พลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ถึงคราวที่เอไอเอสหันลำกลับหาเลือดใหม่เข้าเสริมทัพ หลังจากค้นพบตลาดสื่อสารต้องอาศัยคนที่จบสาขาหลากหลายมากกว่าวิศวกรรมศาสตร์

แม้จะไม่ใช่แนวคิดที่ใหม่อะไร ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะเลือกคนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานด้วย เสมือนกับเป็นส่วนเสริมให้องค์กรนั้นมีความลงตัวยิ่งกว่าที่เคยเป็น แต่สำหรับเอไอเอส องค์กรที่มีอายุมายาวนานในวงการธุรกิจการสื่อสาร การเลือกที่จะให้ความสำคัญและใส่ใจเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มีความหมายเพียงแต่ได้คนมาทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่กลับหมายถึงการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลและระบบการทำงานของบริษัทไปในตัว เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ผู้บริหารเสนอ คือ คนในกลุ่มสาขาศิลปศาสตร์มากกว่าจะเป็นวิศวกรอย่างที่เคยผ่านมาตลอด

เอไอเอสได้ยกให้ปีนี้ทั้งปีเป็นปีแห่งบุคคลหรือที่เรียกว่า "people year" จะเป็นปีที่ให้ความสำคัญแก่พนักงานในองค์กรเป็นพิเศษ ผู้บริหาร โดยเฉพาะบุญคลี ปลั่งศิริ แนะให้หันมาใช้ retention กับพนักงานในองค์กร พอๆ กับการใช้วิธีการเดียวกันนี้กับผู้บริโภคของบริษัท เช่นเดียวกันบุญคลีถึงกับออกปากว่า นับต่อจาก นี้เอไอเอสจะต้องมีพนักงานเลือดใหม่ที่เข้ามาเสริมทัพ จะต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างตัวบริการขึ้นมาให้แก่เอไอเอส ซึ่งนับจากนี้จะเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่บริษัท และจะหาคนแบบนี้ได้ก็ต้องเป็นคนที่จบในสาขาต่างๆของศิลปศาสตร์ จำนวนของการรับคนกลุ่มนี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่ากลุ่มวิศวกรอย่างที่ผ่านมา เนื่องจาก infrastructure ของเอไอเอสถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว

New World Order หรือ NWO ถือเป็นโครงการเล็กๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ กลางปีที่ผ่านมา เพื่อตอบรับกับแนวทางของการรับคนแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นของเอไอเอสนับต่อจากนี้ โครงการดังกล่าวเปิดรับเด็กรุ่นใหม่เพียง 4 คน ที่ยังไม่จบการศึกษาจากทั่วประเทศ แบบไม่จำกัดสาขา เข้ามาร่วมสอบข้อเขียน สอบวัดสภาวะทางจิตใจและความคิดหรือที่เรียก EQ ต้องผ่านด่านการประเมินผลความสามารถในความคิดหลายด่าน ทั้งแบบกลุ่ม แบบเดี่ยว และมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทสัมภาษณ์ก่อนที่จะเข้ามาร่วมทำงาน เป็นทีมงานเล็กๆ ที่ช่วยคิดค้นบริการใหม่ๆ ให้กับบริษัทตลอดระยะเวลา 1 ปีเต็ม โดย ได้สิทธิพิเศษทั้งสวัสดิการ เงินเดือนและการพิจารณาเข้าทำงาน เมื่อจบการศึกษา

แม้จะเป็นโครงการที่เน้นให้เด็กๆ ได้เข้าร่วมสังคมการทำงานก่อนทำงานจริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอไอเอสกำลังทดลองแนวความคิดของการผสมผสานทีมงานที่มากกว่าเป็นวิศวกรหรือการเงิน การบัญชีเพียงอย่างเดียว เอไอเอสอาจจะอยากรู้ว่าส่วนผสมที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเป็นส่วนผสมที่พอเหมาะและสร้างประโยชน์ได้จริงหรือไม่

วรพล เทศนา เด็กหนุ่มจาก BBA International Program คณะพาณิชย ศาสตร์และการบัญชี สาขาการตลาดจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ NWO ด้วยสาเหตุที่เอไอเอสระบุว่า เขามีความสามารถ ในแง่ของการมีมุมมองเชิง business model และ consolidation อย่างที่คนอื่นไม่มีมุมมองนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นอย่างมากใน การร่วมทีมในการพัฒนาบริการใหม่ๆ ขึ้น

อรณัฐ วงษ์ทองดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นเด็กสาวที่มาจากสาขาที่เอไอเอสอาจจะไม่เคยพิจารณาให้เข้าทำงานในองค์กรมาก่อนด้วยซ้ำ แต่สำหรับโครงการนี้เธอผ่านการคัดเลือกหลายด่านด้วยแววของการมีความคิดในเชิงการวิเคราะห์ที่มากกว่าคนอื่นๆ และสิ่งนี้ดูเหมือนจะสำคัญไม่น้อย เช่นเดียวกันกับ สิงหพงษ์ สุคันโธ นักศึกษา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของกลุ่ม เนื่องจากธุรกิจการพัฒนาบริการ บทบาทของความสามารถของสิงหพงษ์ ในแง่ของการรู้จักเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีมีส่วนให้การพัฒนานั้นผ่านไปได้โดยไม่ติดขัด

ขณะที่ปราโมทย์ ไทยเพชร์กุล นักศึกษาสาขาการโฆษณา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ ABAC เด็กหนุ่มที่ร่ำเรียน มาจากสาขาของศิลปศาสตร์เพียงคนเดียวในกลุ่ม คือส่วนผสมที่เข้ามาช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ ให้กับการพัฒนาบริการใหม่ในอนาคต

ทั้งหมดจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการเป็นพนักงาน ส่วนด้านหน้า ชั้น 16 ตึกเอไอเอส ถูกแบ่งกั้นเป็นห้องขนาดเล็ก ตกแต่ง และเพิ่มเครื่องใช้สำนักงาน คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ดูทันสมัย พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตลอด 24 ชั่วโมง และยูบีซี สำหรับเด็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ทั้งหมดมีโจทย์ที่รับมาจากผู้บริหาร ว่าจะต้องเข้าไปช่วยระดมความคิด เสนอความคิดเห็นของตนแก่โครงการใดบ้าง โดยมุมมองของกลุ่มคนทั้ง 4 จะเข้าไปช่วยเสริมสำหรับทีมผู้คิดค้นตัวบริการที่มีอยู่แล้ว และทุกคนก็ต้องมีผลงานของตนเอง ในการควบคุมดูแลการผลิตตัวบริการใหม่ๆ ออกมาก่อนที่จะจบสิ้นวาระของโครงการในกลางปี 48

"ผมพบว่าการทำงานจริงๆ มันไม่เหมือนกับที่เรียนรู้มาจากห้องเรียน ในความเป็นจริงแล้วพวกผมที่เรียนวิศวกรรมนั้นค่อนข้างคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอน logic มากๆ ตอนแรกๆ มาทำงานก็ยังสงสัยว่าทำไมเพื่อนๆ ถึงได้คิดไปอีกทางไม่เหมือน กับพวกเราเลย แต่พอหันย้อนกลับไปคิดอย่างที่เขาเองเสนอออกมาก็พบว่า มันเป็น ทางเลือกที่ดีไม่น้อย ทำให้ผมเรียนรู้ว่า การที่มีทีมงานในสาขาที่หลากหลายทำงานร่วมกันอยู่มันช่วยเติมเต็มอะไรหลายๆ อย่างของเนื้อหางานให้ลงตัว โดยปกติหากว่าผ่านการคิดวิเคราะห์มาจากอรณัฐแล้ว ปราโมทย์อาจจะช่วยคิดสร้างสรรค์อย่างที่เขาถนัด ส่งโยนมาให้ผมช่วยดูว่ามีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยีมากแค่ไหน ส่วนวรพลจะเสริมมุมมองเชิงธุรกิจว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผมเชื่อว่า ค่อนข้างดีเลยทีเดียว" สิงหพงษ์กล่าวไว้เมื่อครั้งที่ "ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนถึงที่ทำงานของพวกเขา

เช่นเดียวกันกับอีก 3 คน ทั้งหมดล้วนแต่เชื่อว่า มุมมองของผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่เพียงสาขาวิศวกรรมเท่านั้น น่าจะเป็นทางเลือก ที่สำคัญมาก เพราะนั่นหมายถึงการเติมเต็มความคิดซึ่งกันและกันให้สมบูรณ์แบบนั่นเอง

"ผมว่าโครงการนี้ทำให้เรารู้ว่าตัวเราเองถนัดด้านไหน มันแฝงอยู่ในตัวเราตั้งแต่แรกแต่เราไม่เคยได้ใช้มัน ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งพูดไว้ว่า ทักษะของคนเราก็เหมือนกับลิ้นชัก ถ้าไม่หมั่นเปิดมัน มันก็อาจจะเป็นสนิมได้ หากเปิดบ่อยๆ ก็จะเปิดง่ายและหยิบอะไรใส่หรือเอาออกมาก็ทำได้สะดวกยิ่งขึ้น ผมว่าการได้เข้าร่วมโครงการก็คงเหมือนกับการเปิดลิ้นชักนั่นแหละ" วรพลกล่าว

วรพลคือคนแรกที่มีผลงานออกสู่ตลาดจริง ด้วยการทำงานร่วมกันกับบริษัท ไซเบอร์แพลนเนตในการพัฒนาเกมบนโทรศัพท์มือถือตัวใหม่ภายใต้ชื่อ "มูนทรา คิดส์" ขณะที่ที่เหลือต่างมีโครงการของตัวเองในการดูแล และน่าจะพร้อมเปิดตัวทำตลาดในเร็ววันนี้ด้วย

ทั้ง 4 ต้องหันหลังให้กับการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยของตนเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อมาทำงานในบริษัทเอไอเอส แต่ทั้งหมดเชื่อสิ่งที่ได้ถือว่ามากมาย เพราะไม่เพียงแต่ได้โอกาสเท่านั้น ยังได้ประสบ การณ์นอกห้องเรียน และแม้ทุกคนจะบอกได้ไม่เต็มปากว่า เมื่อผ่านการทำงาน ที่เอไอเอสแล้ว หลังจากจบการศึกษาจะกลับ มาสมัครงานที่นี่หรือไม่ แต่ทั้งหมดต่างก็ยอมรับว่าระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้พวกเขา รู้จุดหมายว่านับจากนี้ตนเองจะต้องหาความรู้ในด้านไหนให้กับตนเองเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถไปถึงเป้าหมายอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็นในที่สุด

แน่นอนสำหรับเอไอเอสแล้วเมื่อครบระยะเวลาของโครงการดังกล่าว 1 ปี คำตอบที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร นั่นก็ถือ เป็นข้อพิสูจน์แนวความคิดของโครงการและ คงจะมีผลต่อการรับพนักงานเข้ามาทำงาน ในองค์กรนับต่อจากนี้ด้วยไม่น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.