MFCโรดโชว์ตะวันออกกลาง ดึงลงทุนเมกะโปรเจกต์


ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

MFC เดินสายโรดโชว์ "บาห์เรน" หวังดึงกลุ่มทุน "ตะวันออกกลาง" ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า และเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่จะมีขึ้นในช่วง 4-6 ปีข้างหน้า เผยรูปแบบการลงทุน มีทั้งการเข้ามาร่วมทุนการทำ "ซีเคียวริไทเซชัน" ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะรัฐบาลส่งเสริมการออม หลังรัฐบาลมีนโยบายลงทุนโครงการสาธารณูปโภคเฉลี่ยกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) "MFC" และกรรมการคณะทำงานระดมทุนโครงการรถไฟฟ้า เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ.ที่ผ่านมา บลจ.เอ็มเอฟซีในฐานะผู้บริหารกองทุนเปิด เอ็มเอฟซี อิสลามิก ฟันด์ (MFC Islamic Fund หรือ MIF) จะเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ให้กับนักลงทุนที่ประเทศบาห์เรน ได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน และชักชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนผ่านกองทุน MIF

ทั้งนี้ กองทุน MIF เป็นกองทุนเปิด โดยมีมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มี 343.51 ล้านบาท มูลค่าหน่วยลงทุน 10.1984 บาท ราคาขาย 10.1985 บาท

กองทุน FIF จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและสถาบันการเงิน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, กองทุนประกันสังคม และธนาคารทหารไทย จำกัด เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนา และอยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการศาสนา (Shariah Committee) โดยเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2547

"การเดินทางไปบาห์เรนครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการชักชวนนักลงทุน ในตะวันออกกลางเข้ามาลงทุนในกองทุนอิสลามิกฟันด์ และรวมถึงลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่จำเป็นต้องมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนผ่านการร่วมลงทุน หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน)" นายพิชิตกล่าว

นายพิชิตกล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของภาครัฐในช่วง 4-6 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าสูง ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องระดมเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่ง ระบบการจัดการน้ำ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้าคณะทำงานระดมทุนโครงการรถไฟฟ้าวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งมีนายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการจัดประชุมร่วมกับสภาอุตสาหกรรม และสภาหอการค้าในประเทศกลุ่มอาหรับ 57 ประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกลุ่มนักลงทุนอาหรับมีความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุน

"การไปโรดโชว์ครั้งนี้ นักลงทุนจะเห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน"

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานระดมทุนโครงการรถไฟฟ้าวงเงิน 5 แสนล้านบาท ได้สรุปผลการศึกษาแนวทางการระดมทุนในเบื้องต้น ประกอบการทำซีเคียวริไทเซชัน การหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่บริเวณโครงการการหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ

โดยคาดว่า หลังจากการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะมีการเสนอแนวทางระดมทุนให้รัฐบาลพิจารณา โดยจะเสนอให้มีการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) จัดตั้งองค์การขึ้นมาระดมทุนโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะอยู่ในรูปขององค์การมหาชน แต่รัฐบาลจะไม่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งสาเหตุที่ต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. เนื่องจากการตั้งองค์การดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการออก พ.ร.ฎ.ไปแล้วระยะหนึ่งจะมีการเสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อทำให้องค์การเป็นองค์การที่มีหน้าที่ระดมทุนอย่างถาวร

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า การลงทุนของภาคเอกชนไทยที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว ได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตเป็นผลจากการปรับเพิ่มของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาครัฐก็มีแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โดยมูลค่า การลงทุนเฉลี่ยของโครงการต่างๆ ดังกล่าวระหว่าง ปี 2548-2551 อาจจะสูงถึงปีละ 377,000 ล้านบาท โดยปี 2548 คาดว่าการลงทุนจะยังคงเป็นแรงหนุนหลักให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกและการบริโภคจะชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งหากการขยายตัวของการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างที่คาด จะมีผลให้สัดส่วนของการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อาจจะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 28.3% ในปี 2548 และอาจขึ้นแตะระดับ 30.4% ต่อจีดีพีในปี 2549 ในขณะที่สัดส่วนการออมต่อจีดีพีค่อนข้างจะทรงตัวใกล้เคียงระดับ 31% ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าในอนาคตการออมคงจะลดลงมาต่ำกว่าการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาการลดลงของช่องว่างการออมและการลงทุน ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการออมมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในปีนี้ น่าที่จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการออมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวผ่านการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเงินได้ที่เป็นดอกเบี้ย เงินฝากธนาคารในประเทศประเภทเงินฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ในจำนวนรวมกันไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี

ตลอดจนแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนเงินออมกลางคาดว่าจะช่วยเพิ่มการออมของระบบเศรษฐกิจให้สามารถรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวในระยะข้างหน้าได้ แต่การเพิ่มอัตราการออมของระบบเศรษฐกิจไทยยังเป็นปัญหาเร่งด่วนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ที่ต้องเร่งจัดการ เพราะหากปล่อยไว้เนิ่นนานแล้วก็อาจจะสะสมจนกลายเป็นปัญหาเสถียรภาพอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.