ยอดขายโทรศัพท์มือถือที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
กลายเป็นโอกาสให้กับธุรกิจค้าเครื่องลูกข่ายที่กำลัง
กลายเป็นบริษัทในตลาดหุ้น และยังรวมถึงการกาวไปสู่
การเป็นโอเปอเรเตอร์ในอนาคต
ก่อนหน้าจะมาเป็นเอ็มลิ้งค์ เอเซีย คอร์ปอเรชั่น มณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล
และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวทั้งสองของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นกิจการธุรกิจค้าโทรศัพท์มือถือ
มาตั้งแต่ปี 2533 ไล่เลี่ย กับที่กลุ่มชินคอร์ปได้สัมปทานโทรศัพท์มือถือ
จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)
บริษัท เอส ที เทเลซีสเต็มส์ จดทะเบียนขึ้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2533 ถูกจัด
ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยทำหน้าที่เป็นมาสเตอร์ดีลเลอร์ หรือตัวแทนจำหน่ายหลักให้กับเอไอเอส
"เราทำมาตั้งแต่โนเกียรุ่นแรก ที่มีเสาตรงกลาง และอีกหลายยี่ห้อ ล้วนแต่เคยผ่านมือเรามาแล้วทั้งนั้น"
มณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ วัย
44 ปี ย้อน อดีตให้ฟัง
มณฑาทิพย์ เป็นน้องสาวคนที่ 7 ของ ดร.ทักษิณ ซึ่งมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน
เธอร่วมกับเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นพี่สาวลงขันคนละครึ่ง ทำธุรกิจค้าโทรศัพท์มือถือ
กันมาตลอด จนเยาวภาหันไปเอาดีบนเส้น ทางการเมือง เธอจึงต้องรับหน้าที่เป็นแม่ทัพใหญ่ของธุรกิจ
โดยมีอนุสรณ์ อมรฉัตร น้องเขยคนเล็กช่วยงานดูแลด้านกำหนดนโยบาย และการตลาด
แม้ว่าจะเริ่มต้นขายโทรศัพท์มือถือมานาน และผูกขาดเป็นตัวแทนให้กับเอไอ
เอสมาตลอด โดยมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ๆ เพื่อขายโทรศัพท์มือถือ เช่น วาย.ชินวัตรเทเลเทค
และเคยซื้อกิจการเทคนิคเทเลคอม แต่การดำเนินธุรกิจเวลานั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
ตามขนาดของธุรกิจที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม
การดำเนินธุรกิจในช่วงต้นของเอ็มลิ้งค์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2538 เริ่มจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับซีเมนส์
อยู่เกือบ 3 ปี แต่การทำตลาดยังไม่เติบโตแบบหวือหวา จนกระทั่งเอไอเอสเปลี่ยน
แปลงระบบจัดจำหน่าย ด้วยการยกเลิกระบบมาสเตอร์ดีลเลอร์ โดยเปลี่ยนมาเป็นการเปิดให้มาสเตอร์ดีลเลอร์แต่ละราย
สามารถจำหน่ายโทรศัพท์มือถือได้หลากหลายยี่ห้อมากขึ้น แทนที่จะจำกัดอยู่เฉพาะยี่ห้อที่เอไอเอสกำหนดไว้
สาเหตุที่สองคือ การได้เป็นตัวแทน จำหน่ายให้กับโมโตโรล่า มณฑาทิพย์บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนของเอ็มลิงค์
การได้สิทธิ์เป็นตัวแทนขายให้กับโมโตโรล่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า
ยูคอมและโมโตโรล่า ผูกสัมพันธ์ค้าขายกันมายาว นานตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก
การขายโทรศัพท์มือถือของโมโตโรล่าจึงผูกขาดอยู่กับระบบ 1800 ของแทคมาตลอด
จนในช่วงหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนธุรกิจร่วมกันในโครง การอิริเดียม
บวกกับการเปลี่ยนแปลง นโยบายใหม่ของโมโตโรล่า ที่หันมาให้ความ สำคัญในการบุกตลาดโทรศัพท์มือถือมากขึ้น
จึงไม่ผูกติดอยู่กับยูคอมรายเดียว ซึ่งว่ากันว่า เอ็มลิ้งค์ก็ต้องออกแรงไปไม่น้อย
กว่าที่โมโตโรล่าจะยอมตอบรับข้อเสนอ แต่ จะทำเฉพาะระบบจีเอสเอ็มเท่านั้น
เหตุการณ์ในครั้งนั้น นอกจากจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดโทรศัพท์มือถือ
ที่ทำให้โมโตโรล่าข้ามฝั่งจากระบบ 1800 มาขายในระบบจีเอสเอ็ม ในแง่ของเอ็มลิ้งค์
ก็นับว่าเป็นก้าวกระโดด ที่สำคัญ ที่สามารถขยายส่วนแบ่งตลาด จาก 2% เพิ่มเป็น
25%
ก่อนหน้าเป็นตัวแทนขายให้กับ โมโตโรล่าในปี 2541 เอ็มลิ้งค์เคยเป็นตัว
แทนขายให้กับซีเมนส์ จนกระทั่งตลาดโทรศัพท์มือถือขยายตัว จึงนำยี่ห้ออื่นๆ
เช่น อัลคาเทล Trium และเครื่องคอมพิว เตอร์มือถือ (พีดีเอ) ยี่ห้อ Handspring
เข้ามาทำตลาดเพื่อสร้างทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ยอดขายส่วนใหญ่เกือบ
80% จะมาจากโมโตโรล่า
"ปีที่แล้วเราขายเครื่องของโมโตโรล่าไปเกือบ 1 ล้านเครื่อง" มณฑาทิพย์
เล่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเท่าตัว นับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน
อัตราการเติบโตของยอดขายของเอ็มลิ้งค์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่
ปี 2542 มียอดขาย 1,076 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4,984 ล้านบาท (ปี 2543) เพิ่มเป็น
4,984 ล้านบาท (ปี 2544) และมีการประเมินว่า จะเพิ่มขึ้นไปถึง 20 ล้านเลขหมาย
ในอีก 3 ปีข้างหน้า กลายเป็นโอกาส ของผู้ค้าโทรศัพท์มือถืออย่างเอ็มลิ้งค์
ในการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ
จะว่าไปแล้ว การเข้าตลาดหุ้นของธุรกิจซื้อมาขายไปอย่างเอ็มลิ้งค์ไม่ใช่เรื่องใหม่
เพราะก่อนหน้านี้บริษัทสหวิริยา โอเอ และดาต้าแมท หรือแม้แต่ไออีซี ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นที่เติบโตมาจากธุรกิจซื้อมาขายไป
เป็นเรื่องธรรมดา ที่เอ็มลิ้งค์ต้องเผชิญกับคำถามจากผู้ลงทุน และบรรดานักวิเคราะห์ว่า
บริษัทจะรักษาอัตราการเติบโตของผลกำไรจากราคาโทรศัพท์มือถือที่ลดลง และเตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอนของธุรกิจซื้อมาขายไป
ที่ผู้ผลิตหรือ เจ้าของสินค้า มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนจำหน่ายได้ตลอดเวลาได้อย่างไร
แต่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือไม่เหมือนกับธุรกิจค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ นอกจากต้องพึ่งพาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแล้ว
ซึ่งสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย จะไม่มีระยะยาว แต่จะอยู่ที่ 2 ปี ยังต้องพึ่งพาโอเปอเรเตอร์ที่ให้บริการด้วย
และธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเมืองไทยก็เป็นระบบผูกขาด บริษัทผู้รับสัมปทานจะเป็นทั้งผู้ให้บริการ
ยังเป็นผู้นำเข้าโทรศัพท์มือถือ และจัดจำหน่ายเองด้วย โดยมีทั้งแต่งตั้ง
ตัว แทนจำหน่ายให้ทำตลาดโทรศัพท์มือถือ และการเปิดร้านค้าปลีก
บรรดาซัปพลายเออร์ หรือผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจะไม่มีระบบจัดจำหน่ายของตัวเอง
แต่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบจัดจำหน่ายของโอเปอเรเตอร์
สายสัมพันธ์อันแนบแน่นในฐานะ 1 ใน 3 ตัวแทนจำหน่ายหลักของเอไอเอส และเป็นธุรกิจครอบครัวชินวัตร
จึงเป็นจุดแข็งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเอ็มลิ้งค์และ เป็นสิ่งที่เอ็มลิ้งค์พยายามตอกย้ำมาตลอด
มณฑาทิพย์เชื่อว่า การบริหารต้นทุนให้คงที่ ด้วยการนำระบบไอทีมาใช้ จะรักษาสมดุลของของผลกำไรได้
จากราคาของเครื่องลดลงไปเรื่อยๆ การนำระบบไอทีมาใช้ประโยชน์ในการลดต้นทุนในการทำธุรกิจ
ทั้งระบบหลังบ้าน และจัดจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ก็เพื่อเป้าหมายเหล่านี้
เป้าหมายของการเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่การระดมเงินทุนช่วงสั้นๆ
เพื่อนำเงิน 294 ล้านบาทที่ระดมได้ไปใช้ขยายศูนย์บริการเท่านั้น แต่เป็นการเตรียม
พร้อมสำหรับต่อยอดไปยังการเป็นผู้รับสัมปทาน หรือเป็น co-operator ให้กับบริษัทผู้รับสัมปทานอีกต่อหนึ่ง
เพื่อลดความเสี่ยงในการหารายได้จากการขายเครื่องลูกข่ายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างหลักประกันให้กับธุรกิจในระยะยาว
"เราพร้อมจะเป็นโอเปอเรเตอร์" มณฑาทิพย์ประกาศถึงความพร้อมของการมีศูนย์บริการที่จะเพิ่มเป็น
10 แห่ง มีศูนย์ call center มีเครือข่ายดีลเลอร์ 800 รายทั่วประเทศ และมีสาขาในกรุงเทพฯ
70 แห่ง ที่จะรองรับกับธุรกิจโอเปอเรเตอร์ได้ทันที
โครงการโทรศัพท์มือถือระบบ 1900 ขององค์การโทรศัพท์ฯ ก็คือเป้าหมายที่ว่านี้
การเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ จึงเป็นการเตรียม พร้อมสำหรับเอ็มลิ้งค์ทั้งในแง่ของแหล่งเงินทุน
และยังเป็นการสร้างความโปร่งใสขององค์กรในการเป็นบริษัทมหาชน
แม้จะได้ชื่อว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ รัฐบาล แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นจุดที่เปราะ
บาง ทำให้เอ็มลิ้งค์ต้องตกเป็นเป้าโจมตีเกือบทุกครั้งที่เข้าร่วมประมูลโครงการของภาครัฐ
"การเข้าตลาดหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของ การสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กรสามารถ
ตรวจสอบได้" มณฑาทิพย์บอก