Success Story ของมิตรผล

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นี่คือความสำเร็จของมิตรผล ในการนำระบบไอทีมาใช้ในองค์กร แม้จะตีราคาเป็นค่างวดไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้คือประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

ด้วยความที่สั่งสมประสบการณ์ในวงการผลิตน้ำตาลมานานกว่า 50 ปี ทำให้ปัจจุบันมิตรผลสามารถขยายธุรกิจของตนเองให้เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศ ด้วยสัดส่วนการผลิตน้ำตาลถึง 18 เปอร์เซ็นต์ของตลาดทั้งหมด เช่นเดียวกันกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์กรขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากเดิม ที่มิตรผลมีโรงงานครอบคลุมในจังหวัดภาคอีสานและกลางของไทยเท่านั้น ปัจจุบันมิตรผลยังเข้ารุกเปิดโรงงานในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอีกถึง 5 โรงงาน

กรอบของงานที่หนักอึ้งของการขยายจำนวนโรงงานและจำนวนไร่อ้อยของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยส่งให้กับมิตรผล ไม่ได้เป็นปัญหาของการบริหารจัดการแต่อย่างใด เนื่องจากถูกผ่อนแรงลงด้วยตัวช่วยสำคัญอย่าง "เทคโนโลยี"

มิตรผลเริ่มนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเลือกใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม หรือ GIS (Global Information System) ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด มาใช้วางแผนการจัดการการปลูกอ้อยของชาวไร่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การวางแผนก่อนปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวเพื่อเข้าหีบอ้อย และผลิตเป็นน้ำตาล

วิทยา คลังพหล ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด คือเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยผลักดันให้โครงการนี้ผ่านไปได้ด้วยดี เขาเปิดเผยว่า ก่อนหน้าที่จะมีภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเข้ามาช่วยนั้น ทางมิตรผลต้องส่งทีมงานเข้า ไปสำรวจเป็นแมนนวลหรือใช้มือทำแทบทั้งหมด ทีมงานต้องเข้าไปจดว่าพื้นที่ของชาวไร่ทั้งหมดอยู่ช่วงไหนของการเพาะปลูก เช่นเดียวกันกับเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยส่งให้กับมิตรผลเพื่อนำไปผลิตน้ำตาลต่อไปนั้น ทุกครั้งก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการบริษัทต้องนำที่ดินมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก่อน ทีมงานเองก็ต้อง อาศัยการวาดภาพสเกลของพื้นที่ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ค่อยแม่นยำ แต่เมื่อมีภาพถ่ายผ่านดาวเทียมเข้ามาช่วยทำให้การกำหนดระยะ หรือพื้นที่ไร่นั้นแม่นยำมากขึ้น

ภาพถ่ายพื้นที่ทั้งหมดจะถูกแยกให้เห็นความแตกต่างของลักษณะไร่ในเวลานั้นๆ ซึ่งแบ่งความแตกต่างออกเป็นสีต่างๆ และสีที่แตกต่างกันนี้เองช่วยบ่งชี้ได้ว่า ณ ขณะนั้นไร่ใดอยู่ตรงช่วงใดของการเพาะปลูก เช่น ช่วงของการเตรียมปลูก ปลูกหรือ การตัด ทำให้ทีมงานของมิตรผลสามารถวางแผนได้ว่า จะเข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงเวลานั้นได้อย่างไร และให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง ซึ่งการช่วยเหลือ และติดตามเกษตรกรในเรื่องของการเพาะปลูกจะทำให้จำนวนอ้อยนั้นเพิ่มสูงขึ้นและมีคุณภาพสามารถผลิตน้ำตาลได้มาก

ทุกครั้งที่พนักงานส่งเสริมชาวไร่อ้อยเดินทางลงพื้นที่เพื่อพบกเกษตรกรในโครงการ พนักงานจะพกอุปกรณ์พ็อกเก็ตพีซีของเอชพี ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่แรกในเรื่องอุปกรณ์ดังกล่าว โดยพ็อกเก็ตพีซีจะถูกเชื่อมต่อด้วย อุปกรณ์ GPS (Global Positioning System) เพื่อใช้ในการระบุตำแหน่งของพื้นที่ที่ไปสำรวจโดยทีมงานสามารถเปิดซอฟต์แวร์การทำงานได้ทันทีผ่านพ็อกเก็ตพีซีเมื่ออยู่ในพื้นที่ไร่ เพื่อทำการรับข้อมูลพิกัดของตำแหน่งที่อยู่ในขณะนั้น ทำให้มิตรผลได้ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของพื้นที่ในสเกลที่ตรงความจริงมากที่สุด ก่อนนำภาพของไร่อ้อยในโครงการทั้งหมดมาต่อเรียงเข้าด้วยกันเป็นแผนภาพขนาดใหญ่ออกมา และทำการประเมินสภาพ วางแผนและส่งทีมไปแนะนำชาวไร่ในการเพาะปลูก

พนักงานเองยังสามารถป้อนข้อมูลของไร่อ้อยนั้นๆ เข้าในระบบได้เพิ่มเติม เช่นติดกับตำแหน่งสำคัญใดบ้าง หรือจะเก็บข้อมูลชาวไร่และบันทึกไปในพ็อกเก็ตพีซีได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาจดลงกระดาษ โดยปัจจุบันมิตรผลเริ่มนำระบบดังกล่าวเข้ามาใช้กับโรงงานในแถบภาคอีสาน ก่อน ครอบคลุม 3 โรงงานคือ ชัยภูมิ ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ และเริ่มที่จะขยับมาทางภาคกลางแถบจังหวัดสุพรรณบุรี และสิงห์บุรี ในเร็ววันนี้

วิทยายังกล่าวด้วยว่า ระบบนี้ทำอะไรได้มากกว่าที่คิดไว้ เพราะด้วยการเริ่ม นำระบบนี้มาใช้ส่งผลให้ตอนนี้มิตรผลตัดสินใจที่จะพัฒนา "ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการไร่อ้อย" หรือที่เรียกว่า CIS (Cane Information Management System) เพื่อเก็บข้อมูลชาวไร่ ทั้งจำนวนไร่ ประวัติชาวไร่ หนี้สิน การเพาะปลูกอย่างสมบูรณ์แบบ และนำขึ้นในรูปของเว็บแอพพลิเคชัน ในอนาคตอุปกรณ์พ็อกเก็ตพีซีทำการส่งข้อมูลที่เก็บได้เข้าระบบนี้ได้ทันที แบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอส หรือ จะใช้เปิดดูข้อมูลได้ทันทีผ่านการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลที่เรียกว่า เว็บเซอร์วิส

ไม่เพียงแค่นั้น ข้อมูลทั้งหมดจะเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ประวัติชาวไร่ และฐานข้อมูลแปลงเพาะปลูก ภาพแผนที่ไร่และอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการเข้าถึง ด้วย ทำให้มิตรผลสามารถบริหารจัดการชาวไร่มากขึ้น เช่นเดียวกันกับธนาคารที่มีฐานข้อมูลลูกค้าทำให้สามารถแนะนำในวิถีทางที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ในอนาคตมิตรผลยังเตรียมตั้งตู้ kios แบบทัชสกรีน ตามเขตส่งเสริมชาวไร่กว่า 50 เขต ที่ขึ้นตรงในแต่ละโรงงานในภาคต่างๆ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ ไร่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยอยู่แล้ว ซึ่งเขตส่งเสริมทุกแห่งของมิตรผลในปัจจุบันฐานข้อมูลทั้งหมดถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ของดาวเทียมไอพีสตาร์อยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้ามาเปิดดูข้อมูล ทั้งหมดได้ทันที ทั้งข้อมูลของตัวเอง พื้นที่ไร่และอื่นๆ ที่เปิดสิทธิ์ให้เข้าดูได้

ชาวไร่ประมาณ 4-5 พันรายที่อยู่ใน โครงการของมิตรผล ช่วยสร้างผลผลิตอ้อย ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี และสามารถผลิตน้ำตาลได้ประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี หากระบบนี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น มิตรผลเชื่อว่าการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก จะทำให้ผลิตผลของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย

"แม้จะยังไม่ประเมินว่าผลตอบแทน ในเชิงมูลค่านั้นเป็นเท่าใด แต่เราพบว่าประสิทธิภาพในการบริหารจัดการนั้นดีขึ้น เราสามารถควบคุมดูแลจากส่วนกลางได้ดีขึ้น ผู้บริหารสามารถมองภาพรวมของบริษัทได้ดีกว่าเดิม และข้อมูลที่ได้นับจากนี้จะต่อยอดไปใช้ในแง่ของการนำมาประมวลผลเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินกิจการต่อไป หรือที่เรียกกันว่า Business Intelligence หรือ BI ด้วย" วิทยากล่าวทิ้งท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.