ขุนพลคู่ใจ

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกเหนือไปจากภาพลักษณ์ของภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ เป็นแม่ทัพนั่งบัญชาการภายกลุ่มธุรกิจทรีนีตี้ วัฒนา (หลังการรวมกิจการกับ บล.ยูไนเต็ดจะกลายเป็น บล.ไทยทรีนีตี้ ยูไนเต็ด) ยังมีมืออาชีพ 2 ท่าน ซึ่งถือเป็นขุนพลของเขานั่งทำงานเคียงข้างเพื่อสร้างอาณาจักรให้แข็งแกร่ง เหมือนที่ทั้งสองเคยฝากฝีไม้ลายมือเอาไว้ใน บล.เอกธำรง

กัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการแห่งบล.ทรีนีตี้ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการตลาดทุนไทยมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ดังนั้นเขาย่อมไม่ธรรมดาในสายตาภควัติ เพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนธรรมศาสตร์ ที่สำคัญทั้งสองมีความรู้สึกประเภท "คอเดียวกัน" คือ การไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ เห็นได้ชัดจากการไม่เห็นด้วยในการเข้ามาเทกโอเวอร์ บล.เอกธำรงของกลุ่มคูส์ จนต้องล่าถอยออกมาจัดตั้งธุรกิจเพื่อต่อสู้ตามวิถีทางแห่งธุรกิจ

เส้นทางชีวิตการทำงานของกัมปนาทเริ่มจากนักวิจัยโท กองเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2518 เพียงแค่ปีเดียวลาออกไปทำงานที่ธนาคารกรุงไทยในตำแหน่งเศรษฐกร ฝ่ายวิชาการจากคำเชิญชวนของเพื่อน และในปี 2521 ถูกโปรโมตให้เป็นหัวหน้าส่วนคอมพิวเตอร์เพื่อดูแลโครงการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์

กัมปนาทเข้าสู่วงการตลาดทุนในปี 2522 จากคำชักชวนของสุวิชา มิ่งขวัญ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลในขณะนั้น เพื่อให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤติราชาเงินทุน ซึ่งมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการตลาดหลักทรัพย์

ณ จุดนี้เองที่เป็นสนามบ่มเพาะประสบการณ์ตลาดทุนให้กับเขา เพราะเป็นช่วงที่ตลาดทุนไทยกำลังได้รับการพัฒนาไปในลักษณะที่เป็นสากล อย่างไรก็ตามหลังจากสิริลักษณ์ รัตนากร เข้ามาเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เขามีความอึดอัดกับแนวทางการทำงานจึงลาออก

ด้วยความที่เป็นผู้บริหารหนุ่มใหญ่ไฟแรง ไม่แปลกใจที่ถูกทาบทามให้เป็นผู้จัดการสมาคม สมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์ในปี 2526 และดูเหมือนจะเป็นความยินดีของเขาด้วยที่มองเห็นปัญหาธุรกิจเงินทุนเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็นั่งอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ก็ลาออกไปรับตำแหน่งผู้จัดการสมาคม สมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทเงินทุน แต่ดูเหมือนว่าเป็นช่วงเลวร้ายช่วงหนึ่งของกัมปนาทเนื่องจากสมาคมฯ กำลังล่มสลายจากธุรกิจซบเซาจนต้องแยกสมาคมหลักทรัพย์และเงินทุนออกจากกัน สุดท้ายต้องยุบสมาคมไทยเงินทุนฯ แล้วตั้งสมาคมบริษัทเงินทุนขึ้นแทนและสมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์โดยมีกัมปนาทนั่งควบ 2 ตำแหน่ง

เป็นเวลาถึง 8 ปี สำหรับการคลุกคลีอยู่กับหน่วยงานทางการที่ดูแลตลาดทุน ถึงเวลาแล้วที่กัมปนาทต้องพิสูจน์ฝีมือในฝั่งเอกชนซึ่งประจวบเหมาะกับปิยะพงษ์ กณิกนันท์ กรรมการผู้จัดการ บงล.ธนไทยเปิดธุรกิจหลักทรัพย์ จึงดึงเขาเข้ามานั่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการเพื่อดูแลสายงานใหม่ที่ว่า

จากการทำงานในระบบครอบครัวของกลุ่มธุรกิจดังกล่าว กัมปนาทใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีก็สามารถสร้างให้เป็นองค์กรที่เป็นที่ยอมรับมากขึ้นได้ แต่เมื่อภควัติเอ่ยปากชวนให้มาร่วมกันสร้าง บล.เอกธำรงด้วยกันเขาไม่รอช้าที่จะตอบตกลง เพราะทั้งคู่รู้จักมักคุ้นกันดีมาสมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการคือ ตำแหน่งแรกของกัมปนาทที่ บล.เอกธำรงที่ดูแลด้านสำนักงาน และในปี 2539 ถูกโปรโมตให้เป็นกรรมการผู้จัดการ และที่นี่จึงเป็นจุดสูงสุดของชีวิตการทำงานบนถนนสายนี้ และก็เป็นจุดพลิกผันเช่นเดียวกัน เพราะเขาถูกกลุ่มคูส์เข้ามายึดกุมธุรกิจ จนต้องถอยท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของเขาว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับตัวเอง

ในที่สุด กลุ่มทรีนีตี้ วัฒนา เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่ด้วยความเชื่อมั่นของภควัติและเพื่อนร่วมงานส่งผลให้กัมปนาทกลับมาดูแลงานที่ตนเองถนัดอีกครั้ง และดูเหมือนว่าเป็นแรงผลักดันให้เขาทำงานหนักมากกว่าเดิมเพื่อพิสูจน์ถึงความเป็นมืออาชีพในตลาดทุน

ส่วนขุนพลอีกหนึ่ง คือ ขนิษฐา สรรพอาษา กรรมการอำนวยการทรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ 2001 เป็นผู้หญิงเก่งที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นวาณิชธนากรหาคนเทียบได้ยากคนหนึ่ง ผู้ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์แห่งรั้วจุฬาลงกรณ์ฯ แต่ด้วยแรงดึงดูดจากทุนของธนาคารกสิกรไทยเธอจึงสมัครสอบและไม่ผิดหวังเมื่อได้ทุนไปศึกษาเอ็มบีเอ สาขาไฟแนนซ์ที่ University of Pennsylvania

ปี 2523 เดินทางกลับมาใช้ทุนที่กสิกรไทยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จากนั้นถูกย้ายไปเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการสาขาในปี 2532 จนกระทั่งในปี 2534 เธอตัดสินใจลาออกหลังจากถูกทาบทามจากภควัติ ซึ่งเคยทำงานร่วมกันในกสิกรว่า สนใจงานวาณิชธนกิจกับ บล.เอกธำรงหรือไม่ แน่นอน เธอไม่รอช้าเพราะนี่เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาตนเอง และตลาดโดยรวมกำลังเติบใหญ่ในขณะนั้น

ขนิษฐาเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจการเงิน จากนั้นขยับเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจในปี 2536 และถูกโปรโมตขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2539 ภายใต้ชื่อ บล.เอกธำรงเคจีไอ

ด้วยสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมืออาชีพใน บล.เอกธำรง ไม่ว่าจะเป็นภควัติ, กัมปนาท, กิตติรัตน์ ณ ระนอง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์), พิเชษฐ์ วิภวศุภกร และชาญ ศรีวิกรม์ ทำให้ขนิษฐาบ่มเพาะวิชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จุดสูงสุดแห่งชีวิตการทำงานของเธอ คือ 2-3 ปีก่อนเศรษฐกิจไทยจะล่มสลาย เพราะช่วงนั้นเธอต้องทำงานแข่งกับเวลาจากความต้องการของลูกค้าและตลาดที่เปิดกว้าง จนกระทั่งเจอวิกฤติ เธอและเพื่อนร่วมงานต้องดิ้นรน เพื่อความอยู่รอด แต่แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่ทุ่มเทลงไปผลตอบแทนกลับเจ็บปวดจากพันธมิตรที่เธอคิดว่าเลือกไม่ผิด

จากความไว้วางใจซึ่งกันและกันเมื่อทรีนีตี้ วัฒนา ถูกรังสรรค์ขึ้นเธอต้องเข้ามารับผิดชอบงานสายวาณิชธนกิจ ซึ่งถือเป็นงานที่รักที่สุด และจากประสบการณ์ที่มากพอที่จะทำงานในแง่เป้าหมายเธอคิดว่าจะพยายามสร้างชื่อให้ได้ก่อน โดยพุ่งเป้าหมายไปยังที่ปรึกษาทางการเงินในด้านการระดมทุนก่อนที่จะขยายงานต่อไป ที่สำคัญเธอไม่กลัวการแข่งขันเพราะการทำงานจะกว้างมากและตลาดเริ่มตอบรับดีมากขึ้น

เพียงแค่หนึ่งปีสำหรับการปลุกปล้ำทรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ 2001 ขนิษฐาดูมีความสุขกับการทำงานมาก ซึ่งเธอต้องการให้องค์กรนี้ประสบความสำเร็จและมีความสามารถในการทำกำไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.