|

แบงก์เอไอจีดีเดย์เปิดQ3บุกสินเชื่อรายย่อยเต็มสูบ
ผู้จัดการรายวัน(1 กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปีนับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทย ในที่สุดบริษัทเงินทุน (บง.) เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ "ชัยวัฒน์" ผู้คลุกอยู่ไฟแนนซ์แห่งนี้มาตลอดให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายวัน" วางเป้าหมายที่จะปลุกปั้นเอไอจีไฟแนนซ์ให้เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย หรือรีเทลแบงกิ้งอันดับหนึ่งของเมืองไทยอย่างมีคุณภาพ ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในไตรมาส 3 ปี 2548
สำหรับบง.เอไอจีไฟแนนซ์ เดิมชื่อ บง.บางกอกอินเวสท์เม้นท์ จำกัด หรือ "บิ๊ก" เป็น 1 ใน 58 ไฟแนนซ์ที่ถูกปิดกิจการเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งปรากฏในจำนวนนี้ มี 2 บริษัท ที่สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ คือ บง.เกียรตินาคิน และบง.เอไอจีไฟแนนซ์
บง.เอไอจี ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเอไอจี ได้พลิกฟื้นฐานะจากที่ขาดทุนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ได้กลับมามีกำไรปีแรกในปี 2001 และในปี 2004 มีกำไร 300 กว่าล้านบาท กระทั่งเมื่อไม่นานนี้ได้รับอนุมัติให้ยกระดับบง.ขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ตามแผนแม่บทสถาบันการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัทเงินทุน เอไอจี ไฟแนนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าจะเปิดให้บริการด้านธนาคารพาณิชย์ได้ประมาณไตรมาส 3/2548 ซึ่งจะเป็นธนาคารที่เน้นกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากกว่าเพราะยังมีโอกาสในการเติบโตที่ดี โดยแต่ละธนาคารจะต้องหาตลาดที่ตนเองถนัดในการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยอันดับ 1 และต้องการที่จะติดอันดับ 5 ของสถาบันการเงิน โดยบริษัทจะมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพในเรื่องของระบบการบริหารงานก่อน และจะมุ่งเน้นในธุรกิจที่บริษัทมีความชำนาญมากกว่า การเน้นเรื่องของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพราะถ้าบริษัทมีความพร้อมในเรื่องของระบบต่างๆ แล้วก็จะสามารถที่จะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมีคุณภาพ และมีความหลากหลาย
"จากจำนวนผู้ที่ได้รับอนุมัติเป็นรีเทลแบงกิ้ง 4 แห่ง บริษัทถือว่าเป็นบริษัทแรกที่ได้รับอนุมัติเป็นรีเทลแบงก์ นอกจากนี้ก็จะมี บง.ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ไทยเคหะ และจีอี ซึ่งในการที่บริษัทเงินทุนแปลงสภาพเป็นแบงก์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องเพราะพนักงานยังไม่มีความรู้ในการปฏิบัติงานของแบงก์ ดังนั้นในช่วงแรกบริษัทจะให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการระบบและการวางโครงการที่จะเป็นแบงก์ มากกว่าการออกสินค้า และการขยายสาขา ซึ่งเมื่อบริษัทมีความพร้อมในเรื่องระบบแล้วก็จะสามารถที่จะออกสินค้าต่างๆได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ" นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติให้บริษัทเงินทุนแปลงสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์นั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการพิจารณาทั้งด้านปริมาณและระบบโครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน เช่น ต้องมีเงินกองทุนต่อความเสี่ยงตาม ที่กำหนด มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 15% ของสินทรัพย์ เป็นต้น
ตลอดจนโครงสร้างการจัดการด้านกรรมการและผู้บริหารบริษัท รวมถึงจะเน้นในเรื่องแผนในการดำเนินธุรกิจว่ามีความเหมาะสมในการที่จะทำธุรกิจในการเป็นสถาบันทางการเงิน ระบบบริหารความเสี่ยง
เรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานในการทำงาน เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ และแผนงานฉุกเฉิน เช่น การเปิดบริการเป็นธนาคารพาณิชย์วันแรกมีประชาชนมาฝากเงินแล้วเกิดปัญหา ว่าบริษัทมีระบบสำรองในการดำเนินงานอย่างไรบ้าง รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทมีความมั่นคงที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือไม่
บริษัทเงินทุนที่แปลงสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์ นั้น ธปท.เปิดโอกาสให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกรูปแบบ ยกเว้นการออกตราสารอนุพันธ์ และค้าเงินตราต่างประเทศ
การที่บริษัทเงินทุนจะสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ จะต้องมีการให้ส่วนต่างกับลูกค้ามากกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่แผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การบริหารการเงิน บริหารสินเชื่อ และการปฏิบัติงาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในปี 2548 บริษัทตั้งเป้ายอดสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2547 แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 70% สินเชื่อส่วนบุคคล 30% ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตน้อยกว่าปี 2547 ที่เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2546 เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ โดยปี 2547 บริษัทมีกำไร 300 ล้านบาท
"ปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นแบงก์ซึ่งสินเชื่อโต 30% ก็พอใจถึงแม้ในปี 2547 บริษัทจะมีสินเชื่อเพิ่มขึ้นถึง 40%ก็ตามแบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เก่าและใหม่ 80% สินเชื่อส่วนบุคคล 20% เราจะเน้นสินเชื่อบุคคล ซึ่งในส่วนของบัตรเครดิต ก็มีบริษัทในกลุ่มเอไอจีที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เราเชื่อว่าเรื่องการวางระบบเป็นแบงก์รายย่อยเราน่าจะพร้อม เราเป็นบง.ที่เป็นแบงก์ที่ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์"
ปัจจุบันบริษัทฯมีสินทรัพย์กว่า 20,000 ล้านบาท มีพนักงานประมาณ 300 คน และมีสาขาจำนวน 10 สาขาทั่วประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|