ไทรคอน เรสตัวรองท์ส เป้าหมาย "first choice"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

นับตั้งแต่สงครามพิซซ่า ฮัท ปะทุขึ้นมา วงการธุรกิจอาหารได้รู้จักไทรคอน เรสตัวรองทส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ดีมากขึ้นในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่ต้องการเข้ามาดูแลพิซซ่า ฮัท ด้วยตนเอง นอกเหนือจากนี้ยังบริหารฟาสต์ฟูดชื่อก้องประเภทไก่ทอดอย่างเคเอฟซีอีกด้วย

ในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่แต่อาศัยแบรนด์เก่าบวกทุนหนา กลยุทธ์ที่จะทำให้เติบใหญ่เร็วที่สุด คือ การขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าไทรคอนฯ สามารถทำได้ โดยมีร้านเคเอฟซี 300 สาขา และพิซซ่า ฮัท เกือบ 100 สาขา

"พวกเราจำเป็นต้องทำแบบนี้" ปณิธาน เศรษฐบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ประเทศไทยและอินโดจีนบอก "ถ้าถามว่าหากเปิดสาขาไปเรื่อยๆ แล้วกว่าจะได้เป็นร้อยสาขาต้องใช้เวลา 20 ปีเป็นภาพในอดีต ปัจจุบันทำเช่นนั้นไม่ได้อีกแล้ว เพราะตลาดอยู่ในสภาพที่แข่งขันกันสูงจึงต้องทำงานค่อนข้างหนักผิดปกติ"

เรื่องพื้นที่ขยายสาขาถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของบริษัท หากพูดถึงความสำเร็จทั้งพิซซ่า ฮัท และเคเอฟซี วิธีการดังกล่าวใช่ว่าจะมีเพียง 2 แบรนด์นี้เท่านั้นที่ดำเนินการเพราะสำหรับธุรกิจฟาสต์ฟูดต่างใช้ตำราเหมือนๆ กัน "มันอยู่ที่กำลังและความสามารถในการสร้างผลตอบแทนได้มากน้อยแค่ไหน"

ขณะเดียวกันไทรคอนฯ ก็พยายามรักษาตลาดเอาไว้โดยพิซซ่า ฮัท จะเร่งยอดขายให้สูงมากขึ้นโดยจะใช้กลยุทธ์การพัฒนาเมนูอาหารให้แตกต่างไปจากคู่แข่ง "ปีนี้จะต้องทำกำไรให้ได้หลังจากโหมบุกขยายสาขามาอย่างหนัก" ปณิธานกล่าว

เช่นเดียวกับเคเอฟซีที่ต้องเร่งสร้างความหลากหลายและเพิ่มสีสันให้กับตลาด โดยไม่นำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่จะใช้จุดแข็งที่ตัวเองมีอยู่ในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ การใช้ประโยชน์จากความเป็นแบรนด์ระดับโลกแต่จุดอ่อนอยู่ที่ความอิสระในการจัดการ

"เราไม่สามารถพลิกแพลงหรือใช้ลูกเล่นในการทำงานอย่างเสรีได้"

โดยเฉพาะการขึ้นราคาสินค้าอันเนื่องจากความเลวร้ายของต้นทุนในช่วงวิกฤติที่กำลังซื้อหดตัว ส่งผลให้รายได้ลดลงอย่างมาก "เชื่อหรือไม่ว่าไก่ทอดของเคเอฟซีกับร้านข้างถนนราคาเท่ากัน แต่เงินลงทุนแตกต่างกันเหลือเกิน"ปณิธานบอก

เมื่อเป็นเช่นนี้ทางออกของไทรคอนฯ อยู่ที่การบีบคั้นเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาดให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพของสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่ลูกค้าต้องจ่าย อีกทั้งการดำเนินธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น วิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะเดินไปในอนาคตจะต้องเห็นภาพชัดเจนว่า ความสับสนอยู่ตรงไหนและความต้องการของลูกค้าอยู่ระดับไหน

"กระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพต้องเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความรวดเร็ว การแข่งขัน บุคลากร ความกว้างไกลในการมองธุรกิจในทุกๆ มุม" ปณิธานกล่าว "หากเกิดความผิดพลาดเพียงแค่ประเด็นเดียวมันอาจจะหมายถึงความหายนะได้เหมือนกัน จากขอบข่ายที่กว้างและผลกระทบที่รุนแรง"

ดังนั้นสิ่งที่ไทรคอนฯ กังวลที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเพราะหากเดินไม่ทันอุปสรรคจะเกิดขึ้นทันที ดังนั้นพวกเขาต้องก้าวไปข้างหน้ามากกว่าลูกค้า 1 ขั้นเสมอไม่เช่นนั้นความล้าสมัยจะมาเยือน ดังนั้นพิซซ่า ฮัท และเคเอฟซี ต้องเข้าไปใกล้ตลาด ที่สำคัญต้องมีความเข้าใจลูกค้าได้อย่างชัดเจน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.