นุสรณ์ พจน์พิพัฒน์ เบื้องหลังปลาดาว ออฟฟิศ

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

กว่าจะมาเป็นโปรแกรมเมอร์ ที่เป็นกำลังสำคัญพัฒนาโปรแกรม "ปลาดาว" และถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 25 นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จของเอเชีย นุสรณ์เคยใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีที่มีรายได้เดือนละ 4 พันบาท

ก่อนหน้าจะมาใช้ชีวิตเป็นโปรแกรม เมอร์มืออาชีพเต็มตัว นุสรณ์ใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีสลับกับการทำงานโปรแกรมเมอร์ ในบริษัทอยู่หลายปี

นุสรณ์เล่นดนตรีมาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จาก นั้นบินไปเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์ไซน์ ที่ Leney College มหาวิทยาลัยเล็กๆ ในสหรัฐอเมริกา

หลังจากเรียนจบ เขาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทเอกชน ขณะเดียว กันก็ใช้ชีวิตเป็นนักดนตรี เคยร่วมอยู่ในทีม ทำเพลงประกอบภาพยนตร์คนเลี้ยงช้าง ออกอัลบั้มร่วมกับชักกี้ ธัญรัตน์ แอนด์บลูแพลเน็ท จนกระทั่งได้มาเป็นมือคีย์บอร์ด ให้กับวง The Olarn Project

นุสรณ์ใช้เวลา 2 ปี กับการเล่นดนตรีประจำที่ร็อกผับ ที่เล่นแนวเฮฟวี่ฮาร์ดร็อก อาทิตย์ละ 2 วัน มีรายได้เดือน ละ 4,000 บาท แม้จะได้ทำงานที่ชื่นชอบ แต่เมื่อรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ทำให้เขาต้องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง

"ผมบอกตัวเองอย่างนี้ไม่ไหว" นุสรณ์เล่า "อย่าว่าแต่ค่าน้ำมันรถเลย ผมต้องกินหมี่จังทุกวัน เพราะมันถูกกว่ายี่ห้ออื่นๆ"

จากนั้นเขาก็ตัดสินใจยุติอาชีพนักดนตรี และหันกลับไปใช้ชีวิตเป็นโปรแกรม เมอร์อีกครั้ง "ผมเป็นคนมีเป้าหมาย ทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่ จึงต้องเลือก"

เป้าหมายของเขาในการเป็นโปรแกรมเมอร์ คือ การมีทีมงานที่จะเขียน โค้ดร่วมกัน แทนที่จะต่างคนต่างพัฒนาไม่สนใจที่จะแชร์ความรู้ร่วมกัน

ระหว่างนั้น ไมโครซอฟท์มีแผนที่จะพัฒนาโปรแกรมออฟฟิศ 95 ให้เป็นภาษาไทย เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในทีมงานคนไทย ที่ต้องบินไปทำงานในสำนัก งานใหญ่ไมโครซอฟต์ที่เมืองเรดมอนด์ ใช้เวลาพัฒนา 5 เดือน บินกลับมาพัก 1 เดือน จากนั้นบินกลับไปทำงานต่ออีก 2 เดือน

นุสรณ์ได้เข้าร่วมเป็นทีมพัฒนาโปรแกรม Window 95 service release 1 ให้เป็นภาษาไทย เขายังเป็นผู้พัฒนาโปร แกรม Internet explorer 2.0 ภาษาไทย ซึ่งเป็นเบราเซอร์ภาษาไทยตัวแรก

หลังประสบการณ์ครั้งนี้ เขาจึงได้เลือกให้เข้าร่วมในการพัฒนาโปรแกรมออฟฟิศ 95 ภาษาเวียดนาม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ทำให้เขาได้รับเลือกจากไมโครซอฟท์ให้เป็น Developer lead พัฒนาโปรแกรมออฟฟิศ 97 เป็นภาษาไทย ทำงานร่วมกับคนไทยอีก 18 คน

จนกระทั่งไมโครซอฟท์มีแนวคิดที่ต้องการรวมโค้ดภาษาไทยเข้ากับโปรแกรม ออฟฟิศ เรียกว่ามีซีดีแผ่นเดียว ก็สามารถใช้ภาษาอะไรก็ได้ ครั้งนี้ไมโครซอฟท์ไม่ต้องการจ้างเขาเป็นโปรเจกต์เหมือนเคย แต่ต้องการให้ทำงานเป็นพนักงานประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่

นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ หุ้น อีกพันกว่าหุ้นของไมโครซอฟท์แล้ว บวก กับข้อเสนอของไมโครซอฟท์อีกคือ หลังจากทำงานครบ 3 ปี ไมโครซอฟท์จะช่วยทำใบอนุญาตทำงานในสหรัฐฯ ตลอดชีพ หรือกรีนการ์ด

"พอมาถึงตรงนี้ผมก็มานั่งคิด เมือง ไทยเวลานั้นก็กำลังแย่ แต่ไมโครซอฟท์ขายโปรแกรมออฟฟิศ ได้ 600 ล้านบาท และเงินนั้นก็ส่งกลับไปอเมริกา"

นุสรณ์ตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนอของไมโครซอฟท์ในครั้งนั้น "มีคนถามผมว่า แล้วจะทำอะไรต่อ" ความคิดของเขาเวลานั้น คือ ต้องการเห็นโปรแกรมภาษาไทย เช่นเดียวกับ CU-word หรือ ราชวิถีเวิร์ด หรือ RW-word เหมือนอย่างที่เคยมีมาในอดีต

เขาตัดสินใจนำเงินเก็บสะสมที่มีอยู่ ตั้งบริษัทพัฒนาโปรแกรม ทำได้ไม่ถึง 1 ปี เต็มดี ก็ต้องปิดกิจการ "เวลานั้นยังจับต้นชนปลายไม่ถูก" นุสรณ์ให้เหตุผล

นุสรณ์กลับมาตั้งต้นการเป็นลูกจ้าง อีกครั้ง เขากลับมาทำงานอยู่ในทีมพัฒนาโปรแกรมแบบสำรวจทางการเมืองให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยว ชาญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ทำอยู่ได้ไม่นานก็ต้องออก เนื่องจากหัวหน้าทีมพัฒนา คือ ธวัช วิชัยดิษฐ์ เสียชีวิต

"ตอนนั้นมีเงินเหลืออยู่ 5,000 บาท กับคอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง" นุสรณ์ใช้อุปกรณ์ที่เหลืออยู่กลับมารับงานโปรแกรม เมอร์อีกครั้ง ได้งานพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้กับ ตู้สติ๊กเกอร์ ใช้เวลาพัฒนา 2 เดือน ได้เงินมา 2 แสนบาท

พอดีกับมีผู้แนะนำให้ไปพัฒนาปรับปรุงระบบขายตั๋วออนไลน์ผ่านคอมพิว เตอร์ โทรศัพท์มือถือ ให้กับโรงหนังอีจีวี เมื่อมีงานเข้ามากขึ้น เขาจึงตัดสินใจเปิดบริษัทอีกครั้ง และที่มาของบริษัทอัลกอริธึมส์ก็เริ่มต้นขึ้นจากทีมงาน 4 คน

จากนั้นก็ขยับขยายมาตั้งสำนักงาน บนตึกซอฟต์แวร์ปาร์ค และหันมาเอาดีกับการพัฒนาโปรแกรมเกม กราฟิก ได้งานพัฒนาโปรแกรมเกมให้เป็นภาษาไทย มีทั้งหมด 6 เกมที่วางขายอยู่ในตลาด เช่น ฟาโรห์ คลีโอพัตรา เลโก้เลเซอร์ เลโก้ครีเอเตอร์ เป็นต้น

แม้ธุรกิจจะเริ่มไปได้ดี แต่ความคิด ในการพัฒนาภาษาไทยยังคงอยู่ พอดีกับช่วงเวลานั้นซันไมโครซิสเต็มส์ ออกโปรแกรมสตาร์ออฟฟิศให้ดาวน์โหลดใช้ฟรี นุสรณ์จึงติดต่อไปทางซันไมโครซิสเต็มส์ เพื่อขอพัฒนาโปรแกรม สตาร์ออฟฟิศ ให้เป็นภาษาไทย

"ผมขอทำฟรี แต่มีข้อแม้ว่า ทาง ซันต้องแจกฟรี" นุสรณ์บอก

ปรากฏว่า สำนักงานของซันในไทย สนใจแนวคิดของเขา แต่ใช้วิธีเปิดคัดเลือกทีมงาน ผลปรากฏคือ ทีมงานอัลกอริธึมส์ได้รับคัดเลือก ซึ่งน่าจะมา จากประสบการณ์ในการพัฒนาโปรแกรมออฟฟิศของไมโครซอฟท์ของเขา

แต่สำหรับส่วนตัวนุสรณ์ งานครั้งนี้ท้าทายมากกว่าในอดีต เพราะสิ่งที่เขาต้องทำ ก็คือ การพัฒนาโปรแกรมสตาร์ ออฟฟิศให้สามารถทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ 3 ประเภท คือ ไมโครซอฟท์ โซราลิส และลีนุกซ์

เขาใช้เวลากว่า 6 เดือน จนกลายมาเป็นโปรแกรมปลาดาวออฟฟิศ หรือ สตาร์ออฟฟิศ ภาคภาษาไทย ที่ให้ทดลองใช้ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

"ประสบการณ์ของผมคือ การที่ต้องทำงานให้ได้ทั้ง 3 platform นี่คือ ความยาก"

แม้โปรแกรมปลาดาวจะเสร็จสมบูรณ์ แต่นุสรณ์และทีมงานยังต้องทำงานต่อเนื่องไปอีก 1 ปีเต็มตามข้อตกลง เพื่อดูแลระบบและปรับปรุงแก้ไข เนื่อง จากหลังจากให้ใช้ฟรีแล้ว ซันจะเปิดเว็บไซต์ปลาดาว เป็นคอมมูนิตี้ที่จะเปิดรับข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

"ความต่อเนื่อง" เป็นเรื่องสำคัญ แผนต่อไปของเขาก็คือ การพัฒนาโปรแกรม ปลาดาวให้สามารถใช้กับระบบปฏิบัติการของแมคอินทอช

ก่อนหน้านี้เขาได้รับคัดเลือกจากนิตยสารเอเชียวีค ให้เป็น 1 ใน 25 ผู้บริหารธุรกิจรุ่นใหม่ในเอเชีย ซึ่งในจำนวนนั้นมีทั้ง ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน, โชค บูลกุล การได้รับคัดเลือกในครั้งนั้นจึง เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ "มีคนถามผมว่า คิดว่าอะไรทำให้ผมได้รับเลือก" นุสรณ์เล่า

"อาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนประหลาด ผมเป็นประเภทเฮฟวี่ เมททัล" เขาเปรียบเปรยบุคลิกตัวเองเหมือนกับแนว เพลง ที่ทำให้เขาแตกต่างไปจากโปรแกรม เมอร์ทั่วไป

แม้กระทั่งในการพัฒนาโปรแกรมปลาดาว "ผมไม่สนใจว่า ซันจะยังไงก็ตาม ผมไม่ได้ทำเพราะอยากได้เงิน ผมพูดบนเวทีเลยว่า ถ้าซันยืนยันจะแจกฟรี ผมก็จะดูแลโปรแกรมปลาดาวไปตลอด"

"และต่อให้ผ่านไปอีก 10 ปีข้าง หน้า หรือไม่มีคนใช้เลย ผมก็ยังดูแลคอมมูนิตี้ ดูแลโปรแกรมตัวนี้อยู่" นี่คือความคิดของเขา

วันนี้ นุสรณ์กลายเป็นที่รู้จัก เป้าหมายและโอกาสของเขามีมากขึ้น และนั่นจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งของเขา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.