ทรีนิตี้-บล.ยูไนเต็ด win-win Game

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่มีอะไรเป็นเรื่องราวสลับซับซ้อน มากไปกว่าการแสวงหาความเติบใหญ่ของการรวมกิจการกันระหว่างกลุ่มทรีนี้ตี้และ บล.ยูไนเต็ด นี่คือโบรกเกอร์สายพันธุ์ไทยแท้ที่พยายามยกระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น ฐานเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจที่แข็งแกร่ง เป็นสิ่งที่กลุ่มทรีนีตี้ วัฒนา และ บล.ยูไนเต็ด ได้หลังจากรวมกิจการเสร็จเรียบร้อย พูดง่ายๆ หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสาม และจากนั้นทั้งสอง จะกลายเป็น บล.ไทยทรีนีตี้ ยูไนเต็ด

จุดเริ่มต้นแห่งดีลประจำปีนี้เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจโดยสมัยที่ บล.ทรีนีตี้ยังเป็นซับโบรกเกอร์ได้ส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน บล.ยูไนเต็ดในสัดส่วนประมาณ 80% ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ได้รับการบริการด้าน back office ทำให้ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายสนิทสนมกันและเริ่มพูดคุยถึงการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นความแข็งแกร่งของโบรกเกอร์ท้องถิ่น

"พวกเราต้องการเป็นโบรกเกอร์คนไทยที่ก้าวขึ้นมาติดระดับต้นๆ ในอนาคต ทุกวันนี้มีหลักทรัพย์ท้องถิ่นแต่ศักยภาพเป็นไปในแบบเฉพาะด้าน" กุลวัฒน์ เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บล.ยูไนเต็ด บอก

ดังนั้นเมื่อ บล.ทรีนีตี้แข็งแกร่งในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่ศักยภาพด้านวาณิชธนกิจอยู่ที่ บล.ยูไนเต็ดที่สำคัญทั้งสองมีฐานเงินทุนขนาดเล็กใกล้เคียงกัน โดยฝ่ายแรกมีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ฝ่ายหลังมี 304 ล้านบาท การรวมกิจการกันจึงกลายเป็นข่าวดีสำหรับสององค์กร

"เป็นการสร้างความแข็งแกร่งอย่างหนึ่ง การรวมกันของบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กสองแห่งเป็นการเตรียมตัวขยายงานวันข้างหน้า" อรุณรัตน์ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ชี้ "มันก็ economy of scale ทั้งสองฝ่ายไม่ได้เสียหายเลย"

สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้จากการรวมกิจการกันด้วยวิธีการแลกหุ้นครั้งนี้ ฝ่ายทรีนีตี้ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนทางอ้อม (black-door listing) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขณะที่อีกฝ่ายไม่ต้องกังวลถึงการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด และในเวลาเดียวกันอัตราค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับก็เพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบัน บล.ทรีนีตี้มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 2-3% แต่ บล.ยูไนเต็ดมีเพียง 1.5%

"หมายความว่าพวกเขาซื้อบริษัทที่ดีกว่าตัวเอง ซึ่งสามารถขยายฐานการทำธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ" รัชนก ด่านดำรงรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าว

นอกจากนั้นเธอยังอธิบายว่าเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจวาณิชธนกิจ คาดว่าจะสร้างรายได้ที่ดีให้กับบริษัท "ปัจจุบันทุนจดทะเบียนทั้งสองใกล้เคียงกันแต่สินทรัพย์รวมของ บล.ยูไนเต็ดใหญ่กว่า 1.5 เท่า ดังนั้นต้องออกหุ้นใหม่เพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของทรีนีตี้ โดยระยะสั้นจะเกิด Dilution effect แต่ Synergy ที่เกิดขึ้นในระยะยาวน่าจะมีน้ำหนักมากกว่า"

สำหรับเก้าอี้ที่นั่งการเป็นโบรกเกอร์เบอร์ 22 ของบล.ทรีนีตี้ คาดว่าจะนำใบอนุญาตการทำธุรกิจหลักทรัพย์ออกขายในอนาคต เนื่องจาก บล.ยูไนเต็ดมีอยู่แล้ว เหมือนกับ บล.แอ๊ดคินสันซื้อใบอนุญาตมาจาก บล.อินโดสุเอซ ดับบลิว.ไอ.คาร์ เป็นจำนวนเงิน 285 ล้านบาท

"เช่นเดียวกัน หากทรีนีตี้ขายออกก็จะมีราคาเช่นกันแล้วรายได้จะเข้ามาในไทยทรีนีตี้ ข้อดีก็คือ ส่วนต่างของกำไรจากการขายใบอนุญาต" รัชนกเล่า

ส่วนผลของการรวมกิจการจะเห็นเด่นชัดในครึ่งปีหลัง จากการคาดการณ์ของฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ ณ สิ้นปี 2545 บล.ไทยทรีนีตี้ จะมีกำไร 161 ล้านบาท และมีมูลค่าบัญชีต่อหุ้น 5.60 บาท จากที่ขาดทุนสุทธิในปีที่แล้ว 9 ล้านบาท เนื่องจากได้รับค่าคอมมิชชั่นต่ำมาก แต่หลังจากรวมกับทรีนีตี้กำไรจะพุ่งขึ้นจากค่าคอมมิชชั่นที่ได้รับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.25% รายได้ค่าธรรมเนียมที่จะเพิ่มขึ้นประกอบกับมูลค่าการซื้อขายของตลาดโดยรวมก็เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี การเพิ่มทุนของ บล.ยูไนเต็ดที่จะมาแลกหุ้นกับทรีนีตี้ วัฒนา ดูเหมือนว่าจะสร้างความแปลกใจให้กับตลาดพอสมควรเพราะไม่คาดคิดว่าจำนวนการเพิ่มทุนจะมากมายถึง 111.13 ล้านหุ้น ทำให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 172 ล้านหุ้น เนื่องจากไม่เพียงแต่จะเพิ่มทุนเพื่อแลกหุ้นกับบริษัทที่มีศักยภาพสูงอย่างทรีนีตี้แล้ว ยังถือโอกาสเพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิมด้วยจำนวน 30.44 ล้านหุ้น ขายที่ราคาพาร์เท่ากับ 5 บาท

"หุ้นที่ออกให้กับกลุ่มทรีนีตี้จำนวน 63.75 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 6.24 บาท ดูเหมือนจะถูกเกินไปเมื่อเทียบกับราคาตลาดของ บล.ยูไนเต็ด" รัชนกอธิบาย "แต่เราเชื่อว่าเป็นการแลกหุ้นที่คุ้มค่าในระยะยาวเพราะทำให้พวกเขาแข็งแกร่งทั้งในแง่ขนาด คือ ฐานทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวและศักยภาพในการหารายได้"

หลังการแลกหุ้นกลุ่มทรีนีตี้จะถือหุ้น 37% ในไทยทรีนีตี้ และจะเพิ่มเป็น 47% หากใช้สิทธิ์ซื้อลูกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 16.94 ล้านหุ้น ที่เสนอขายเฉพาะเจาะจง แม้ต้องจ่ายแพงกว่า 6.24 บาทก็ตาม และในอนาคตมีโอกาสซื้อเพิ่ม เพื่อให้มีสัดส่วนการถือหุ้น 50% จากศักยภาพการประกอบธุรกิจ

การกำจัดจุดอ่อนของการดำเนินธุรกิจระหว่างกลุ่มทรีนีตี้และยูไนเต็ด ดูเหมือนจะเป็นการพูดภาษาเดียวกันจากการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาในอดีต นั่นคือ การประสานผลประโยชน์ให้กับองค์กรธุรกิจ และผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุด

"ถ้าฐานเงินทุนเราไม่โตขณะที่เศรษฐกิจเติบโต เราจะไปตามคู่แข่งไม่ทัน" ภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ กรรมการอำนวยการกลุ่มทรีนีตี้บอก "ในแง่การแข่งขัน ถ้าปริมาณการซื้อขายหุ้นกลายเป็นหมื่นล้านบาทต่อวัน ถ้าสัดส่วนของเรามีมากพอสมควรมันก็ต้องมีฐานทุนที่ใหญ่เพื่อรองรับการขยายตัว"

กระนั้นก็ดีคำถามอยู่ที่ความขัดแย้งในการดำเนินกิจการโดยเฉพาะความทับซ้อนของลูกค้า แต่ดูเหมือนว่าอุปสรรคที่ว่าไม่เป็นที่กังวลของผู้บริหาร เนื่องจากยูไนเต็ดมีกลุ่มลูกค้าในแถบถนนเพชรบุรี และมีสาขาที่รังสิต นครปฐม และนครสวรรค์ ขณะที่ทรีนีตี้ล้วนแล้วแต่มีลูกค้าแถวสีลมและสาทร ส่วนต่างจังหวัดมีสาขาที่หาดใหญ่ 2 แห่ง เชียงใหม่ และปัตตานี

บล.ยูไนเต็ด ก่อตั้งในปี 2514 ในนามซิลโก้ ด้วยทุนจดทะเบียน 5 แสนบาทโดยกลุ่มครอบครัว "สุขะนินทร์" ต่อมาในปี 2532 ผู้ถือหุ้นเดิมขายกิจการทั้งหมดให้กับกลุ่ม "ว่องกุศลกิจ" และกลุ่ม "เจนวัฒนวิทย์" แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบล.ยูไนเต็ดและเป็นโบรกเกอร์หมายเลข 38 ในปี 2536 และหนึ่งปีถัดมาเป็นสมาชิกศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้เบอร์ 49

ในปี 2538 ปรับโครงสร้างถือหุ้นของบริษัทโดยบริษัททาวน์ เรียล เอสเตท ซื้อหุ้นจากกลุ่มมอร์แกน เกรนเฟลล์ เอเชีย โฮลดิ้ง และวิคเคอร์ส บัลลาส โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ได้เข้ามาถือในปี 2533

ปี 2540 ขาดทุนสะสม 317 ล้านบาทจึงได้ปรับโครงสร้างทางการเงิน อีกสามปีถัดมาตั้งยูไนเต็ด แอ็ดไวเซอรี่ เซอร์วิส เพื่อให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ถัดมาอีกปีทำการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป และปีนี้ประกาศรวมกิจการกับกลุ่มทรีนีตี้ประกาศความเป็นโบรกเกอร์สัญชาติไทยเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งต่างชาติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.