นารายณ์ พิซเซอเรีย พิซซ่าของคนไทย

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อกระแสแห่งอารยธรรมตะวันตกเข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น ผู้บริหารระดับสูงของโรงแรมนารายณ์ "พิเชษฐ์ นิธิวาสิน" ได้วางแผนขยายการให้บริการของร้านนารายณ์พิซเซอเรียพาสต้าช็อป เมื่อต้นปี 2530 จากนั้นมาในหมู่ลูกค้าต่างรู้จักกันในชื่อนารายณ์ พิซเซอเรีย

ช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจ มีนโยบายหลักเพียงเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าชาวต่างชาติที่มาใช้บริการของโรงแรม รวมถึงลูกค้าคนไทยที่อยู่ย่านสีลมเป็นส่วนใหญ่ และกว่านารายณ์พิซเซอเรีย จะตัดสินใจขยายสาขาออกมากินเวลานานถึง 18 ปี แต่ก็เปิดเพิ่มเพียง 5 สาขาเท่านั้น

"ความจริงพวกเรามาทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี่เอง" อภิชาติ เธียรพิรากุล ผู้จัดการทั่วไปนารายณ์ พิซเซอเรีย บอก "เราเริ่มมีกำไรและอยู่รอดได้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว"

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจากความพยายามที่จะลดต้นทุนด้วยการพยายามลดขนาดพื้นที่สาขาลง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการตลาดจากเดิมที่ให้บริการลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงและราคาสินค้าค่อนข้างสูง

"เราลดราคาพิซซ่าลงมา 50% เพื่อดึงคนเข้ามา ผลที่ได้ คือ การต่อคิวของลูกค้า" อภิชาติกล่าว

สำหรับการขยายกลุ่มลูกค้านั้น พิซซ่า ยี่ห้อคนไทยดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 30-40 ปี ดังนั้นในปีที่ผ่านมา นารายณ์ พิซเซอเรีย ได้เปลี่ยนโฉมร้านแบบนั่งทานใหม่หมดด้วยการเพิ่มสีสันให้ดูสดใสขึ้น เน้นความสะดวกสบายโดยทำการเปลี่ยนเก้าอี้ให้เป็นแบบที่มีโซฟาเพื่อเอาใจลูกค้าวัยรุ่น ส่งผลให้ได้รับส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้นจากที่เคยมีเพียง 4% ในปี 2541 ขยับขึ้นเป็น 5% และ 8% ในปี 2542 และ 2543 ตามลำดับ ส่วนปีที่ผ่านมาสร้างความประหลาดใจให้กับวงการเมื่อแย่งส่วนแบ่งมาได้ถึงประมาณ 15%

"ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนปัจจุบันเราเติบโตในตลาดเป็นที่น่าพอใจ และในปีนี้คงจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วประมาณ 25%" พิเชษฐ์บอก

ปัจจุบันนารายณ์ พิซเซอเรีย มีสาขาทั้งสิ้น 27 แห่ง เป็นร้านแบบดีลิเวรี่ 13 แห่ง ร้านแบบดีลิเวรี่และนั่งทาน 12 แห่ง และแบบนั่งทานอย่างเดียว 2 แห่ง ซึ่งปีนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งเป็นอย่างต่ำ และเมื่อเป็นพิซซ่าอันดับ 3 ในตลาด ดูเหมือนว่าจะพิถีพิถันในการทำตลาดอย่างมากโดยเฉพาะในเรื่องดีลิเวรี่ที่ผ่านเบอร์ 1142 ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยเน้นที่ความอร่อยและคุณภาพของอาหารเมื่อถึงมือลูกค้า

"เราเปลี่ยนกระเป๋าในการส่งใหม่ โดยจะแบ่งเป็น 2 กระเป๋า คือ กระเป๋าใส่ของร้อนและกระเป๋าใส่ของเย็น ก่อนออกไปส่งลูกค้าเราจะวัดอุณหภูมิ เมื่อไปถึงมือพวกเขาก็จะวัดอีกครั้ง" พิเชษฐ์อธิบาย

สาเหตุที่บริษัทให้ความสำคัญกับดีลิเวรี่ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากอดีตที่มีเพียง 20% ทุกวันนี้กลายเป็น 55% ของรายได้รวมและเติบโตเป็นเท่าตัวทุกๆ ปี "ช่องทางแบบนี้กำลังขึ้นอย่างมากขณะที่ร้านแบบนั่งทานกำลังหดตัว" อภิชาติชี้

สำหรับกลยุทธ์การตลาดแบบอื่นๆ จะเน้นกิจกรรมเป็นรายวันตามที่นารายณ์ พิซเซอเรีย ทำมาตลอดแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเรื่อยๆ ไม่ให้ซ้ำในแต่ละวันเพื่อสร้างสีสันภายในร้าน เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายและตรงใจกลุ่มผู้บริโภคมากที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.