ศึกพรประภารอบใหม่สยามกลการปะทะเคพีเอ็นเปิดรร.สอนดนตรี


ผู้จัดการรายวัน(12 เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

พบศึกธุรกิจในตระกูลพรประภารอบใหม่ เมื่อกลุ่มโรงเรียนสอนดนตรีสยามกลการ ของพรเทพ พรประภา ปะทะ เคพีเอ็น มิวสิค ของคุณหณิงพรทิพท์ ณรงค์เดช

ต่างฝ่ายต่างเร่งขยายตัวและปรับธุรกิจเพื่อการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรี ด้านสยามกลการเตรียมปรับภาพลักษณ์ใหม่ทั้ง 76 สาขา ส่วนเคพีเอ็นเปิดได้เพียง 2 ปี

เร่งเปิดสาขาตามมาติดๆพร้อมดึงครูสอนดนตรีจากสยามกลการเข้ามาร่วมงานกับเคพีเอ็นด้วย นายอำนาจ สันติชีวิน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด เปิดเผยว่า

ในปีนี้ทางบริษัทมีแผนที่จะปรับภาพลักษณ์ใหม่ ของโรงเรียดนตรีสยามกลการ หลังจากที่เปิดดำเนินการมานานกว่า 36 ปีแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาสาขาของโรงเรียนดนตรีสยามกลการ ที่เป็นของแฟรนไชส์ทั้งหมด

จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป แต่ยังคงมีชื่อของ สยามดนตรียามาฮ่า หรือสยามกลการ อยู่ด้วย ซึ่งสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนไม่น้อย ดังนั้น บริษัทจึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนให้เป็นชื่อเดียวกันทั้งหมด

โดยจะใช้ชื่อว่า โรงเรียนดนตรีสยามกลการ และมีสถาบันดนตรียามาฮ่าเป็นสถาบันรับรองหลักสูตรการสอน โดยมีนายพรเทพ พรประภา เป็นผู้อำนวยการสถาบัน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้เข้ามาเรียน การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนในครั้งนี้ จะดำเนินการพร้อมกับการปรับเปลี่ยน ภาพลักษณ์ของโรงเรียนใหม่ให้เหมือน กันทุกแห่ง ทั้งโลโก้ บรรยากาศ

และหลักสูตรการสอนที่ต้องมีครบทุกหลักสูตรในทุกสาขา โดยคาดว่าในปีนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จ 38 แห่ง จากสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ 76 แห่ง นอก จากนี้จะขยายสาขาเพิ่มในปีนี้อีก 10 แห่ง

โดยจะเน้นเปิดในศูนย์การค้าเป็นหลัก สำหรับผู้สนใจจะซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนดนตรีสยามกลการนั้น ไม่ต้อง เสียค่าใช้จ่ายมาก เพียงใช้เงินลงทุนขนาดพื้นที่ 400 ตารางเมตร ประมาณ 7-8 ล้านบาท

รองรับนักเรียนได้ 1,500 คนต่อเดือน เจ้าของแฟรนไชส์จะมีรายได้เดือนละ 1 ล้านบาท และเสียเพียงค่ารอยัลตี้ฟีให้แก่บริษัทเพียงเท่านั้น นายอำนาจ กล่าวว่า

การที่กลุ่มสยามกลการสนในเรื่องการเปิดโรงเรียนสอนดนตรีนั้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันใดที่สอนดนตรี และมีใบรับรอง ให้แก่ผู้เรียนโดยเฉพาะ จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ

ส่งเสริมให้เยาวชนมีความสามารถในการเล่นดนตรี โดยลูกศิษย์ที่จบไปและสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน อาทิ บุปผา ธรรมบุตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังถือเป็นช่องทางจำหน่ายเครื่องดนตรียามาฮ่า

ที่บริษัทเป็นผู้นำเข้ามา จำหน่าย ซึ่งพบว่านักเรียนที่เข้ามาเรียน ในโรงเรียนดนตรีสยามกลการ ทั้ง 100% จะซื้อเครื่องดนตรียามาฮ่าไปฝึกซ้อมที่บ้านด้วย อย่างไรก็ตาม

การดำเนินงานของโรงเรียนดนตรีสยามกลการที่ผ่าน มายังต้องอาศัยรายได้จากการขายเครื่องดนตรี ที่มียอดขายปีละกว่า 200 ล้านบาท เป็นส่วนช่วยพยุงธุรกิจ แต่เชื่อว่านับจากนี้ไปในส่วนของโรงเรียน

จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ในด้านการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีนั้น นายอำนาจ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งขันโดย ตรง ที่เปิดมาส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนสอนร้องเพลง และมีเพียง 1-2 สาขาเท่านั้น

ส่วนโรงเรียนสอนดนตรี เคพีเอ็น มิวสิค จะว่าไปแล้วก็เป็นทั้งคู่แข่ง และคู่ค้า ในส่วนของคู่แข่งขัน ต่างคน ต่างเปิดโรงเรียนโดยใช้หลักสูตรไม่เหมือนกัน ส่วนการเป็นคู่ค้าก็คือ

ยังซื้อเครื่องดนตรีของยามาฮ่าไปใช้ในการสอน และเด็กนักเรียนก็ซื้อเครื่องดนตรียามาฮ่าไปเล่นที่บ้านด้วยเช่นเดียวกัน เคพีเอ็น ชี้ ต่างจากสยามกลการ ทางด้านนายณพ ณรงค์เดช (บุตรชายคุณหญิงพรทิพย์)

ประธานบริหาร บริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด ในเครือบริษัท เคพีเอ็น โฮลดิ้ง ผู้บริหารสถาบันดนตรีเคพีเอ็น กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันดนตรีเคพีเอ็นจะแตกต่างจากการดำเนินงานของบริษัท

สยามดนตรียามาฮ่า จำกัดอย่างสิ้นเชิง โดยสถาบันดนตรีเคพีเอ็น จะเน้นการเรียนการสอนดนตรี ในลักษณะเน้นการพัฒนาหลักสูตรดนตรี ในระดับสูงขึ้นไป เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ ในดนตรี

รวมถึงการพัฒนาคุณภาพให้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่โรงเรียนสยามดนตรียามาฮ่า (หรือโรงเรียนดนตรีสยามกลการ) จะเน้นการขายเครื่องดนตรีมากกว่า การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน

ซึ่งเมื่อนักเรียนเรียนดนตรีในระดับที่สูงขึ้น ก็มีความ จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเครื่องดนตรีไปในระดับเดียวกับหลักสูตรที่เรียน และทางโรงเรียนสยามดนตรี ยามาฮ่า ก็จะขายเครื่องดนตรีให้กับนักเรียน

ซึ่งแตกต่างจากการบริหารงานของสถาบันดนตรีเคพีเอ็น เพราะเคพีเอ็นจะไม่เน้นการขายเครื่องดนตรีเลย แต่ก็มีเครื่องดนตรีไว้รองรับกับความต้องการของลูกค้า บ้าง แต่ไม่ทุกชนิด ปัจจุบันนี้

ลูกค้าส่วนใหญ่จะรู้จักโรงเรียนสยาม ดนตรียามาฮ่ามากกว่าเคพีเอ็น เพราะตั้งมานานกว่า 35 ปี ในขณะที่สถาบันดนตรีเคพีเอ็นเปิดให้บริการเพียง 2 ปีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทก็รู้ว่าจะเป็น

จุดอ่อนในการดำเนินงาน จึงได้เตรียมการรับมือด้วยการนำอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้ามาช่วยในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า การที่เลือกที่เรียนที่สถาบัน

ดนตรีเคพีเอ็น จะมีคุณภาพเหมือนกับเรียนที่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเปิดสอนมานาน สำหรับอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาและร่วมเขียนหลักสูตรให้กับเคพีเอ็น ได้แก่ อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร, อาจารย์วินัย พันธุรักษ์,

อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์, อาจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำ, ผศ.ธงสรวง อิศรางกูร ณ อยุธยา, ดร.รังสิมา บุณสินสุข, ผศ.ดวงใจ อมาตยกุล, อาจารย์วรรณฤดี หาญสมบูรณ์ และอาจารย์เศกพล อยู่สำราญ เป็นต้น

นอกจากนำจุดเด่นของอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีมารวมอยู่ที่เคพีเอ็นแล้ว ยังมีทีมงานระดับผู้บริหารอีก 7 คน ที่เคยร่วมงานกับคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งโรงเรียน สยามดนตรี ยามาฮ่า

มาร่วมงานกับเคพีเอ็นอีกด้วย ฉะนั้นด้วยประสบการณ์การทำงานของมืออาชีพ ประกอบกับมีอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีร่วมงานด้วย จะช่วยสร้างความมั่นใจว่าการเลือกเรียนที่สถาบันดนตรีเคพีเอ็นนั้น

จะได้คุณภาพแม้ว่าจะเปิดให้บริการ เพียง 2 ปีก็ตาม "คุณหญิงพรทิพย์ เป็นผู้ที่ริเริ่มและก่อตั้งโรงเรียนสยามดนตรียามาฮ่าแห่งแรกที่ถนนพระราม 1 ปทุมวัน เมื่อปี 2509 หรือเมื่อ 35-36 ปีก่อน

รวมทั้งเป็นผู้ที่ริเริ่มให้มีการประกวดร้องเพลงถ้วยพระราชทานชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย (KPN AWARD)

และการประกวดร้องเพลงยุวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินินาถ (KPN JUNIOR AWARD) ด้วย ซึ่งตรงจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า

สถาบันดนตรีเคพีเอ็นจะสามารถสอนนักเรียนให้คุณภาพได้ เห็นได้จากนักร้องหลายคนที่มีชื่อเสียงในขณะนี้ เคยผ่านการประกวดร้องเพลงที่ในเวทีนี้มาก่อน เช่น ทาทายัง, เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์, น้องพลอย

ณัฐชา, นนทิยา จิวบางป่า" นายณพ กล่าว เคพีเอ็นเร่งสยายปีก นายณพ กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่ม จะเน้นการขายแฟรนไชส์ และไม่เน้นการลงทุนเอง

เพราะการขายแฟรนไชส์จะช่วยให้มีสาขาให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วกว่าการลงทุนเอง และครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยผู้สนใจสมัครเป็นแฟรนไชส์ จะต้องเสียค่าสมัคร 750,000 บาทต่อ 5 ปี

สามารถต่ออายุสัญญาได้อีก 5 ปี สำหรับค่าระบบการจัดการ, ซอฟต์แวร์, ค่ารอยัลตี้ฟีเดือนละ 35,000 บาท และค่าสถานที่รวมตกแต่ง ซึ่งจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 350 ตารางเมตรขึ้นไป ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท

รวมลงทุนทั้งสิ้น 5 ล้านบาท คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 3 ปี บริษัทคาดว่า ในปีนี้จะเปิดสาขาของแฟรนไชส์ ได้ 15 แห่ง และจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 30 แห่ง ภายใน 3 ปี

ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่และต่างจังหวัด ตามหัวเมืองใหญ่ ๆ เช่น เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต เป็นต้น จากที่ปัจจุบันมีสาขารวม 6 แห่ง เป็นสำนักงานใหญ่ที่ลงทุนโดยบริษัทเอง 1 แห่ง

ตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนของแฟรนไชส์ อีก 5 แห่ง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสีวลี รังสิต สยามสแควร์, ปิยรมย์ สุขุมวิท ซอย101, เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และเซ็นทรัล ลาดพร้าว

"การเปิดสาขาใหม่นั้นจะไม่ใช่การแข่งขันกันเอง ระหว่างบริษัทกับแฟรนไชส์ เพราะสำนักงาน ใหญ่จะปรับตัวเองด้วยการพัฒนาหลักสูตร และเปิดสอนตั้งแต่หลักสูตรเบื้องต้นจนถึงหลักสูตรระดับบน

แต่แฟรนไชส์จะเน้นการเรียนในหลักสูตร เบื้องต้นเป็นหลัก ดังนั้น จะไม่มีการแข่งขันกันเอง แต่จะเป็นการสร้างฐานลูกค้า และสร้างตลาดของธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีมากกว่า" นายณพกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.