MFCตีกรอบสึนามิฟันด์


ผู้จัดการรายวัน(4 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

MFC สรุปเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ ผ่านกองทุนรวม "สึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์" มูลค่า 1.4 พันล้านบาท จะเร่งอนุมัติวงเงินให้แล้วเสร็จภายใน 31 มี.ค.นี้ หวังพลิกฟื้นอันดามัน ควบคู่ไปกับกองทุนของสสว. วงเงินสูงสุดไม่เกิน 350 ล้านบาท

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนในกองทุนรวม "สึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์" ว่า เป้าหมายการลงทุนเน้นการฟื้นฟูกิจการบริษัทที่มีศักยภาพให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ วงเงินไม่เกิน 350 ล้านบาท ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือควบคู่ไปกับกองทุนของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (สสว.) ที่มีวงเงินให้ความช่วยเหลือจำนวน 2 พันล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีสินทรัพย์ไม่เกิน 200 ล้านบาท

สำหรับหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และ 3. ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม

นายพิชิตกล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย หลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนจะต้องสอดคล้องกับที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวนที่ยื่นให้ขอต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่วนเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ผู้ประกอบการที่กองทุนจะเข้าไปปล่อยกู้ หรือเข้าไปร่วมทุนจะต้องมีศักยภาพ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และที่สำคัญงบการเงินต้องโปร่งใส

สำหรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับความช่วยเหลือ จะต้องดำเนินธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญจะต้องมีการจ้างงาน

"ในช่วงนี้ ธนาคารพาณิชย์จะนำเสนอข้อมูลมาให้บลจ.พิจารณาเป็นระยะ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ หากบริษัทไหนมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ก็มีโอกาสที่จะ ได้รับการพิจารณา โดยคาดว่าจะสามารถอนุมัติวงเงิน ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง 6 จังหวัดได้ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้" นายพิชิตกล่าว

สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการพิจารณาลงทุนประกอบด้วยกรรมการ 10 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ 4 ราย ได้แก่ธนาคารกรุงเทพ กสิกร ไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย ตัวแทนจากธนาคารออมสิน 2 ราย, ตัวแทนตลาดหลักทรัพย์ 1 ราย จากบลจ.เอ็มเอฟซี 1 ราย นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคาร และตัวแทนจากกระทรวงการคลัง 1 คน

สำหรับเงินในการลงทุนคาดว่าจะเข้าในกองทุน รวมสึนามิไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์ในวันที่ 14 ก.พ. นี้ โดยจะมีเม็ดเงินเบื้องต้นประมาณ 1,400 ล้านบาท จากที่ยื่นโครงการกับก.ล.ต.มูลค่า 3 พันล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่มาจากสมาคมธนาคารไทยธนาคาร 700 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 500 ล้านบาทและตลาดหลักทรัพย์ 200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากเงินได้มีการลงทุนหมดก็อาจจะมีการพิจารณาเพิ่มเม็ดเงินแต่จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การลงทุน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.4 พันล้านบาท มาจากกองทุนรวมสึนามิ ไทยแลนด์ รีคัฟเวอรี่ฟันด์ ส่วนกองทุนของสสว. มูลค่า 2 พันล้านบาท จะให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่มีขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่า 200 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้ง 2 กองทุนจะสามารถอนุมัติให้กับผู้ประกอบการได้ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.