"ธปท." แจงทุนสำรองสูงรองรับการลงทุนอนาคต


ผู้จัดการรายวัน(11 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"หม่อมอุ๋ย" ระบุไม่จำเป็นต้องนำเงินทุนสำรองมาใช้อย่างน้อยอีก 3 ปี เผยปัจจุบันมีอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจ ของไทยยังมีเสถียรภาพ และพร้อมรองรับการลงทุนที่จะเกิดในอนาคตได้ ด้านศุภวุฒิ สายเชื้อ ชี้อีก 4 ปีข้างหน้า รัฐต้องใช้เงินดอลลาร์มากในการนำเข้าสินค้าทุน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ถึงกรณีที่นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา
ด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ควรอยู่ในระดับ 3.2 หมื่นล้านดอลลาล์สหรัฐ จึงจะเหมาะสม ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลอยู่ และจะเกินดุลอย่างต่อเนื่องไปอีก 3 ปี

ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลและประเทศไทยมีความจำเป็นต้องลงทุน โดยการนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิตจากต่างประเทศ ภาครัฐและเอกชนจึงค่อยนำเงินบาทมาแลกเงินดอลลาร์จากทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามา เพราะทุนสำรองของไทยมีอยู่สูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากทำให้หนี้ต่างประเทศไม่เพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทไม่ผันผวน

อย่างไรก็ตาม ธปท.จะพิจารณาไม่ให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น จากระดับปัจจุบันที่ทุนสำรองสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 4 เท่า โดยทุนสำรองทางการระหว่างประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นมีอยู่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจของไทยมีเสถียรภาพ และมีความแข็งแรงอยู่มาก

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่าในระยะเวลาอีก 3 ปี ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลก็เชื่อว่าการสะสมทุนสำรองของไทยก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อมีเงินดอลลาร์เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ธปท.ก็จำเป็นต้องดูดซับเงินดอลลาร์ดังกล่าวบางส่วนเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ที่มีความจำเป็นในอนาคต รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน เช่น การสร้างโครงการไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับใกล้เต็มกำลังการแล้ว และหากเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม และเชื่อว่าในขณะนี้ หากรัฐต้องการระดมทุนก็สามารถออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อขายให้แก่ประชาชนได้ เพราะยังมีความต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก โดยไม่จำเป็นจะต้องมาขายให้ ธปท. เพื่อดึงทุนสำรองออกไปใช้

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของธปท.ว่า ต้องการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินบาทมากน้อยเพียงใด ซึ่งหาก ธปท.ให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทมาก ก็อาจจะต้องใช้เงินสำรองระหว่างประเทศไปดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินสำรองลดลงได้ เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ความจำเป็นที่จะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในการแทรกแซงค่าเงินบาทมีน้อยลง เพราะเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในอีก 4 ปีข้างหน้า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐจำนวนมาก เพราะต้องการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะใช้เงินออมในประเทศที่มีมากกว่า 300,000 ล้านบาทมาใช้ บวกกับการกระตุ้นให้มีการส่งออกมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อยคือ ประมาณร้อยละ 2-3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก็ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.