Scholl 100 ปี ไม่ได้มีแค่รองเท้า

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่จะรู้จัก Scholl ในฐานะรองเท้าเพื่อสุขภาพ แต่แบรนด์ที่มีอายุ 100 ปีรายนี้ ไม่ได้มีสินค้าเพียงเท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาเท้าที่คาดหวังความสำเร็จในตลาดไทยไม่น้อยเช่นกัน

ปี 2547 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเป็นช่วงเวลาสำคัญของแบรนด์ Scholl เนื่องจากมีอายุครบ 100 ปี สกอลล์วางตำแหน่งตัวเองเป็นรองเท้าและผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพเท้ามาโดยตลอด ทำให้เป็นแบรนด์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเท้าอันดับต้นๆ ที่ผู้ใส่ใจในสุขภาพเท้านึกถึง

จุดกำเนิดของสกอลล์มาจาก ดร.วิลเลี่ยม สกอลล์ ผู้ก่อตั้ง ซึ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่ปี 1899 ด้วยวัย 17 ปีในร้านรองเท้าเล็กๆ ในเมืองชิคาโก เขาเรียนรู้และ ฝึกหัดเรื่องราวเกี่ยวกับรองเท้าและผลิตภัณฑ์ดูแลเท้าที่นี่เอง ประสบการณ์การทำงานในร้านรองเท้าแห่งนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับเขาอย่างมากเมื่อเห็นลูกค้า จำนวนมากมีอาการเจ็บเท้าหรือไม่สบายเท้า

ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ ด้วยความตั้งใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคของมนุษย์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกายวิภาคและสรีรวิทยาของเท้า ในระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียนแพทย์เขาได้ คิดค้นผลิตภัณฑ์ในชื่อ ฟุต-อีสเซอร์ (Foot-Eazer) ขึ้นเป็นชิ้นแรกเพื่อช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของส่วนโค้งของอุ้งเท้า โดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง

เมื่อจบการศึกษาด้วยวัย 22 ปีในปี 1904 เขาตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองด้วยการผลิตฟุต-อีสเซอร์ ออกวางจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีและต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพเท้าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

จากนั้นวิลเลี่ยม สกอลล์ ร่วมมือกับแฟรงค์ สกอลล์ ผู้เป็นน้องชายในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลเท้าจนครอบคลุมการรักษาอาการไม่สบายเท้าได้มากยิ่งขึ้น นอกจากการเป็นนักประดิษฐ์แล้ว ดร.สกอลล์ยังเป็นครูและนักเขียนที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการดูแลเท้าอีกด้วย นอกจากนี้ในปี 1912 เขาได้ก่อตั้งวิทยาลัยหัตถและบาทา ศาสตร์และกระดูกแห่งอิลลินอยส์ (Illinois College of Chiropody and Orthopaedics) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นสถาบันการสอนในสาขานี้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา

ปีถัดมาเขาขยายกิจการออกต่างประเทศและเปิดร้าน Dr.Scholl's Foot Comfort Service แห่งแรกขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 1916 เขาริเริ่มจัดงานสัปดาห์ความสบายของเท้าแห่งชาติประจำปี (The Annual National Foot Comfort Week) ขึ้น

ในช่วงทศวรรษที่ 30 นอกจากผลิตภัณฑ์รองเท้าแล้ว ดร.สกอลล์ได้ขยายไปสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อความสบายของเรียวขาและเริ่มวางตลาดผลิตภัณฑ์ถุงเท้าที่ใช้ระบบกดรัดหลายตัวเพื่อผ่อนคลายอาการข้อเท้าบวมและเส้นเลือดขอดอีกด้วย

ถึงแม้กิจการของสกอลล์จะประสบความสำเร็จและขยายตัวไปได้มาก แต่ผลิตภัณฑ์ที่ฮิตติดตลาดในวงกว้างและเป็นตัวสร้างชื่อให้สกอลล์โด่งดังในระดับนานาชาติก็คือ Scholl Exercise Sandal ที่ผลิตและนำออกวางจำหน่ายในปี 1959 จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้รองเท้ารุ่นนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของรองเท้าสกอลล์เลยทีเดียว โดยดาราดังในยุค 60 และ 70 ต่างก็ พากันสวมใส่รองเท้ารุ่นนี้ออกปรากฏโฉมต่อสาธารณชนอยู่เสมอ

ช่วงนี้เองที่รองเท้าสกอลล์เริ่มเข้ามาสู่ผู้บริโภคชาวไทย เริ่มจากการไปซื้อจากต่างประเทศนำกลับมาใช้งานและเป็นของฝากให้กับญาติมิตร จนกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้มีรายได้สูง บริษัทฟลีท อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นช่องทางทำตลาดในประเทศจึงได้ติดต่อขอไลเซนส์เพื่อทำการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์สกอลล์ภายใต้การดำเนินงานของฟลีทฯ ประสบความสำเร็จตามความคาดหมาย ด้วยความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ในยุคนั้นยังไม่มีรองเท้าลำลองเพื่อสุขภาพที่ชัดเจน อีกทั้งยังใช้วัสดุสังเคราะห์ชนิดใหม่ ที่มีความทนทาน มีรูปแบบที่ทันสมัยและเน้นในเรื่องสุขภาพเท้า ประกอบกับการใช้สื่อผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำให้สกอลล์เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทยอย่างมาก มากจนถึงขนาดที่เกิดสินค้าปลอมออกวางขายแย่งรายได้ไปมาก จนบริษัทต้องออกร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจออกปราบปราม

ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์สกอลล์ในไทยเป็นไปด้วยดีอยู่นั้น บริษัทแม่ที่อังกฤษมีการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น จนเกิดเป็นบริษัทเอสเอสแอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขึ้นและได้ยกเลิกไลเซนส์ของฟลีทฯ ในประเทศไทยแล้วตั้งบริษัท เอสเอสแอล เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นดูแลการผลิตและทำตลาดในประเทศไทยแทน

พรชาย พิริยะบรรเจิด ผู้จัดการทั่วไปสายงานตลาด บริษัทเอสเอสแอล เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า นอกจากสินค้าในกลุ่มรองเท้าแล้ว สกอลล์ยังมีสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาเท้าอีกด้วย ถึงแม้ปัจจุบันรายได้ของสกอลล์จะมาจากรองเท้าประมาณ 90% แต่ในปีนี้บริษัทจะผลักดันสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาเท้ามากขึ้น เพื่อให้ภาพของสกอลล์ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพเท้าชัดเจนมากยิ่งขึ้น

"ตอนนี้เราทำงานหนักมากเพื่อให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ นี้เกิดขึ้นมา ตั้งแต่การจัดจำหน่าย การกระจายสินค้าออกเผยแพร่สู่สื่อและสร้างให้เกิดการทดลองใช้"

สาเหตุหนึ่งที่ทีมงานสกอลล์ในไทยพยายามเน้นผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาเท้ามากขึ้น อาจเป็นเพราะโดยเฉลี่ย แล้วสัดส่วนรายได้ของสกอลล์ในประเทศอื่นๆ จะมาจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ถึง 55% และรายได้จากรองเท้าเพียง 45% เมื่อดูจากสัดส่วนรายได้ในปัจจุบันแล้วโอกาสของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในไทยยังคงมีอีกมาก

"ในประเทศที่เจริญแล้วคนจะให้ความสำคัญกับสุขภาพเท้ากันมาก อย่างแผ่นรองเท้ามีคนไทยใช้กันน้อย มาก แล้วที่ใช้ก็ยังไม่ค่อยเปลี่ยนด้วย ใส่กันเป็นปีจนเป็นขุยถึงจะเปลี่ยน ขณะที่คนฮ่องกงใส่ใจสุขภาพเท้ามากกว่าเรา ของเขา 3 เดือนเปลี่ยนกันที ถ้าดูอย่างนี้ก็จะเห็นว่าเรายังมีโอกาสที่จะขยายตลาดขึ้นมาได้อีกเยอะ"

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายอื่นก็เห็น เช่นเดียวกัน ในช่วงปีที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาเท้า เช่น ครีมทาส้นเท้าแตก ครีมบำรุงเท้าและสเปรย์ดับกลิ่น ออกวางจำหน่ายกันหลายราย แต่พรชายยังมั่นใจว่า ความแข็งแกร่งของแบรนด์สกอลล์ที่มีประวัติในด้านนี้มายาวนานจะช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากกว่ารายอื่น

"การมีรายอื่นเข้ามาก็มีข้อดี เพราะลำพังเรารายเดียวก็ไม่มีกำลังไปกระตุ้นตลาดให้โตขึ้นได้มาก แต่พอตลาดโตขึ้นมาก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคแล้วว่าเขาจะเลือกใคร"

สำหรับกิจกรรมในประเทศไทยในโอกาสฉลองครบรอบอายุ 100 ปีนั้น จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การเดินแฟชั่นรองเท้า ฟุตสปา ฟุตคลินิก เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย และสุดท้ายคือ โครงการ "สกอลล์ 100 ปีเพื่อสองเท้าน้อย" โดยบริษัทได้ทูลเกล้าฯ ถวายรองเท้าสกอลล์ จำนวน 2,500 คู่ มูลค่ากว่า 1 ล้าน บาทให้กับเด็กนักเรียนที่ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร ตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.