ขึ้นแท็กซี่ก็รูดการ์ดได้


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเป็นครั้งแรกของระบบการชำระค่าโดยสารแท็กซี่ผ่านบัตรเครดิตในประเทศไทย เมื่อมาสเตอร์การ์ดร่วมมือกับสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินเจนนิโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด นำระบบการชำระค่าโดยสารแท็กซี่ผ่านบัตรเครดิตมาให้บริการตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา

บริการในระยะแรกจะเป็นช่วงของการทดลอง มีรถแท็กซี่ที่ติดตั้งระบบนี้จำนวน 10 คัน จะวิ่งรับผู้โดยสารตามจุดสาธารณะต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม ศูนย์ประชุมนานาชาติสิริกิติ์ รวม 27 จุด ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บัตรมาสเตอร์การ์ดในการชำระค่าโดยสารแทนเงินสด ผ่านเครื่องรูดบัตรเครดิตที่ติดตั้งอยู่ภายในรถและชำระค่าโดยสารได้ตั้งแต่ 35 บาท ที่เป็นราคาเริ่มต้นของค่าแท็กซี่ทั่วไป แต่จะต้องบวกเพิ่มค่าธรรมเนียมการใช้งานอีก 10% จากราคามิเตอร์

จุดเด่นประการหนึ่งของการชำระเงินด้วยวิธีนี้คือผู้โดยสารจะได้รับสลิปบัตรเครดิตที่ระบุข้อมูลเอาไว้ทั้งหมายเลขทะเบียนรถ ช่วงเวลาในการใช้งาน รวมทั้งสถานที่ที่ใช้บริการช่วยให้สามารถติดตามสิ่งของในกรณีที่หลงลืมเอาไว้ได้ รวมทั้งยังใช้เป็นใบเสร็จสำหรับพนักงานบริษัทที่จะนำไปเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริงอีกด้วย

ก่อนหน้าที่จะเปิดให้บริการครั้งนี้ได้มีการทดลองระบบให้แท็กซี่ทดลองใช้มาระยะหนึ่ง ซึ่งผลตอบรับที่ได้จากกลุ่มคนขับแท็กซี่เป็นที่น่าพอใจ เพราะช่วยเพิ่มความสะดวกจากการที่ไม่ต้องทอนเงิน ในขณะที่ระยะเวลาในการทำรายการเฉลี่ยประมาณ 5-6 วินาที โดยที่คนขับแท็กซี่จะได้รับเงินค่าโดยสารโอนเข้าบัญชีที่สามารถถอนได้ทันทีในวันรุ่งขึ้น เร็วกว่าการทำรายการของร้านค้าทั่วไปที่ต้องใช้เวลานานกว่านั้น

ถึงแม้บริการนี้จะเป็นความร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด แต่ผู้บริหารของอินเจนนิโก้ฯ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบระบุว่า ระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งมาสเตอร์การ์ด วีซ่าและบัตรเดบิตทั่วไป โดยนอกจากไทยที่ให้บริการในครั้งนี้แล้ว ยังมีที่อังกฤษและญี่ปุ่นที่เปิดให้บริการพร้อมกัน นอกจากนี้ยังมีที่ออสเตรเลีย ซึ่งติดตั้งอยู่ในรถแท็กซี่จำนวน 25,000 คัน

สำหรับบทบาทของธนาคารนครหลวงไทยในความร่วมมือ ครั้งนี้คือ การจัดการทรานแซกชั่นที่เกิดขึ้น รวมทั้งจัดการระบบออนไลน์ที่ต้องใช้ในการทำงานของระบบด้วย โดยจะมีผลตอบแทนในรูปส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียม 10% ที่เกิดขึ้น อย่างไร ก็ตาม ผู้บริหารธนาคารยอมรับว่า รายได้ที่ธนาคารจะได้รับจากบริการนี้จะมีจำนวนไม่มากนัก ในระยะ 6 เดือนแรกจะขาดทุนแน่นอน เพียงแต่ธนาคารหวังผลในระยะยาวและเป็นการเพิ่มธุรกรรมทางการเงินของธนาคารให้มีมากขึ้น ตอกย้ำแนวคิดการเป็น Financial Supermarket ที่เป็นยุทธศาสตร์ของการเป็นธนาคารครบวงจร (Universal Bank) อีกทั้งยังช่วยให้ธนาคารก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในความทันสมัยอีกด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.