ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา ชื่อของธนาคารศรีนคร ได้หายไปจากสารบบของธนาคารพาณิชย์ไทย
จากการตัดสินใจของทางการ โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ยุบไปรวมกับธนาคารนครหลวงไทย
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของระบบธนาคารพาณิชย์ให้เสร็จสิ้นลงไป เพราะตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติทางการเงินเมื่อเกือบ
5 ปีก่อน ในระบบธนาคารพาณิชย์ ยังเหลืออยู่อีกเพียง 2 แห่งคือ ศรีนคร และนครหลวงไทยเท่านั้น
ที่ยังมีปัญหาอยู่
ปฏิบัติการยุบรวมธนาคารพาณิชย์ทั้ง 2 แห่ง กระทำอย่างรวบรัด และรวดเร็ว
เพราะเพียงการแถลงข่าวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าแบงก์ชาติ ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่
29 มีนาคม ถัดมาอีก 2 วัน ทรัพย์สิน และบุคลากรของธนาคารศรีนคร ก็ถูกเปลี่ยนมือ
ให้เป็นของธนาคารนครหลวงไทย โดยทันที
รูปแบบการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ โดยการยุบรวมธนาคารที่มีปัญหา
ไปรวมกับธนาคารที่มีฐานะดีกว่า ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จของทางการไทย เพราะตั้งแต่ระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มประสบกับปัญหาครั้งแรกๆ
เมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ได้ใช้รูปแบบนี้มาตลอดเป็นส่วนใหญ่
มีการยุบธนาคารมณฑล ไปรวมกับธนาคารเกษตร ก่อนที่จะมาเป็นธนาคารกรุงไทย
เมื่อธนาคารเอเซียทรัสต์มีปัญหาถูกทางการยึดมาเป็นธนาคารสยาม หลังดำเนินกิจการมาได้ไม่นาน
ก็ถูกสั่งยุบให้ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย ที่มีฐานะดีกว่า
หลังวิกฤติการเงินปี 2540 มีการยุบรวมสถาบันการเงินหลายแห่ง เช่น ธนาคารมหานคร
ถูกยุบรวมไปอยู่กับธนาคารกรุงไทย ธนาคารสหธนาคาร ยุบรวมกับบริษัทเงินทุน
4-5 แห่ง เป็นธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารแหลมทอง ยุบไปรวมกับธนาคารรัตนสิน
เป็นหลักการเดียวกัน แต่อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด และกระบวนการทางบัญชี
สำหรับกรณีของธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารศรีนครนั้น ก่อนจะถึงกระบวนการยุบรวมในครั้งนี้ทางการพยายามหาทางแก้ปัญหาแล้วหลายวิธี
ทั้งการเร่ขาย ซึ่งก็เคยมีผู้ลงทุนให้ความสนใจ โดยเฉพาะธนาคารศรีนคร เคยมีการตกลงเบื้องต้นกับธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แล้ว
แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถเจรจาในข้อสรุปได้
กระบวนการแก้ปัญหาล่าสุด คือการให้ธนาคารทั้ง 2 แห่ง โอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปไว้ยังบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี
ทำให้ขนาดของธนาคารทั้ง 2 แห่งเป็นธนาคารที่มีแต่สินทรัพย์ดี แต่ลดขนาดลงมาเหลือสินทรัพย์เพียงแห่งละประมาณ
60,000 ล้านบาท ก่อนที่เปิดทางให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เข้ามาถือหุ้นใหญ่
แห่งละ 51% แต่ถึงที่สุด ทางการก็ไม่สามารถให้ความมั่นใจถึงการรับประกันความเสียหายในภายหลังให้กับ
กบข.ได้ การตกลงเข้าถือหุ้นใหญ่ของ กบข.ครั้งนี้จึงไม่ประสบผลสำเร็จ
การตัดสินใจยุบรวมธนาคารทั้ง 2 แห่ง จึงจำเป็นต้องทำก่อนวันที่ 30 มีนาคม
ซึ่งเป็นวันที่เอ็มโอยูที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง
2 ธนาคาร กับ กบข.จะหมดอายุลง
สำหรับกระบวนการยุบรวม ธนาคารศรีนคร กับธนาคารนครหลวงไทยในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น
3 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรกวันที่ 1 เมษายน ธนาคารศรีนครจะโอนสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันทั้งหมด
ในราคาตามบัญชี ณ วันที่ 31 มีนาคม ให้ธนาคารนครหลวงไทย รวมทั้งเปลี่ยนสาขาและสำนักงานทั้งหมด
เป็นสาขาและสำนักงานธนาคารนครหลวงไทย พนักงานทั้งหมดของธนาคารศรีนครจะรวมเป็นพนักงานธนาคารนครหลวงไทย
และปฏิบัติงานทุกอย่างตามปกติ ณ สาขา หรือสำนักงานเดิม แต่ใช้ชื่อพนักงานธนาคารนครหลวงไทย
และ ปฏิบัติทุกอย่างตามปกติ ณ สาขาหรือสำนักงานเดิม แต่ใช้ชื่อธนาคารนครหลวงไทยในการดำเนินธุรกิจ
ขั้นตอนที่สอง เป็นการดำเนินการเชื่อมโยงหรือรวมระบบการปฏิบัติงานต่างๆ
ของธนาคารทั้งสองเข้าด้วยกัน เช่น ระบบโอนเงิน ระบบชำระเงิน ระบบบัตรเครดิต
และระบบบัญชีหรือข้อมูล จนสามารถทยอยรวมกันเป็นระบบธนาคารเดียวกันได้อย่างสมบูรณ์
ซึ่งคาดว่ากระบวนการนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี
ขั้นตอนที่สาม เป็นการปรับปรุงนโยบายและกลยุทธ์ของการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งปรับปรุงภาพลักษณ์ใหม่ของธนาคาร
ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถเตรียมการควบคู่ไปได้ทันทีในขณะนี้ เพื่อให้พร้อมที่จะปฏิบัติได้ทันทีเมื่อรวมระบบต่างๆ
ภายหลังการยุบธนาคารศรีนครไปรวมกับธนาคารนคร หลวงไทยแล้ว จะทำให้ธนาคารนครหลวงไทยใหม่เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับที่
5 ของประเทศ โดยมีขนาดสินทรัพย์ รวม 489,300 ล้านบาท เงินกองทุน รวม 22,900
ล้านบาท (เป็น ของธนาคารศรีนคร 9,800 ล้านบาท และนครหลวงไทย 13,100 ล้านบาท)
เงินฝาก 4.36 แสนล้านบาท สินเชื่อ ก่อนหักสำรอง 1.34 แสนล้าน หลังหักสำรอง
1.2 แสนล้านบาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์ตามมาตรฐานบีไอเอส 16.21%
โดยมูลค่าตามบัญชีของธนาคารทั้งสอง ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2545 ธนาคารนครหลวงไทย
17 บาทเศษ ธนาคารศรีนคร 10.80 บาท
จำนวนพนักงานของธนาคารนครหลวงไทยใหม่จะมีทั้งสิ้น 7,500 คน เป็นของธนาคารนครหลวงไทยเดิม
4,000 คน และธนาคารศรีนคร 3,500 คน
"การยุบรวมทั้ง 2 ธนาคารครั้งนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ให้เหตุผลกับที่ประชุมผู้จัดการธนาคารศรีนคร
เพื่อลดกระแสกดดันที่ว่าอาจต้องมีการปรับลดพนักงานลงในภายหลัง เพราะจำนวนพนักงานที่มีการประเมินไว้
ควรมีเพียง 5,000 คน
การขยายธุรกิจตามมุมมองของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร คือเพื่อให้ธนาคารมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
โอกาสการปล่อยสินเชื่อเพื่อแข่งขันกับธนาคารที่ใหญ่กว่าสามารถทำได้โดยง่าย
เพราะหากปล่อยให้ทั้ง 2 ธนาคารทำธุรกิจต่อไป โดยมีฐานธุรกิจขนาดเล็ก ย่อมเป็นการเสียเปรียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
ซึ่งเป็นคู่แข่ง
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินตามมาภายหลังว่านอกจากการเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจแล้ว
การยุบรวมธนาคารศรีนคร กับธนาคารนครหลวงไทยเข้าด้วยกัน ยังมีผลให้อำนาจการต่อรองของทางการ
ในการที่จะขายกิจการของธนาคารนครหลวงไทยใหม่ มีมากขึ้น โดยเฉพาะการต่อรองทางด้านราคา
เพราะการขายธนาคารขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว น่าจะได้ราคาดีกว่าการซอยย่อยขายธนาคารขนาดเล็ก
2 แห่ง ซึ่งทางการเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากการถูกกดราคาอย่างมากในช่วง 2
ปีก่อนหน้านี้
มีการคาดการณ์ว่ากระบวนการยุบรวมทั้ง 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ
1 ปี ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น สภาพเศรษฐกิจ และบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยน่าจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน
สิ่งที่ทางการตัดสินใจทำครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการลดกระแสกดดันจากพนักงาน
และกระแสการเมืองแล้ว ยังเป็นการตัดสินใจที่เล็งผลทางธุรกิจเข้าไปด้วย
คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งจะมองเห็นช่องทางเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่คนที่เคยมีพื้นฐานมาจากการเป็นนักธุรกิจแล้ว
คงมองไม่เห็น