สยามพิวรรธน์ผุดโครงการยักษ์ย่านสวนลุมไนท์บาซาร์-รังสิต


ผู้จัดการรายวัน(2 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มสยามพิวรรธน์ ซุ่มผุดโครงการศูนย์การค้าสองทำเลทอง ดอดประมูลพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย่าน "สวนลุมไนท์ บาซาร์" พื้นที่ 100 ไร่ และบริเวณ รังสิต-ดอนเมือง พื้นที่ 10 ไร่ มั่นใจโครงการใหม่เกิดได้แน่ หลังปีนี้ทุ่มงบ 580 ล้านบาท เน้นบริหารศูนย์การค้าสามศูนย์ย่านสยามสแควร์เสร็จสมบูรณ์ คนแห่เข้าเพิ่ม 20% ก่อนสิ้นปีกวาดรายได้ 855 ล้านบาท

นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอีก 2 โครงการ โดยในเบื้องต้นได้วางไว้เป็นพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหาร หรือในบริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขนาด 100 ไร่ ขณะนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมประมูลพื้นที่ดังกล่าว 6-7 ราย

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในพื้นที่บริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ด้วย โดยคาดว่าผลการประมูลจะประกาศในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะมีพันธมิตรหลัก 3 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเดอะมอลล์, เอ็มบีเค และธนชาติเข้าร่วมทุนในโครงการบริเวณสวนลุมไนท์ บาซาร์ อย่างไรก็ตามหากกลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นผู้ได้รับการประมูลพื้นที่ดังกล่าวจริง บริษัทจะนำมาทำเป็นศูนย์การค้า เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทมีความถนัดและเชี่ยวชาญ

"เราเพิ่งเริ่มศึกษาโครงการบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเมื่อปี 2547 เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพ มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งนี้หากบริษัทประมูลพื้นที่ดังกล่าวได้จริงก็ยังไม่สามารถประเมิณได้ว่าพื้นที่ขนาด 100 ไร่ จะต้องใช้งบลงทุนเท่าไร"

สำหรับโครงการที่บริษัทสนใจอีกโครงการอยู่ทางทิศเหนือ บริเวณย่านรังสิต-ดอนเมือง ซึ่งขณะกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา โดยการตั้งศูนย์การค้าในย่านดังกล่าวนี้ บริษัทต้องการพื้นที่ขนาด 10 ไร่ขึ้นไป สำหรับโครงการนี้บริษัทจะหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนด้วย

ทั้งนี้ โครงการทั้งสองจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องรอให้ในปีนี้บริษัทบริหารพื้นที่บริเวณย่านสยามสแควร์ จำนวนพื้นที่ทั้งหมด 70 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ซึ่งในปีนี้จะมีการปรับปรุงในรูปโฉมใหม่โดยได้ทุ่มงบ 400 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม และงบอีก 100 ล้านบาทปรับปรุงสยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งคาดว่าหลังจากการปรับโฉมทั้งสองศูนย์จะส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น 20% อีกทั้งยังต้องรอให้สยามพารากอน ซึ่งกำลังจะเปิดปลายปีนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน จากนั้นบริษัทจึงจะพิจารณาลงทุนทั้งสองโครงการ

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก-ศูนย์การค้ายังมีช่องว่าง อีกมากที่จะเติบโต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งจะเข้ามาเสริมรายได้เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจค้าปลีกได้เป็นอย่างดี โดยมองว่าหากแข่งขันหาลูกค้าในประเทศจะไม่ได้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นมากนัก ขณะเดียวกันก็มองว่าการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกปีนี้จะมีความรุนแรงต่อเนื่อง และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่ม 6 จังหวัดอันดามัน เชื่อว่าภาครัฐจะสามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และหากผู้ประกอบการมีการบริหารงานที่ดี คาดว่าจะส่งผลกระทบแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

"หลังจากที่บริษัทเปิดสยามพารากอน คาดว่าดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเฉลี่ย 35-40% จากจำนวนลูกค้าหมุนเวียนเข้าศูนย์การค้าเฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อวัน ในขณะที่ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์มีลูกค้าหมุนเวียนเข้าศูนย์ 80,000 คนต่อวัน ซึ่งทั้งสองศูนย์มีลูกค้าจากต่างประเทศ 35%"

นางชฎาทิพ กล่าวว่า แผนการทำตลาดสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ปีนี้ได้ทุ่มงบการตลาด 80 ล้านบาท โดยเน้นกลยุทธ์แบรนด์ มาร์เกตติ้ง เพื่อสร้างเสริมแบรนด์ของบรรดาผู้เช่าให้แข็งแกร่งและสามารถครองใจกลุ่มเป้าหมาย และยังได้วางแผนการสื่อสารการตลาดที่ครอบคลุม ทั้งสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการตลาด รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ล่าสุดจับมือร่วมกับบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ ทุ่มงบ 10 ล้านบาทจัดงาน "ช้อป มาราธอน" โดยได้ร่วมมือกับทางร้านค้า 200 แห่ง หรือกว่า 220 แบรนด์ ลดราคาสินค้าสูงสุด 80% ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเพื่อกระตุ้นยอดขาย

สำหรับผลประกอบการปีนี้ บริษัทตั้งเป้าไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาคือ 855 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้มีการขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ อีกทั้งยังต้องใช้งบลงทุนเพื่อปรับปรุงสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ส่วนผลประกอบปี 2547 เมื่อเทียบกับ ปี 2546 มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 15% โดยรายได้หลักมาจากค่าเช่าร้านค้าภายในสยามเซ็นเตอร์และสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ และอาคารสำนักงานสยามทาวเวอร์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เช่าเต็มทั้งหมด 100% ทุกอาคาร นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากค่าเช่า สื่อโฆษณา และค่าเช่าพื้นที่จัดกิจกรรมส่วนกลาง ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 35% ในปีที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.