บันทึกคนไทย หนีภัยสงครามเกาะนรก Solomon Island


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

แทบทุกปีที่มีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้าน ได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนเก่าๆ สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เรื่องการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศโซโลมอน ไอส์แลนด์ ทุกครั้งจะต้องได้ยินคำถามว่า ประเทศนี้อยู่ตรงส่วนไหนของโลก ผู้คนเขาทำอะไรกัน และชีวิตความเป็นอยู่ เขาทำอะไรกินกัน ทุกครั้งจะต้อง ใช้เวลาอธิบายยืดยาว บางครั้งถึงกับต้องใช้แผนที่โลก และแว่นขยายประกอบการอธิบาย เพื่อให้เพื่อนฝูงมองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น โซโลมอน ไอส์แลนด์ ประกอบด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่าพันเกาะติดกับประเทศปาปัวนิวกินี และใช้เวลาบินจากรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย เพียงสามชั่วโมงเท่านั้น

บันทึกเรื่องราวการมีชีวิตอยู่ในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ด้อยพัฒนา เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรกที่มีโอกาสมาเหยียบแผ่นดินแห่งนี้ ผู้คนของเกาะโซโลมอนมีอะไรมากมายที่มีเสน่ห์ในตัวเองและน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อทางศาสนาที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด ทุกโบสถ์ในวันอาทิตย์ จะแน่นขนัดไปด้วยผู้คน ลูกเล็กเด็กแดง ที่แต่งตัวสวยที่สุด ด้วยชุดที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในบ้าน

แต่เมื่อมีอะไรที่จะทำให้พวก เขาต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอะไรสักอย่าง ที่พวกเขาต้องการ ชาวโซโลมอนจะทุ่มเท ทุกอย่างเพื่อการต่อสู้ ไม่ว่ามันจะต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

ด้วยสาเหตุนี้เอง ความขัดแย้ง แย่งที่ดินทำกินบนเกาะ Guadalcant ที่ตั้งของเมืองหลวง ระหว่าง Malaitan และ Guaddl canalease ซึ่งดำเนินเรื่อยมาแต่ครั้งอดีต จึงลุกลามมากขึ้น จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

คนไทยคนนี้ ได้มีโอกาสติดตาม สามี ซึ่งทำหน้าที่ด้านการทูตกับรัฐบาลประเทศออสเตรเลียมารับตำแหน่งในโซโลมอน ไอส์แลนด์ และได้มีโอกาสติดตามข่าวคราวความขัดแย้งตลอดมา ด้วยความฝันลมๆ แล้งๆ ว่า สักวันหนึ่ง เมื่อมีโอกาสจะได้เขียนหนังสือ เล่าเรื่องราวและประสบการณ์ที่ตนเองพานพบ ให้กับเพื่อนๆ ร่วมชาติได้รับรู้บ้าง แล้วสวรรค์ก็เข้าข้างเมื่อเรื่องราวความขัดแย้งของคนต่างเผ่าสองเกาะได้ลุกลาม และทวีความความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย จนได้รับความสนใจไปทั่วโลก

รายงานข่าวในเช้าตรู่ วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2000 ของสถานีวิทยุแห่งประเทศโซโลมอน หรือ Solomon Island Broadcasting Corporation เรียกกันย่อๆ ว่า SIBC เกี่ยวกับสถาน การณ์การเข้ายึดศูนย์อาวุธยุทโธปกรณ์ ของกลุ่มกบฏ Matsita Eagle Force สะเทือนขวัญคนทั้งเมือง สำหรับคนต่างชาติที่อาศัยและทำมาหากินอยู่ในประเทศโซโลมอน ข่าวนั้นมันคือเหตุ การณ์ยืนยันว่า ความรุนแรงและความเลวร้ายของความขัดแย้งพร้อมจะเริ่มขึ้นแล้วจากวินาทีนั้น

ผู้คนตื่นตระหนกและจัดเตรียมกระเป๋า เครื่องใช้ที่จำเป็น พร้อมที่จะหนี ออกนอกประเทศกับเที่ยวบินแรกที่อาจมีให้บริการ เหตุการณ์เริ่มส่อเค้าความเลวร้ายขึ้นทุกขณะ เมื่อรายงานข่าว Solomon Airlines (Qantas ร่วมบริการ) ประกาศยกเลิกตารางเที่ยวบินทุกไฟลท์ นอกจากนี้ กบฏ MEF เข้ายึดศูนย์บริการโทรคมนาคม และปิดศูนย์บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศในวันเดียวกัน

สถานทูตทุกแห่งประกาศให้ผู้คนอยู่กับบ้าน ขณะเดียวกันผู้นำกบฏ MEF ชื่อ Ardrew Non ออกประกาศทางวิทยุว่า สถานการณ์จะกลับคืนสู่สภาพปกติเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง มีการเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย องค์กรระหว่างประเทศประณามการกระทำของ MEF และมีประกาศเขตฉุกเฉิน ห้ามคนออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง

วันที่สองของสถานการณ์เริ่มตึง เครียด ธุรกิจทุกแห่งปิดดำเนินการ มีรายงานข่าวทั้งลือและข่าวจริงว่า นายกรัฐมนตรี Bartholomew Ulufaž alu ถูกจับตัวโดยใช้ปืนจี้บังคับให้ลงจากเก้าอี้ กลุ่มกบฏที่เริ่ม ฮึกเหิมมากขึ้น ใช้รถของใครก็ตามที่สามารถหยิบฉวยได้ ออกลาดตระเวนตามท้องถนนเต็มไปด้วยทหารกลุ่มกบฏ เรือลาดตระเวนติดอาวุธที่รัฐบาลออสเตรเลียมอบให้ ถูกนำไปใช้ในการยิงขับไล่กลุ่ม Isatabu Free-dom Movement กองกำลังทหาร Gua-dalcanal ซึ่งเป็นผู้เรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่ผู้คนจาก Malaita ออกไปจาก Guadal-canal ในขณะเดียวกัน สถานทูตทุกแห่งประกาศให้ผู้คนเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสภาวะฉุกเฉิน ที่อาจจะต้องถึงขั้นอพยพคน ออกจากประเทศ

ในฐานะที่เป็นคนไทย ภายใต้สถาน การณ์ที่ถือว่ารุนแรงเช่นนี้ ทำให้เกิดความเป็นห่วงว่าคนไทยไม่ได้มีสถานทูตอยในประเทศนี้ แล้วใครจะเป็นผู้ดูแลคนไทยกว่าสิบชีวิตที่ทำมาหากินอยู่ในประเทศโซโลมอน จึงได้ติดต่อกับสถานทูตไทยในกรุงแคนเบอร์ร่า พร้อมกับส่งรายชื่อคนไทย ทั้งหมด เพื่อให้สถานทูตได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือกับกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้สถานทูตไทยที่แคนเบอร์ร่าได้ให้ความร่วมมืออย่างน่าประทับใจ โดยได้มีการเจรจากับกระทรวงต่างประเทศของออสเตรเลีย ขอความร่วมมือทางด้านอพยพผู้คนจำนวนดังกล่าวด้วย

ยังไม่ทันที่จะได้ติดตามข่าวคราว การเจรจาว่าเป็นอย่างไร เช้าวันต่อมารัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประกาศให้ผู้คนเตรียมพร้อมเพื่อการอพยพออกจากประเทศโดยทางเรือ ซึ่งจะมีเรือรบ Tobruk แห่ง Australian Navy มาถึงในบ่ายวันเดียวกันนั้น สร้างความตระหนกตกใจให้กับคนทั้งเมือง ระบบโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศถูกปิดอีก แผนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ต่างประเทศ Alexander Downer และ Jeff Goeff จะเดินทางมาเจรจาสงบศึกถูกยกเลิก พร้อมกับข่าวลือที่กลุ่มกองทหารปลดปล่อย Guadalcanal เข้ายึด เหมืองทอง Gold Ridge Mine พือสะพัดไปทั่ว ความหวาดกลัวเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการเข้ายึดเหมืองทองจะเท็จจริงเพียงใด และเมื่อนึกถึงสภาพความจริงว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากกองทหารปลดปล่อย Guadalcanal จะนำระเบิด Dynamite จากเหมืองมาใช้ต่อสู้กับ MEF ที่ยึดพื้นที่ ทั้งหมดภายในเมืองหลวงเอาไว้ อะไร จะเกิดขึ้นถ้ามีการนำ Cyanide แค่หยิบมือใส่ปนลงในถังน้ำประปา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมของกองทหารปลดปล่อย Guadalcanal

ผู้เขียนซึ่งจัดกระเป๋าไปพลาง นึกในใจว่า ตัวเองและลูกนั้นจะได้เดินทางอพยพออกนอกประเทศได้อย่างไร้ปัญหา แต่สำหรับกลุ่มเพื่อนคนไทยอีกสิบกว่าชีวิตเล่า อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา เพราะไม่มีใครสามารถช่วยเหลือเขาได้ ในสถานการณ์ที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นนี้ แม้อยากจะอยู่ช่วยเหลือ พวกเขาให้ได้มีความออุ่นใจว่าอย่างไรก็คงได้ออกจากเกาะนรกแห่งนี้ แต่ก็มิอาจ รอได้ เมื่อเรือรบ Tobruk เข้าเทียบท่า เรือ Honiara ในบ่ายวันเดียวกันนั้น ก่อนหิ้วกระเป๋าขึ้นเรือ อดมิได้ที่จะหันไปมองพวกเขา น้ำตาไหลอาบแก้ม ห่วงสามีที่ต้องทิ้งไว้ข้างหลัง ให้เขาได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ ห่วงเพื่อนร่วมแผ่นดินเกิดที่ยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของพวกเขา ตลอดระยะเวลา 5 วัน ที่เรือรบ Tobruk เดินทางจาก Honiara ถึง Cairns เมืองทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลียนั้นมันช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนทรมาน ไหนจะอาการเมาเรือที่ทำให้อาเจียนตลอดเวลา หลับตาทุกครั้งนึกถึง หน้าสามี ลืมตาขึ้นมาเห็นหน้าลูก ก็ต้องทำใจให้เข้มแข็งเอาไว้ ปลอบประโลมเขาว่า เราจะไม่เป็นอะไร และเราจะถึงประเทศออสเตรเลียในอีกไม่ช้านี้แล้ว

วันนี้รายงานข่าวจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ของประเทศโซโลมอน ไอส์แลนด์ โดยอดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน Manasseh Sogovare ถูกรับเลือกให้ได้รับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ยังมีการสู้รบระหว่างกลุ่มกองทหารทั้งสองฝ่ายต่อเนื่องตลอด มา การเจรจาเพื่อหาทางสงบศึก นำโดยองค์กรระหว่างประเทศยังคงใช้ความพยายามอยู่อย่างหนัก ในการนำความสงบสุขกลับมาสู่ประเทศโซโลมอน ไอส์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อนคนไทยที่ยังคงทำธุรกิจอยู่ในประเทศนี้บางส่วนได้ ออกจากประเทศนั้นด้วยเรื่องเล่าอันน่าตื่นเต้นมากมาย

(จงจิตร มีสมบัติ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายวัน" ที่พรหมลิขิตหักเหไปแต่งงานกับเจ้าหน้าที่การทูตออสเตรเลีย และติดตามสามีไปประจำที่เกาะโซโลมอน ในช่วงที่มีวิกฤติการณ์ทางการเมือง เมื่อไม่นานมานี้ )



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.