|
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หนังสือเรื่องนี้แม้มีความหนา 916 หน้า และมีถึง 2 เล่ม แต่ละเล่มมี 44 บท โดยคนอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องกันไป สามารถเลือกอ่านบทใดบทหนึ่งที่สนใจก่อนก็ได้ แต่ความสนุกของเนื้อหาทำให้อ่านได้หมดเล่มแทบไม่รู้ตัว
"เมื่อสมัยที่ยังเป็นนักเรียน ผมได้อ่านสมุดไดอารี่ของสมเด็จปู่ (สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ) ซึ่งท่านพ่อ (หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล) เก็บรักษาไว้มีทั้งหมด 27 หีบได้อ่านไปหลายเล่ม รู้ได้ว่าสมเด็จปู่ทรงรับภารกิจในกิจการงานของบ้านเมืองเป็นอย่างหนักตลอดพระชนมายุ และทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารบ้านเมืองในหลายๆ ด้าน แต่ผมไม่มีเวลามากพอที่จะอ่านสมุดไดอารี่ดังกล่าวได้ทั้งหมด ได้คิดไว้เป็นเวลานานแล้วว่าจะต้องหาคนที่มีความสันทัดในด้านนี้มาช่วยค้นคว้าจัดทำพระประวัติอย่างละเอียด เพื่อให้ลูกหลานทุกคนได้รู้และภาคภูมิใจในผลงานที่องค์ต้นราชสกุล "เทวกุล" ทรงทำไว้แก่บ้านเมือง"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ เล่าถึงที่มาความเป็นมาของหนังสือในวันเปิดตัวเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2548 ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์ บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศถึงสองสมัย สองรัชกาล (รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5) ทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 37 ปี มีพระประวัติชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติบ้านเมือง
ท่านเป็นโอรสองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิยมาวดี (เจ้าจอม มารดาเปี่ยม) มีพระขนิษฐา และอนุชา 4 พระองค์คือ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และสมเด็จกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ
ต่อมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เห็นผลงานการเขียนประวัติของพจน์ สารสิน ในหนังสือ "สารสินสวามิภักดิ์" ซึ่งเขียนโดยวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย จึงแน่ใจว่าเธอคือผู้มีความสามารถที่จะค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องราวพระประวัติให้เป็นที่น่าสนใจได้อย่างแน่นอน
วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่ได้ใช้เวลาค้นคว้าข้อมูลในเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่ต่ำกว่า 2 ปี นอกจากเอกสารส่วนพระองค์แล้ว ผู้เขียนยังได้ค้นคว้าข้อมูลจากอีกหลายๆ แหล่งด้วยกัน เช่น หอจดหมายเหตุแห่งชาติ สถาบันไทยคดีศึกษา และผลงานของนักประวัติศาสตร์ไทยอีกหลายท่าน
ผู้เขียนยังได้รับน้ำใจไมตรีจากคุณอาภา ศิริวงศ์ ณ อยุธยา ทายาทผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เอกสารส่วนตัวของจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ให้นำบันทึกส่วนตัวที่ไม่ได้รับการเปิดเผยมาก่อน ทำให้ประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งอันเป็นที่มาที่ไปของ "ยังสยามโซไซตี้" "วิกฤตการณ์วังหน้า" และ"การสาบานที่วัดพระแก้ว" มีความกระจ่างยิ่งขึ้น
วิธีการเขียนของเธอที่สามารถนำประวัติศาสตร์มาเป็นเรื่องเล่าที่มีสีสัน และได้อรรถรส ไม่ได้เขียนเรื่องในเชิงวิชาการของนักประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านสามารถมองเห็นเหตุการณ์ในอดีตได้อย่างกระจ่างชัด ทั้งยังรู้สึกรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวดของบรรพชนที่ต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกนักล่าอาณานิคมอย่างสุดความสามารถ ได้เรียนรู้วิธีคิดของผู้ปกครองประเทศที่เห็นคุณค่าของข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่าง "พระยอด เมืองขวาง"
รวมทั้งอีกหลายๆ เรื่องที่น่าหาอ่านในหนังสือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|