ธนชาติออกกองFIFกว่า$50ล้านยื่นก.ล.ต.ขอโยกเงินกองเก่าลงทุน


ผู้จัดการรายวัน(1 กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.ธนชาติเล็งโยกเม็ดเงินกองทุนตราสารหนี้-หุ้น กองเก่า ไปลงทุนในต่างประเทศมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท เผยเตรียมเสนอขออนุมัติจากสำนักงานก.ล.ต.คาดได้ข้อสรุปภายใน 90 วัน หรือสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ภายในเดือนก.พ.หรือมี.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะเข้าไปลุยตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย คาดผลตอบแทนงามเมื่อเทียบกับลงทุนในประเทศ

นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ธนชาติ จำกัด (NASSET) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขออนุญาตนำเงินจากกองทุนหุ้น หรือตราสารหนี้ที่มีอยู่เดิมไปลงทุนในต่างประเทศ โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการลงทุนในต่างประเทศประมาณ 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับการลงทุนต่างประเทศของกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ของบลจ.ธนชาติ แบ่งเป็นสองส่วนคือ ลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นในสัดส่วน 50:50

"สาเหตุที่เราเลือกที่จะขออนุญาตก.ล.ต. เพื่อนำเงินจากกองทุนที่มีอยู่เดิมไปลงทุนต่างประเทศ แทนที่จะออกเป็นกองใหม่ เนื่องจากสามารถดำเนินการได้เร็วกว่า และสามารถโยกเม็ดเงินที่มีในกองทุนไปลงทุนได้ทันที ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศเรียบร้อยแล้วW

นายกำพลกล่าวว่า หลังจากที่ยื่นโครงการเสนอให้แก่ ก.ล.ต. คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 90 วัน ในการพิจารณา และจะสามารถไปลงทุนต่างประเทศได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ หรือในช่วงเดือนมีนาคมนี้ โดยจะทยอยออกกองทุนละ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ก.ล.ต.ได้อนุญาต จากนั้นก็จะเปิดไปต่อเนื่องรวม 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะประกาศออกมา ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติให้บลจ. สามารถลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอนุญาตให้กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะจัดสรรให้บริษัทจัดการครั้งละไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่คณะกรรมการกองทุนเห็นชอบให้ลงทุนในต่างประเทศได้ในวงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะจัดสรรให้บริษัทจัดการครั้งละไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่อนุญาตให้กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนได้นั้น หากเป็นการลงทุนในตราสารทุนหรือหน่วยลงทุน จะต้องเป็นหลักทรัพย์ในประเทศที่มีองค์กรกำกับดูแลเป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือ ตลาดหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ WFE หากเป็นตราสารหนี้ จะต้องได้รับการจัดอันดับระดับ investment grade ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะต้องดำรงอัตราส่วนการลงทุนตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด

นายกำพลกล่าวว่า ในเบื้องต้นกองทุนรวมต่างประเทศที่จะออกจะเป็นกองตราสารหนี้ ที่เข้า ไปลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เนื่องจากประเมินว่าแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งจะมีการซื้อเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกองทุนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศจะให้น้ำหนักกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน เนื่องจากคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากกองทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากให้ผลตอบแทนในระดับสูง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.