ปิยะ ซอโสตถิกุล, ชอง โท และชนิดา โสภณพณิช ถือเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ของธนาคารกรุงเทพ
ที่มีความรู้ความสามารถ จนมีโอกาสได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ
บง.บัวหลวง และ บล.บัวหลวง สถาบันการเงินในเครือแห่งใหม่ โดยใช้เวลาไม่นานนัก
เขาทั้ง 3 ถือเป็น Model ใหม่ของการรุกเข้ามาในธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพ
ในช่วงที่มีการคาดหมายกันว่าตลาดหุ้นกำลังจะกลับมาบูมใหม่เป็นรอบที่ 3 ในระยะเวลาอีกไม่นานที่จะถึงนี้
ธนาคารกรุงเทพ โดยชาตรี โสภณพนิช พ่อของชาติศิริ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับตลาดหุ้นมา
ตั้งแต่ยุคหุ้นเริ่มบูมรอบแรก ในปี 2520
ช่วงนั้นชาตรีมีความประทับใจอย่างมากที่เขาสามารถจับมือกับสว่าง เลาหทัย
ในการปลุกปั้นบริษัทหลักทรัพย์เอเซีย ให้เป็นซับโบรกเกอร์ระดับแนวหน้า และบริษัทหลักทรัพย์แห่งนี้ได้กลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชาตรีได้เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
มีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารกรุงเทพมากกว่าน้องๆ ทุกคนในเวลาต่อมา
แต่ในยุคที่ตลาดหุ้นบูมรอบที่ 2 ระหว่างปี 2530-2538 ซึ่งเป็นช่วงที่ชาติศิริเริ่มเข้ามามีบทบาทในธนาคารกรุงเทพแล้ว
ชาติศิริกับธนาคารกรุงเทพกลับมีบทบาทในตลาดหุ้น น้อยกว่าที่ชาตรีเคยทำได้ในยุคหุ้นบูมรอบแรกอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งที่เขาเองก็มองเห็นช่องทางและโอกาส
ผู้ที่กลับเข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นช่วงนี้ กลับกลายเป็นสถาบันการเงินในเครืออย่างสินเอเซีย,
ร่วมเสริมกิจ และบล.เอเชีย ซึ่งยังคงมีเงาของชาตรีทาบอยู่ จนกระทั่งเมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
และธนาคารกรุงเทพต้องสูญเสียความเป็นเจ้าของในสถาบันการเงินเหล่านั้นลง
เมื่อแนวโน้มตลาดหุ้น เริ่มส่งสัญญาณถึงการบูมรอบใหม่คราวนี้ ดูเหมือนธนาคารกรุงเทพ
จะเป็นธนาคารพาณิชย์เพียงแห่งเดียว ที่แสดงเจตจำนงว่าจะกลับเข้ามารุกธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์อย่างเต็มตัวอีกครั้ง
โดยการจัดตั้ง บง.บัวหลวง และบล.บัวหลวง
รูปแบบในการรุกครั้งนี้ ได้รับการผสมผสานประสบการณ์และแนวคิดของคนรุ่นพ่ออย่างชาตรี
และน้องๆ เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของคนรุ่นลูกอย่างชาติศิริเป็นอย่างดี
โดยมีการผลักดันคนรุ่นใหม่ อย่างปิยะ, ชอง โท และชนิดาให้เข้ามามีบทบาท
ทั้งปิยะ, ชอง โท และชนิดามีเส้นทางชีวิตที่คล้ายคลึงกัน
เขาและเธอทั้ง 3 คน เพิ่งมีอายุเพียง 30 ต้นๆ และได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นเพิ่งจะกลับเข้ามาเมืองไทยได้เพียงไม่ถึง
5 ปี
ทั้ง 3 คน มีพื้นฐานการศึกษาระดับสูง จากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในสหรัฐอเมริกา
และเคยมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกมาแล้วทั้งสิ้น
การที่ทั้ง 3 คนได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนอกมานาน ทำให้ไม่มีโอกาสได้เห็น
หรือสัมผัสรูปแบบการทำธุรกิจการเงินแบบไทยๆ ในยุคที่เศรษฐกิจไทยเคยรุ่งเรืองจนกลายเป็นฟองสบู่
เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์ มากกว่าทฤษฎี หรือหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยง
ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติการเงินตามมาในภายหลัง
หากมองอีกด้าน บุคคลทั้ง 3 ยังเปรียบเสมือนผ้าขาว ที่ได้มีโอกาสเข้ามาบริหารสถาบันการเงิน
โดยยึดรูปแบบจากทฤษฎี หรือกรณีศึกษาที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นหลัก
อาจเป็นเรื่องบังเอิญ ที่ทั้ง 3 คน มีพื้นฐานเคยผ่านการศึกษามาจาก Massachusettes
Institute of Technology (MIT) ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับที่ชาติศิริ โสภณพนิช
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จบปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาเคมี)
และปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ (MBA)
แต่ทุกคนก็ปฏิเสธ connection ในจุดนี้
"ทั้งหมดเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และก็เป็นเรื่องดีกับแบงก์ที่ได้คนเหล่านี้มาร่วมงาน"
ชาติศิริกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
คนในธนาคารกรุงเทพบอกว่า ชาติศิริคือคนที่ตัดสินใจเลือกให้ทั้ง 3 คน เป็นผู้เข้าไปรับผิดชอบกิจการของสถาบันการเงินแห่งใหม่ทั้ง
2 แห่งด้วยตัวเอง
ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในธนาคารกรุงเทพ ปิยะ, ชอง โท และชนิดา เป็นเพื่อนกันมาก่อนแล้ว
ตั้งแต่ทั้ง 3 คน ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา
ปิยะ เป็นลูกชายของเพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล พี่ชายของเกริกชัย ซอโสตถิกุล
นักธุรกิจชื่อดัง เจ้าของซีคอนสแควร์
เขาเกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2514 และเรียนอยู่ในเมืองไทยจนจบมัธยมศึกษาปีที่
2 จากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ก่อนที่จะไปเรียนต่อจนจบระดับไฮสกูลที่ Suffield
Acadamy รัฐ Connecticut สหรัฐอเมริกา
ในระดับปริญญาตรี เขาจบวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาเคมี) และเศรษฐศาสตร์ จาก MIT
ในปี 2536
หลังเรียนจบเขาได้ไปร่วมงานกับโกลด์แมน แซคส์ เป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยประจำอยู่ในนิวยอร์ก
และฮ่องกง
ปี 2538 เขาได้ทุนจาก MIT ให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ (สาขาเคมี)
และยังได้ทุนจากธนาคารกรุงเทพ ให้ไปเรียนปริญญาโททางบริหารธุรกิจ ต่อที่มหาวิทยาลัย
Harvard
ปิยะได้มารู้จักกับชนิดา และชอง โท ในช่วงที่เขากลับมาอยู่ Boston เพื่อเรียนปริญญาโทที่
Harvard เพราะเป็นช่วงเดียวกับที่ชอง โท และชนิดา กำลังทำปริญญาโทอยู่ที่
MIT
"ผมเป็นศิษย์เก่า MIT และก็ยังมีเพื่อนอยู่ที่นั่นมาก ก็แนะนำให้รู้จัก
และคบกันเป็นเพื่อน" เขาบอก
ชนิดา โสภณพนิช ลูกสาวคนโตของชัย โสภณพนิช โดยศักดิ์แล้ว เธอคือลูกพี่ลูกน้องของชาติศิริ
แต่เขาก็ได้ปฏิเสธกับ "ผู้จัดการ" อีกเช่นกันว่าในการเลือกให้เธอไปเป็นกรรมการใน
บล.บัวหลวง ไม่มีเรื่องการเป็นเครือญาติเข้ามาเป็นตัวแปร
ชนิดาเกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2514 เธอเรียนในเมืองไทย จนจบมัธยมศึกษาปีที่
3 จากมาแตร์เดอี ก่อนที่จะไปจบไฮสคูลจาก Oregon Episcopal school ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอยู่ในเมืองพอร์ตแลนด์
รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
ชนิดาจบปริญญาตรีทางด้านการเงิน ที่ Rochester University รัฐ New York
ในปี 2537 หลังเรียนจบเธอได้มาทำงานในมอร์แกน สแตนเลย์ สิงคโปร์ ในตำแหน่ง
Analyst และได้พบกับชอง โท ซึ่งร่วมงานอยู่กับมอร์แกน สแตนเลย์ สิงคโปร์
ในตำแหน่ง Investment Banking ตั้งแต่ก่อนหน้าที่เธอจะเข้ามาแล้วประมาณ 2
ปี
ชอง โท เกิดวันที่ 17 ตุลาคม 2511 เป็นคนที่เรียนเก่ง เขาจบระดับไฮสกูลจาก
Raffles Junior College ประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาปรัชญา,
การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) จากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษจนจบและได้รับเกียรตินิยมในปี
2533
เขาเริ่มงานครั้งแรกในปี 2534 โดยเป็นนักเศรษฐศาสตร์ให้กับ Government
of Singapore Investment Corporation (GIC) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ที่บริหารกองทุนมูลค่าประมาณ
100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับมอร์แกน สแตนเลย์ ในปี 2536
และได้รู้จักกับชนิดาในอีก 1 ปีถัดมา เมื่อเธอเข้ามาทำงานที่นี่
ชนิดาทำงานกับมอร์แกน สแตนเลย์ ได้เพียง 1 ปี ก็กลับไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ
ที่ MIT
อีก 1 ปีถัดมา ชอง โท ก็ลาออกจากมอร์แกนสแตนเลย์ เพื่อตามไปเรียนปริญญาโทสาขาการจัดการที่
MIT เช่นกัน
ทั้งปิยะ, ชอง โท และชนิดา เรียนจบ และกลับเข้ามาทำงานในธนาคารกรุงเทพในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
คือประมาณกลางปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย
เมื่อกลับมาเมืองไทย ทั้ง 3 คนได้เริ่มต้นชีวิตทำงานท่ามกลางปัญหามากมายที่ธนาคารกรุงเทพกำลังประสบอยู่อย่างหนัก
ภาระและหน้าที่ของทั้ง 3 คล้ายคลึงกัน คือการเข้าไปดูแลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
และการฟื้นฟูกิจการที่กลายเป็นปัญหาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร
ซึ่งเป็นงานในความรับผิดชอบโดยตรงของชาติศิริ โสภณพนิช
การเข้ามารับหน้าที่ดูแลการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงเป็นเสมือนหลักสูตรเรียนลัด
ที่ทำให้ทั้ง 3 มีโอกาสได้เห็นและสัมผัสกรณีตัวอย่างจำนวนมากของการบริหารกิจการที่ผิดพลาดในช่วงก่อนหน้า
จนธนาคารต้องตามเข้าไปช่วยแก้ไขในหลายๆ กรณี
เป็นกรณีศึกษาที่อาจมีมากกว่าที่บรรจุไว้ในหลักสูตรปริญญาโท ที่ทั้ง 3
คนจบออกมามากมายนัก
การเริ่มต้นการทำงาน ด้วยการต้องสัมผัสอยู่กับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในระบบธุรกิจ
ได้สร้างสมบุคลิกให้กับทั้ง 3 คนมีความแตกต่างจากผู้บริหารสถาบันการเงินคนอื่นๆ
ในอดีต ที่มักพบแต่สิ่งดีๆ และประสบกับความสำเร็จ ในช่วงที่ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์กำลังเฟื่องฟูไปกับฟองสบู่
ขณะที่สิ่งซึ่งทั้ง 3 คนต้องพบ ส่วนใหญ่คือการแก้ปัญหา
ทำให้ทั้ง 3 คน ถูกหล่อหลอมให้เติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
วันนี้เขาและเธอทั้ง 3 พร้อมแล้วที่จะก้าวออกไปสู่สนามการแข่งขัน ในฐานะผู้บริหารระดับสูงมืออาชีพ
เพื่อสร้างอาณาจักรทางการเงินที่เป็นเครือข่ายใหม่ของธนาคารกรุงเทพ
เป็นการสร้างจากคนรุ่นใหม่ เลือดใหม่ ที่มีความล้มเหลวของคนรุ่นเก่าไว้เป็นบทเรียน
เส้นทางในอนาคตของบุคคลทั้ง 3 เป็นสิ่งที่น่าจับตาดูเป็นอย่างยิ่ง