไม่ขายแฟรนไชส์ เพราะไออีซีจะลงทุนช่วยตกแต่งร้านให้บางส่วนด้วย

"เราต้องการทำให้ร้านดูง่าย และเป็นกลาง" ศิริชัยบอกความหลากหลายของสินค้าเป็นเรื่องที่จำเป็น พอๆ กับการมีโทรศัพท์ขายทุกเครือข่าย

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ไออีซีได้ขยายบทบาทของการเป็นผู้ค้าโทรศัพท์มือถือ นอกเหนือจากมีขายเครื่องทั้งในระบบ จีเอสเอ็ม และดีแทค ล่าสุดก็คือ การเข้าร่วมกับกลุ่มสามารถเป็นตัวแทนขายโทรศัพท์มือถือระบบ 1900 ให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และเป็นทั้งตัวแทนค้าปลีก และตัวแทนค้าส่งให้กับ ทีเอ ออเร้นจ์

"จุดขายของเราอยู่ที่ทุกแบรนด์ทุกยี่ห้อ และทุกระบบ

สิ่งที่ไออีซีต้องทำ ก็คือ การทำให้ความหลากหลายกลายเป็นความสะดวก ผู้ใช้ ภายในร้านจึงต้องแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะของระบบของผู้ให้บริการ หรือความแตกต่างของราคา โปรโมชั่น ยี่ห้อ ของเครื่องลูกข่าย หรือความแตกต่างของแอพพลิเคชั่น เช่น บริการข้อมูล หรือ non-voice

นอกจากเป็นตัวแทนขายหลัก ไออีซีเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือ ด้วยการนำเครื่องยี่ห้อใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด ทั้ง sendo จากอังกฤษ และ tresor จากเกาหลี และแอลจี เพื่อรองรับกับกลุ่มลูกค้าระดับล่าง

ขณะเดียวกัน ไออีซี ก็ยังคงบทบาทการเป็น service provider ให้กับบริษัทแทค ซึ่งทำให้มีรายได้จากส่วนแบ่งเลขหมายเพิ่มขึ้นในอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการรับช่วงจัดทำระบบบิลลิ่ง และ call center ให้กับโทรศัพท์มือถือระบบ 1900 ให้กับ ทศท. ซึ่งเป็น การทำให้ไออีซีต้องลงทุนปรับปรุงระบบ call center ใหม่ ด้วยเงินทุน 20 ล้านบาท ก็เพื่อรองรับกับธุรกิจเหล่านี้

และนี่ก็คือ การปรับตัวของผู้ค้าโทรศัพท์มือถือ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการขยายตัวของโทรศัพท์มือถือ เป้าหมายของเขาก็คือ การนำเข้าโทรศัพท์เสรี และเมื่อถึงเวลานั้น โอกาสของการเปลี่ยนแปลง จะมาอีกครั้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.