|
KSC Star Card
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเคเอสซีหันมาใช้ Celebrity เข้าช่วยกระตุ้นยอดขายชั่วโมงอินเทอร์เน็ต กลยุทธ์ทางการตลาดของวงการไอทีจึงเริ่มขึ้น
งานแถลงข่าวเปิดตัว "KSC Star Card" ของบริษัทเค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เน็ต จำกัด ถูกจัดขึ้นที่ห้องประชุมขนาดย่อม บริเวณชั้น 16 อาคารมาลีนนท์ ทาวเวอร์ สถานที่ตั้งของบริษัท บริหารจัดการสิทธิศิลปินไทย จำกัด หรือ Amtar พันธมิตรใหม่ของบริษัทที่ดูเหมือนจะแปลก และแตกต่างออกไปเท่าที่เคยมีมา
นับเป็นครั้งแรกที่เคเอสซีตัดสินใจเลือกใช้กลยุทธ์ Celebrity หรือการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการทำตลาดอินเทอร์เน็ตของตนเอง ด้วยการพิมพ์ภาพของดารา ถึง 12 คน 12 แบบตามราศีเกิดของดาราที่อยู่ในการดูแลของบริษัท บริหารจัดการสิทธิศิลปินไทย บนการ์ดชั่วโมงอินเทอร์เน็ต ที่ใช้ชื่อว่า "KSC Star Card" โดยตั้งความ หวังไว้ว่าภาพลักษณ์ของดาราเหล่านี้จะสามารถเรียกลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น ให้หันมาซื้อสินค้าการ์ดแบบใหม่กันได้มากขึ้น
แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ของการตลาดที่เลือกใช้ภาพลักษณ์ของคนมีชื่อเสียงในการเป็นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ตัวเอง เพื่อดึงกลุ่มคนให้จดจำสินค้าได้ง่ายและหันมาเลือกซื้อสินค้าของตนเอง แต่สำหรับ วงการอินเทอร์เน็ตในบ้านเรา เคเอสซีได้สร้างความแปลกใหม่ของรูปแบบการตลาด แบบนี้ได้ไม่น้อย
ผู้บริหารของเคเอสซียอมรับว่า บริษัทได้ทำการสำรวจล่วงหน้าก่อนตัดสิน ใจเปิดตัวการ์ดดาราครั้งนี้ และพบว่ากลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะวัยรุ่นนั้นไม่เพียงแต่ยอมรับการ์ดที่มีรูปดาราคนโปรดของตนเองเท่านั้น แต่หวังไว้ว่าการ์ดแผ่นนั้นจะให้สิทธิประโยชน์อะไรที่นอกเหนือกว่าการได้ชั่วโมงอินเทอร์เน็ตไปเล่นที่บ้านและได้การ์ดที่มีรูปดาราเอาไว้สะสมเท่านั้น
นี่เองเป็นที่มาทำให้เคเอสซี ต้องเปิดกลวิธีการทำตลาดเพิ่มเติมแบบที่ เรียกว่า Combination คือการรวมเอาสิทธิประโยชน์หลายๆ อย่างเอาไว้ให้กับผู้ซื้อการ์ดแบบนี้ โดยวิธีการแบบนี้จะเป็นแนวทางการทำตลาดของบริษัทอย่างต่อเนื่องนับจากนี้เป็นต้นไป
ลูกค้าที่ซื้อการ์ดที่มีรูปดาราคนโปรดของตนเอง ยังจะมีโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมร่วมกับดารารายนั้นๆ ทั้งการพูดคุย และสนทนาผ่านระบบออนไลน์แบบสดๆ ทางเว็บไซต์ของเคเอสซีเอง หรือจะเป็นการทำกิจกรรมนอกสถานที่ ดูหนัง ฟังเพลง ทานข้าวแบบส่วนตัวกับดารารายนั้นๆ สำหรับผู้โชคดีตามเงื่อนไขของเคเอสซี โดยปีนี้ทั้งปี เคเอสซีต้องควักกระเป๋าในการทำกิจกรรมแบบนี้ตลอดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้เคเอสซีหวังจะรุกกลุ่มวัยรุ่นที่อำนาจการซื้อหรือการตัดสินใจจับจ่ายมากกว่ากลุ่ม first jobber หรือกลุ่ม management แล้ว แต่ยังหวังว่ากลุ่มคนที่ใช้ free internet และกลุ่มคนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตของตนเลยจะเข้ามาใช้บริการอินเทอร์เน็ตของตนมากขึ้นด้วย
ความยากลำบากของการทำตลาดอินเทอร์เน็ต narrow band หรืออินเทอร์เน็ตโมเด็มบ้าน 56k อยู่ที่การทำให้ผู้บริโภค เห็นความแตกต่างและความคุ้มค่าของการใช้งานของอินเทอร์เน็ตแบบนี้ในยุคที่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ราคาเริ่มตก หลายคนโดยเฉพาะลูกค้าหน้าเก่าเปลี่ยนฐานการใช้งานไปใช้อินเทอร์ เน็ตบรอดแบนด์แทนเนื่องจากพบว่าราคาที่เสียไปกับการใช้งานได้เร็วขึ้นนั้นคุ้มค่ากว่าการใช้ narrow band แบบเดิมๆ
เคเอสซีเองเชื่อว่าความคิดของกลุ่มคนใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่หากทำความเข้าใจกันเบื้องต้น ผู้บริโภคก็จะพบว่าในความเป็นจริงแล้ว กิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้แตกต่างกันไม่ว่าจะ narrow band หรือบรอดแบนด์ คนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้เพื่อเปิดเว็บไซต์ แชท หรือเช็กอีเมลตามปกติ เพียงแต่ ว่าได้ความเร็วที่ต่างกันเท่านั้นเอง
ดังนั้นหากถามว่าตลาด narrow band จะเป็นอย่างไร เคเอสซีก็ยังเห็น potential ในการทำตลาดตรงนี้ได้อีก เพียงแต่ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์มาเพิ่มการทำตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ เริ่มอิ่มตัว ปัจจัย สำคัญยังอยู่ที่จำนวนการใช้คอมพิวเตอร์ ต่อหัวของไทยนั้นยังน้อยนัก หลายคน เชื่อว่าคอมพิวเตอร์ที่จะเพิ่มขึ้น ก็ย่อม จะส่งผลให้ตลาดอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
เคเอสซียังพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการทำตลาดอินเทอร์เน็ตในตอนนี้ก็คือการมีพันธมิตรให้มากที่สุด เพราะยิ่งเคเอสซี มีพันธมิตรแปลกใหม่ และมากขึ้นเท่าใด ก็เหมือนกับมีความได้เปรียบอยู่ในมือ เหนือ กว่าคู่แข่งก็ตรงนี้นี่เอง การจับมือกับบริษัท บริหารจัดการสิทธิศิลปินไทย ใช้ภาพลักษณ์ ของดาราเพื่อขายสินค้าก็เป็นอีกความได้เปรียบหนึ่งที่เคเอสซีเชื่ออย่างนั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|