Turn Grief to Wisdom การเรียนรู้และบทบาทของญี่ปุ่น

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้วิบัติภัยจากแผ่นดินไหวและ Tsunami จะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการกำกับควบคุมของมนุษย์ แต่สำหรับญี่ปุ่น การลดอัตราการสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าว กำลังดำเนินไปท่ามกลางภูมิปัญญาที่ได้พัฒนาขึ้นมาจากประสบการณ์ และวิสัยทัศน์แห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

จากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อยในเขตภูเขาไฟตามแนว Pacific Ring of Fire และตั้งอยู่บนแนวแยกเลื่อน (Fault line) ทำให้ในแต่ละปีมีเหตุแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ที่ตรวจนับได้มากถึงกว่า 1,000 ครั้ง ด้วยแรงสั่นสะเทือนและผลกระทบ ขนาดต่างๆ กัน การเรียนรู้ที่จะปรับแต่งสภาพความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ ในระดับสังคมชุมชนรากหญ้าของญี่ปุ่น ด้วยการสร้างบ้านเรือนที่ประกอบด้วยฝาไม้ และวัสดุน้ำหนักเบา จึงกลายเป็นภาพที่ชินตา

เป็นการปรับแต่งสภาพความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดอย่างเป็นธรรมชาติ ภายใต้บริบทขององค์ความรู้ระดับท้องถิ่น ไม่ต่างจากการปรับแต่งความเป็นอยู่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประชาชนในเขตมรสุม หรือพื้นที่อื่นๆ ของโลก ซึ่งได้ดำเนินวิวัฒน์มาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

แต่จุดเปลี่ยนที่ก่อให้เกิดเป็นเค้าโครงของ platform ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาวินาศภัยในระดับชาติของญี่ปุ่น น่าจะเป็นผลจากภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่ได้รับการขนานนาม ในฐานะ The Great Kanto Earthquake ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงเที่ยง (เวลา 11.58 น.) ของวันที่ 1 กันยายน 1923

แม้ความรุนแรงของเหตุแผ่นดินไหว ดังกล่าว จะมิได้มีการบันทึกว่าอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด เพราะขณะนั้นมาตรฐาน Richter magnitude test scale ที่ใช้วัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวยังไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา (Charles Richter พัฒนามาตรวัดดังกล่าวในปี 1935) หากในเวลาต่อมามีการประเมินว่าแผ่นดินไหวครั้งนั้นน่าจะมีแรงสั่นสะเทือนสูงถึง 8.3 Richter แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีมากกว่า 1 แสนรายและตัวเลขความเสียหายที่สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมูลค่าทางเศรษฐกิจเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว

ความสูญเสียอย่างมหาศาลและครอบคลุมพื้นที่ของ Tokyo Yokohama รวมถึง Chiba Kanagawa และ Shizuoka มิได้เกิดขึ้นเพราะเหตุแผ่นดินไหวแต่เพียงลำพัง หากแต่ผลของแผ่นดินไหวได้ก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้กระจายอยู่กว่า 88 แห่งทั่วพื้นที่กรุงโตเกียว และพื้นที่โดยรอบ ท่ามกลางความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบท่อส่งน้ำ และกระแสลมแรงจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เพลิงไหม้ดำเนินไปอย่างยาวนานเกือบ 2 วันเต็ม ก่อนที่เพลิงจะสงบลงในช่วงเช้าของวันที่ 3 กันยายน

เหตุดังกล่าวส่งผลให้มีบ้านเรือนถูกทำลายเสียหายมากกว่า 570,000 หลังคาเรือน และทำให้ประชาชนกว่า 2 ล้านคน ไร้ที่อยู่อาศัยหรือต้องอพยพออกจากพื้นที่

ขณะเดียวกัน ความสับสนของสถานการณ์และข่าวลือว่า ชาวเกาหลีเป็นผู้ลอบวางเพลิงและฉวยโอกาสปล้นสะดม ทำให้เกิดเหตุจลาจลโดยมีชาวเกาหลีนับพันรายถูกสังหารโดยกลุ่มติดอาวุธ นอกเหนือจากที่ต้องเสียชีวิตเพราะภัยธรรมชาติ และทำให้ยอดรวมของชาวเกาหลีที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าวมีมากถึงกว่า 6,000 ราย นอกจากนี้ผู้นำทางการเมืองในกลุ่มสังคมนิยมและอนาธิปไตย (socialist & anarchist) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลญี่ปุ่นยังถูกสังหารเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุของความกลัวที่กลุ่มดังกล่าวจะฉกฉวยโอกาสจากเหตุการณ์มาโค่นล้มรัฐบาล

เหตุการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นความซับซ้อน และอันตรายจากภัยที่ต่อเนื่องมาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติในระดับที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน และอาจเป็นเพียงโศกนาฏกรรมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่รอให้วิบัติภัยครั้งใหม่ เพิ่มพูนจำนวนชีวิตผู้คนและมูลค่าความเสียหายแซงหน้าไปสร้างสถิติใหม่ ในลักษณะของการผลิตซ้ำอย่างไม่รู้จบ หากปราศจากการเรียนรู้และวิสัยทัศน์ที่เอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชนของชนชั้นนำทางการเมือง

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง Goto Shinpei (1857-1929) รัฐบุรุษของญี่ปุ่น ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวระหว่างปี 1911-1925 ได้จัดวางแผนแม่บท เพื่อการป้องกันภัยไม่ให้เกิดความสูญเสียจากเหตุรุนแรงในอนาคต ด้วยการวางโครงข่ายถนนและรถไฟ รวมถึงบริการสาธารณะอื่นๆ ในกรุงโตเกียวขึ้นใหม่ พร้อมกับการเสนอผังเมืองใหม่ให้มีสวนสาธารณะในจุดต่างๆ กระจายทั่วกรุงโตเกียว เพื่อใช้สำหรับเป็นสถานที่หลบภัยและศูนย์อพยพในกรณีที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวหรือวิบัติภัยอื่นๆ ในอนาคต

ขณะที่อาคารที่ทำการของหน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งยังได้รับการออกแบบอย่างเข้มงวดให้มีมาตรฐานความแข็งแรงที่สูงขึ้น ควบคู่กับการวางระบบสาธารณูป การพื้นฐานสำรองไว้ สำหรับการแปลงสภาพเป็นที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับการอพยพของประชาชนด้วย

ความพยายามที่จะสร้างมาตรการรองรับเหตุภัยพิบัติ ที่ได้เริ่มต้นวางแผนดำเนินการไว้โดย Goto Shinpei ดังกล่าว ต้องสะดุดชะงักลง เมื่อญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่สมรภูมิของสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ภัยแห่งสงครามดังกล่าวจะขยายตัวเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับกรุงโตเกียวและประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง โดยมี Hiroshima และ Nagasaki เป็นประจักษ์พยานแห่งความโหดร้ายของสงครามบนแผ่นดินญี่ปุ่น

ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเผชิญหน้ากับความสูญเสียครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง ทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์ในช่วงเวลาห่างกันเพียง 2 ทศวรรษดังกล่าว กลายเป็นประหนึ่งบททดสอบพิสูจน์ความสามารถ ที่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้กำหนดทิศทางการพัฒนาและวิธีจัดการกับวินาศภัยในเวลาต่อมา

ท่ามกลางความพยายามที่จะเร่งฟื้นฟูบูรณะประเทศให้กลับมามีความจำเริญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจัดวางมาตรการป้องกันและบรรเทาวินาศภัย ซึ่งเป็นมิติทางสังคมไปด้วยพร้อมกัน

ในปี 1960 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันวินาศภัย (Disaster Prevention Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ The Great Kanto Earthquake และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล รวมถึงองค์กรธุรกิจเอกชน และหน่วยงานของรัฐ แต่ละแห่งจะจัดให้มีการฝึกซ้อมการบรรเทาวินาศภัย และทำความเข้าใจ เกี่ยวกับแผนอพยพในกรณีที่จำเป็น

ความกังวลใจประการสำคัญของสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับเหตุแผ่นดินไหว ในยุคหลัง The Great Kanto Earthquake อยู่ที่การคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์และนักธรณีวิทยา ซึ่งระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ได้รับการกล่าวถึงในฐานะของ Big One เพราะจะมีความรุนแรงในการทำลายสูงและอาจเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน มาก ทั้งในเขตมหานครกรุงโตเกียวและปริมณฑลโดยรอบของเขต Kanto เลยทีเดียว

ขณะเดียวกันองค์ความรู้เกี่ยวกับ Tsunami ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ นอกจากจะทำให้ประชาคมนานาชาติประสานความร่วมมือกันในการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า เช่นในกรณี ของ Pacific Tsunami Warning System : PTWS แล้ว การป้องกันภัย Tsunami ที่เป็นรูปธรรมของญี่ปุ่น ยังปรากฏออกมาในรูปของการลงทุนสร้างเขื่อน และกำแพงคอนกรีต (breakwater) เป็นแนวยาวครอบคลุมชายฝั่งในพื้นที่เสี่ยงภัยรวมระยะทางกว่า 15,065 กิโลเมตร จากชายฝั่งทะเลทั้งหมดของประเทศที่มีระยะทางรวม 34,840 กิโลเมตร

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้จัดวางระบบการรายงานและแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว และ Tsunami ที่ดำเนินการผ่านเครือข่ายของสถานีวิทยุโทรทัศน์ NHK ในลักษณะที่เกือบจะทันทีที่เกิดเหตุ ซึ่งนอกจากจะรายงานเพื่อบ่งบอกพิกัดของจุดเกิดเหตุ และแรงสั่นสะเทือนที่พื้นที่ต่างๆ ได้รับแล้ว ยังคาดการณ์และเตือนภัยล่วงหน้าถึงเหตุภัยพิบัติ โดยเฉพาะ Tsunami ที่อาจเกิดขึ้นตามมาด้วย

บทบาทของ NHK ในลักษณะเช่นนี้ ได้รับการหยิบยกไปเปรียบเทียบกับบทบาทของสื่อสารมวลชนในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่พึงดำเนินตาม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ท่ามกลางระดับขั้นการพัฒนาที่แตกต่างกันอย่างมากนี้

พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น ที่สะท้อนออกมาเป็นระดับขั้นทางเทคนิค วิทยาการในศาสตร์หลากหลาย สาขานับตั้งแต่ช่วงปี 1960 ได้ขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางข้อจำกัดใน ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคสมัยของสงครามเย็น ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้มีโอกาสได้แสดงบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากนัก และดูเหมือนว่าญี่ปุ่นก็พึงใจที่จะดำรงอยู่ในสถานะดังกล่าว

แต่เมื่อระบบความสัมพันธ์ของโลกเริ่มคลี่คลายไปสู่สถานการณ์ใหม่ นับตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 ซึ่งมีผู้กำหนดนิยามว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยของ New World Order โดยมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมแทรกตัวเข้ามามีความสำคัญ ท้าทายปัจจัยทางการเมืองการทหารมากขึ้น ความพยายามของญี่ปุ่นในการแสดงบทบาท นำในเวทีประชาคมนานาชาติก็อยู่ในระดับที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ประเด็นความมั่นคงในระดับนานาชาติ ที่แต่เดิมถูกเน้นย้ำว่าเกิดขึ้นเพราะดุลยภาพแห่งอำนาจทางการทหาร ได้รับการแต่งเติมให้มีมิติของความเชื่อมั่นและรู้สึกมั่นคงในชีวิตของประชาชนในระดับรากหญ้า และการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติ ไล่เรียงไปสู่กรอบที่ใหญ่ขึ้นในระดับสหประชาชาติ

การประชุมภายใต้กรอบ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) หรือที่เรียกขานอย่างไม่เป็นทางการว่า Earth Summit ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1992 ที่เมือง Rio de Janeiro โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ที่ความพยายามลดปริมาณ การปล่อยสารเรือนกระจก (greenhouse gas emission) ดูจะเป็นตัวอย่างบทบาทของญี่ปุ่นในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เด่นชัดที่สุดกรณีหนึ่ง เมื่อในเวลาต่อมา ข้อตกลงที่เกิดจากการประชุมภายใต้กรอบดังกล่าวได้รับการเรียกขานในฐานะ Kyoto Protocol จากผลของการเจรจาที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 1997

ขณะที่การประชุมภายใต้กรอบของสหประชาชาติว่าด้วย World Conference on Disaster Reduction (UNWCDR) ครั้งแรกซึ่งได้จัดให้มีขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1994 ที่ Yokohama ประเทศญี่ปุ่น ได้นำไปสู่ร่างแผนยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติ ภายใต้ชื่อ Yokohama Strategy and Plan of Action for a Safer World สำหรับลดทอนผลกระทบจากวิบัติภัยจากธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมายตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วย

Yokohama Strategy ดังกล่าวนอกจากจะเปิดศักราชใหม่ในความพยายามของมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกับวิบัติภัยจากธรรมชาติหลากหลายรูปแบบด้วยความเข้าใจและปลอดภัยแล้ว กรณีดังกล่าวยังนับเป็นการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้ญี่ปุ่นได้แสดงบทบาท นำ ในฐานะ The Big One ในเวทีระดับนานาชาติ ที่มีความพร้อมทั้งระดับเทคโนโลยี และปัจจัยทางเศรษฐกิจสำหรับสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวอย่างไม่อาจปฏิเสธ

บททดสอบพิสูจน์ศักยภาพในการก้าวขึ้นเป็น The Big One ของระเบียบโลกใหม่ของญี่ปุ่น ภายหลังการประชุมดังกล่าวเดินทางเข้ามาตรวจสอบและท้าทายอย่างรวดเร็ว ในอีกไม่กี่เดือนถัดมา เมื่อเหตุแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่ได้รับการขนานนามว่า Great Hanshin Earthquake ได้อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 17 มกราคม 1995

ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวดังกล่าวอยู่ที่เกาะ Awaji ทางตอนใต้ของเขตจังหวัด Hyogo ใกล้กับนคร Kobe สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนได้ 7.2 Richter และดำเนินต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 วินาที ในช่วงก่อนรุ่งสาง เมื่อเวลา 5.46 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการนอนหลับพักผ่อน ทำให้ไม่มีโอกาสได้ปกป้องหรือระวังภัยเท่าที่ควร

ขณะที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างและอาคาร พังทลายทับถมร่างของประชาชน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 6,500 คน และมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับที่มากถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถามและข้อท้าทายใหม่ๆ สำหรับสังคมญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกรณีว่าด้วยมาตรฐานการก่อสร้างที่วิศวกรญี่ปุ่นเคยมั่นใจในความปลอดภัย ได้รับการทบทวนใหม่ควบคู่กับการคิดค้นเพื่อสร้างแบบจำลองของอาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่มีความมั่นคงและสามารถรองรับรูปแบบการสั่นเคลื่อนจากเหตุแผ่นดินไหวในลักษณะต่างๆ สำหรับรองรับกับวินาศภัยที่มองไม่เห็นและคาดการณ์ไม่ได้นี้

การบูรณะและฟื้นฟู Kobe จากซากความเสียหายดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ลงด้วยระยะเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของญี่ปุ่นในการบรรเทาสาธารณภัยที่มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะระดับขั้นของพัฒนาการทางเทคนิควิทยาการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเท่านั้น หากแต่ในด้านหนึ่งเป็นผลของการเก็บรับประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายมาเป็นบทเรียนได้อย่างแหลมคม

การเก็บกู้ซากความเสียหายดำเนินไปอย่างมีแผนการ ควบคู่กับการเว้นร่องรอยความเสียหายในพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับจัดสร้างเป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อให้ญาติของผู้เสียชีวิตได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีรำลึกเหตุการณ์ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสได้รับรู้ความรุนแรงและความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหว ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้การศึกษาด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้ หากไม่มีการเตรียมการและแผนแม่บทรองรับ ทั้งในระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติการ

แม้สังคมญี่ปุ่นจะมีแผนรองรับกับเหตุวินาศภัย และได้พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องภัยธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็มิได้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีความเสียหายเมื่อปรากฏเหตุร้ายแรงขึ้นจริง หากแต่ความมุ่งหมายของกรณีดังกล่าวอยู่ที่การลดปริมาณและมูลค่าความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตที่ต้องประสบเหตุอย่างเป็นด้านหลัก ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการเพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ

ข้อเท็จจริงประการสำคัญก็คือ เฉพาะในปี 2004 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ต้องประสบกับวิบัติภัยทางธรรมชาติ ทั้งจากพายุไต้ฝุ่นที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ ประเทศญี่ปุ่นมากเป็นประวัติการณ์ถึงเกือบ 30 ลูก และเหตุแผ่นดินไหว อีกหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหว Chuetsu Earthquake ที่มีแรงสั่นสะเทือนสูงถึง 6.9 Richter ในเขตจังหวัด Niigata เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 39 คน และเป็นเหตุ ให้รถไฟความเร็วสูง Shinkansen ต้องตกรางเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการให้ บริการ

อย่างไรก็ดี ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์ Great Hanshin Earth-quake รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการประชุม UNWCDR ครั้งที่ 2 ตามมติของสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ (UNGA Resolution 58/214 : February 2004) ขึ้นที่ Kobe ระหว่างวันที่ 18-22 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นการเตรียมแผนปฏิบัติการ 10 ปี สำหรับช่วงระหว่างปี 2005-2015 ด้วย

ความน่าสนใจของการประชุมดังกล่าว นอกจากจะอยู่ที่ในช่วงเวลาก่อนหน้าการประชุมที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าไม่ถึง 1 เดือน ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวและ Tsunami ครั้งใหญ่ขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเหตุให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเป็นประวัติการณ์ และทำให้นานาประเทศได้ตระหนักถึงความรุนแรงของวิบัติภัยจากธรรมชาติแล้ว กรณีดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นสามารถแสดงบทบาทนำในเวทีการประชุมระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ภาพของสมเด็จพระจักรพรรดิ Akihito แห่งญี่ปุ่น ที่ได้เสด็จฯ เปิดการประชุมนานาชาติ โดยมีผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากนานาประเทศเข้าร่วม พร้อมกับมีพระราชดำรัสระบุว่า พระองค์หวังว่าประสบการณ์และพัฒนาการในวิทยาการของญี่ปุ่นในการจัดการกับวินาศภัย จะสามารถช่วยให้การประชุมในครั้งนี้นำไปสู่มาตรการในการลดความเสียหายจากวิบัติภัยทางธรรมชาติในระดับนานาชาติ ได้สะท้อนบทบาทของญี่ปุ่น ในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างชัดเจน

ขณะที่ถ้อยแถลงของ Junichiro Koizumi นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแสดงบทบาทนำในการสร้างกลไกสำหรับการบริหารจัดการการแจ้งเตือนความเสี่ยงล่วงหน้า เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประเทศผู้ประสบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance : ODA) โดยประกาศที่จะให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน มูลค่ารวม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศที่ประสบภัยจากเหตุ Tsunami ในมหาสมุทรอินเดีย

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่การแสดงออกซึ่งบทบาทนำภายใต้กรอบของสหประชาชาติในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามที่จะปฏิรูประบบการบริหารงานของ UN ซึ่งรวมถึงการเสนอให้มีการเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง (Permanent Security Council) ที่ญี่ปุ่นมุ่งหมายจะได้สถานะดังกล่าวด้วย

สิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังคาดหมายและเฝ้ารอให้เกิดขึ้น อาจไม่ใช่ Big One ที่เป็นเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งมีผลในเชิงทำลาย หากแต่เป็นการยกระดับสถานะของญี่ปุ่นในการเป็น The Big One ในเวทีโลกที่อุดมด้วย ศักยภาพในเชิงสร้างสรรค์ และมีบทบาทนำในการกำหนดรูปแบบ และทิศทางความสัมพันธ์ของระเบียบโลกใหม่ในอนาคต

กระบวนการ formulate สิ่งเหล่านี้ได้เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Kyoto Protocol และ Yokohama Strategy หรือแม้กระทั่งผลการประชุมแห่ง Kobe หากแต่ประชาสังคมทุกภาคส่วนของไทย มองเห็นและเตรียมการสำหรับการ reshaping นี้อย่างไร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.