|
แบงก์ชาติรอจังหวะทำกำไรก่อนขายหุ้นUOBRให้กลุ่มยูโอบี
ผู้จัดการรายวัน(9 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ว่าฯแบงก์ชาติยืนยันกองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมขายหุ้นธนาคารยูโอบีรัตนสิน ที่ถืออยู่ทั้งหมด 16% ให้กลุ่มยูโอบี สิงคโปร์ แต่ต้องมีกำไรจากการขายหุ้น และไม่มีปัญหาในกรณีที่จะยุบยูโอบีรัตนสิน หลังจากรวมกิจการกับแบงก์เอเชีย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย ว่าจะเพิกถอนกิจการธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ UOBR หลังจากโอนกิจการรวมกับธนาคารเอเชีย จำกัด (BOA) ว่า ในฐานะที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นในธนาคาร ยูโอบีรัตนสิน คงจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากทางธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ เข้ามาเจรจาขอซื้อหุ้นทั้งหมดจากกองทุนฟื้นฟูฯ ทุกอย่างเป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่การที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะพิจารณาขายหุ้นออกไปนั้นก็ต่อเมื่อมีกำไรเท่านั้น
"ไม่มีปัญหาอะไร ธนาคารทั้ง 2 แห่ง ก็แจ้งแล้วว่าจะควบกิจการกัน ดังนั้นก็แค่มาขอซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากกองทุนฟื้นฟูฯ เท่านั้น ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ จะขายหุ้นในช่วงที่มีกำไร ถ้ายังไม่ได้กำไร ก็ไม่ขาย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธนาคารยูโอบี รัตนสิน (UOBR) ได้ควบรวมกิจการกับธนาคาร เอเชีย (บีโอเอ) ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ส่วนกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้นอยู่ในธนาคาร ยูโอบีรัตนสินประมาณ 16% จากการเข้าไปช่วยเหลือทางการเงินมาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทั้งนี้ ล่าสุดทางธนาคารยูโอบีสิงคโปร์ ยังไม่ได้มีการติดต่อเข้ามายัง ธปท. เพื่อขอเจรจาซื้อหุ้นแต่อย่างใด
ในส่วนของการดำเนินงาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปร่วมประชุมกับธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ของเอเชียมา ซึ่งกลุ่มประเทศในเอเชียได้มีการหารือเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางด้านการเงินร่วมกัน แต่ภายหลังการประชุมยังไม่ได้มีข้อตกลงที่จะปฏิบัติร่วมกันอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการหารือในเบื้องต้นเท่านั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคณะกรรมการธนาคารทั้ง 2 แห่งได้อนุมัติแผน การรวมกิจการฉบับสุดท้าย โดยมีโครงสร้างการ รวมกิจการแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนหลัก จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม - กรกฎาคม 2548
ขั้นตอนที่ 1 UOB เข้าซื้อหุ้นของ UOBR จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 83.77% ส่วนที่เหลือถือโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 16.22% และรายย่อยประมาณ 1,100 ราย 0.01% ซึ่ง UOB เสนอ ที่จะทำคำเสนอซื้อเพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่ง UOBR จะทำการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อให้ความเห็นต่อคำเสนอซื้อหลักทรัพย์
ขั้นตอนที่ 2 หลังจากการเพิกถอนหุ้น UOBR แล้ว BoA จะเสนอซื้อหุ้น UOBR ทั้งหมดที่ถือโดย UOB การซื้อหุ้นดังกล่าว BoA จะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนและออกหุ้นใหม่ให้กับ UOB เพื่อเป็นค่าตอบแทน โดยเป็นการเสนอ ขายหุ้นแบบ Private Placement ซึ่งอัตราส่วน การแลกหุ้นจะได้มีการกำหนดต่อไป
ขั้นตอนที่ 3 หลังจากดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 แล้ว BoA จะถือหุ้น UOBR เป็นจำนวนมากกว่า 99.99% ทำให้ UOBR กลายเป็น บริษัทย่อยของ BoA และ UOBR จะเสนอให้ทำการโอนกิจการ ทรัพย์สิน และพนักงานทั้งหมด ให้ BoA เพื่อตอบแทนการที่ BoA จะเข้ารับหนี้สิน/ความรับผิดชอบทั้งหมดของ UOBR โดยคาด ว่าวันที่มีผลเป็นการโอนธุรกิจจะเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2548 และ BOA จะสามารถ เริ่มประกอบธุรกิจที่ได้รวมกันได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไป
ขั้นตอนสุดท้าย ดำเนินการชำระบัญชี UOBR โดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่เหลืออยู่ใน UOBR นอกเหนือไปจาก BoA จะได้รับเงินคืนทุนและส่วนเกินทุน ตามสัดส่วนจากการดำเนินการเลิกกิจการ และการชำระบัญชี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|