ไอเอ็นจีดึงเงินต่างชาติลุยตลาดหุ้นเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยพื้นฐานแกร่ง


ผู้จัดการรายวัน(31 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ไอเอ็นจี" หารือบริษัทแม่ตั้งกองทุนในต่างประเทศ เพื่อโยกเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ หลังทิศทางเศรษฐกิจไทยยังไปโลด คาดคลอดได้ภายในไตรมาสสองของปีนี้ ส่วนการตั้งกองทุน FIF รอแค่ก.ล.ต.วางกรอบการลงทุนเท่านั้น

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการหารือกับบริษัทไอเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในต่างประเทศ เพื่อเตรียมจัดตั้งกองทุนในต่างประเทศ เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเชื่อว่าในปีนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนน่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนในอัตราติดลบ โดยคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ภายในไตรมาสสองของปีนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวในอัตรา 5% ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะตอบรับกับกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานของบลจ.ไอเอ็นจี ในส่วนของกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) 2 กองประกอบด้วยกองทุนเปิด ไอเอ็นจีไทย ตราสารหนี้เอเชีย ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2547 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 23.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 10.63% ส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในรูปของเงินบาทอยู่ที่ 917.44 ล้านบาท ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 6.16%

ส่วนกองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต ปันผล ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2547 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 434.71 ล้าน บาท ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ตั้งกองทุนอยู่ที่ 5.26%

"การตั้งกองทุนในต่างประเทศครั้งนี้ น่าจะได้รับการตอบรับเนื่องจากเราอาศัยเครือข่ายของเอไอจี บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา"

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น บลจ.ไอเอ็นจี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ประกอบด้วย ธนาคารไอเอ็นจี เอ็น.วี. 49% แอตลาส แคปิตอล (ประเทศไทย) 44% และบริษัทไทยศรีซูริค 7%

ส่วนความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะประกาศออกมา ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในวงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอนุญาตให้กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะจัดสรรให้บริษัทจัดการครั้งละไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่คณะกรรมการกองทุนเห็นชอบให้ลงทุนในต่างประเทศได้ในวงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะจัดสรรให้บริษัทจัดการครั้งละไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเภทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่อนุญาตให้กองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนได้นั้น หากเป็นการลงทุนในตราสารทุนหรือหน่วยลงทุน จะต้องเป็นหลักทรัพย์ในประเทศที่มีองค์กรกำกับดูแลเป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือตลาดหลักทรัพย์เป็นสมาชิก ของ WFE หากเป็นตราสารหนี้ จะต้องได้รับการจัดอันดับระดับ investment grade ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะต้องดำรงอัตราส่วนการลงทุนตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด และจะต้องพิจารณาด้วยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมีเปิดเผยเป็นการทั่วไปเป็นภาษาอังกฤษและสามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.