|
ช่องทางสื่อสารยามวิกฤติ
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
อินเทอร์เน็ตถือเป็นช่องทางที่สำคัญที่สุดในช่วงที่การสื่อสารติดขัดเพราะเหตุการณ์สึนามิ ไม่เพียงแต่ใช้เพื่อส่งข่าวสารด้วยอีเมล อ่านข่าวเหตุการณ์อย่างทันท่วงที แทนการรับชมจากโทรทัศน์ที่ในช่วงแรกของการรายงานนั้นไม่ได้รับการตอบรับจากช่องต่างๆ จนหลายคนผิดหวัง และต้องรับภาพข่าวและการรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์บีบีซี และซีเอ็นเอ็นเท่านั้น
หลายเว็บไซต์เริ่มให้ความสำคัญในการเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิในแถบภูมิภาคเอเชียไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาทิ การเปิดเว็บไซต์รายงานผู้สูญหาย รายงานข่าวสดจากผู้สื่อข่าวมืออาชีพและมือจำเป็น เป็นแหล่งบริจาค จนมีการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกเอาไว้ว่า นับเป็นการบริจาคผ่านระบบออนไลน์ที่ได้จำนวนเงินมากที่สุดครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้
เว็บไซต์ google.com เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลชื่อดัง ถึงกับเปิดหน้า Ways to help with tsunami relief ที่หน้าแรกของไซต์โดยเฉพาะขึ้นมาเพื่อรวบรวมเว็บไซต์ทั่วโลกที่เปิดให้คนรับบริจาคเงินให้กับประเทศตต่างๆ เช่นเดียวกันกับความเป็นเจ้าของเว็บไซต์ www.blogspot.com หรือที่รู้จักกันในชื่อ blog ของ google เอง ยังได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในช่วงของเหตุการณ์สึนามิถล่มเอเชีย เนื่องจากตัดสินใจเปิดไซต์ http://tsunamihelp.blogspot. com/ เพื่อเป็นแหล่งรายงานข่าวที่เกิดขึ้น รายงานจำนวนคนหาย คนเสียชีวิต ประกาศคนหาย ขอรับบริจาคเงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ และพูดคุยระหว่างกัน
โดยการจัดอันดับการค้นหายอดนิยมของ google.com ในช่วงของวันที่ 27 ธันวาคม 2547 นั้นพบว่าอันดับแรกคือคำว่า tsunami ก่อนตามมาด้วยชื่อของผู้สูญหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวแทบทั้งสิ้น ก่อนตามมาด้วยสถานที่ที่พบครั้งสุดท้าย หรือสถานที่ของที่เกิดเหตุต่างๆ
เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากสุดนอกจาก google.com เพื่อใช้ค้นหาคนหายแล้ว ยังมีเว็บไซต์ที่เว็บบอร์ดที่คนแวะเวียนเข้ามาโพสต์ขอความช่วยเหลือและพูดคุย วิพากษ์ วิจารณ์เหตุการณ์ เช่นเดียวกันกับเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากตลอดช่วงระยะของการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|