“ตำนานเซ็นทรัลยุคแรกคือชีวิตและผลงาน นี่เตียง แซ่เจ็ง”


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาเกิดบนเกาะไหหลำเมื่อปี 2443 บิดาของเขาคือเจ็งอั้นเต็ง หรือแต้อั้นเต็งในภาษาแต้จิ๋ว

เขามีนามว่าเจ็งนี่เตียง เพียงอายุ 16 ปีก็แต่งงาน ตามประสาคนจีนไหหลำซึ่งต้องการมีครอบครัวใหญ่

ปี 2406 เกาะไหหลำคุด้วยไฟแห่งความยุ่งเหยิง เหตุการณ์ไม่สงบปะทุขึ้น เขาต้องอำลาบ้านเกิดข้ามทะเล หนีร้อนมาพึ่งเย็น ที่ประเทศไทยในครั้งแรก นี่เตียงอยู่เมืองไทยเพียงปีเดียว เหตุการณ์ทางโน้นก็สงบลง เขาตัดสินใจกลับเมืองจีนอีกครั้ง ว่ากันว่าการกลับบ้านเกิดเมืองนอนครั้งนี้ นี่เตียงได้ขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่คนจีนในไทยกาลต่อมาว่านี่เตียงคือปัญญาชนคนจีนคนหนึ่ง

เมื่ออายุ 21 ปี นี่เตียง แซ่เจ็ง ได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยอีกวาระหนึ่ง ครั้งนี้สำคัญที่สุด เพราะว่าเขาได้ตัดสินใจปักหลักชีวิตและครอบครัวที่นี่อย่างแท้จริง เริ่มทำงานครั้งแรกที่ร้านขายข้าวสารและของเบ็ดเตล็ด ชื่อ พงอั้นเหลา ของพ่อตา ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าช้างวังหน้า ทำงานอยู่ได้ 2 ปี พ่อตาให้เงินก้อนหนึ่ง 300 บาทเพื่อให้เขาและภรรยา เป็นทุนรอนในการทำมาค้าขาย นี่เตียงกับภรรยา (คนแรก) จึงแยกตัวออกมาเปิดร้านค้าของตนเอง - ร้านเข่งเซ้งหลี ขายของเบ็ดเตล็ดและเครื่องดื่มอยู่ที่บางขุนเทียน

นอกจากนี้เขาได้ซื้อเรือลำเล็กลำหนึ่งบรรทุกของล่องเร่ขายตามน้ำย่านฝั่งธน

"มีวันหนึ่งขณะพายเรือเร่ขายสินค้า เขาปวดหัวอย่างรุนแรงเพราะพิษไข้ เขาจึงพายเรือกลับบ้าน โดยจอดเรือทิ้งไว้ที่ท่าน้ำ ต่อมาไม่นานเกิดพายุฝน เขานึกถึงเรือที่บรรทุกสินค้าซึ่งหมายถึงทุนรอน นี่เตียงต้องกรำฝนทั้งๆ ที่เป็นไข้ขนสินค้าขึ้นจากเรือ" คนไหหลำในไทยรุ่นเก่ายกตัวอย่างความอุตสาหะวิริยะของนี่เตียงให้ฟัง

นี่เตียงทำงานสะสมทุนอยู่ที่บางขุนเทียนจนสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ปี 2478 เขาก็ย้ายไปอยู่ที่สี่พระยา เปิดร้านขายหนังสือภาษาอังกฤษโดยนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น

วันชัย จิราธิวัฒน์ ลูกชายคนที่สองของนี่เตียงบอก "ผู้จัดการ" ว่าร้านที่สี่พระยาเป็นเพียง GROCERY เล็กๆ

และที่สี่พระยานี่เองนี่เตียงได้เริ่มต้นเข้าไปสัมผัสกับธนาคาร และกู้เงินธนาคารใช้เป็นครั้งแรก นับเป็นการ "แหวกประเพณี" ของคนจีนในระยะไต่เต้าธุรกิจทั่วไป เขากู้เงินธนาคารตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้จนกลายเป็น "ความสามารถ" อย่างหนึ่งอันเป็นลักษณะพิเศษของกลุ่มเซ็นทรัลในปัจจุบัน

วันชัยเล่าว่า ธนาคารแรกที่พ่อของเขาใช้บริการคือธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อยซึ่งอยู่ใกล้ร้านของเขาที่สี่พระยา โดยผ่านคอมประโดร์ของธนาคาร - - นายห้างร้านเทียนกัวเทียน

"ไทยพาณิชย์เป็นแบงก์ที่ดีคอยดูแลลูกค้า ไม่ให้พ่อค้าทำอะไรเกินตัว คือเขามีฝ่ายวิจัยให้คำปรึกษาด้วย ถึงแม้สมัยก่อนเปิดแอล/ซีต้องเอาเงินทุนไปวางมาร์จิน 20-30% แล้วแต่สินค้า แต่ก็ไม่วายว่าเอ๊ะสั่งเข้ามาเยอะจะขายได้ไหม คอยตรวจสอบอยู่เรื่อยไม่เหมือนเดี๋ยวนี้แบงก์ไม่ค่อยมายุ่ง" วันชัยฟื้นความหลังความสัมพันธ์ ระหว่างกิจการค้าของพ่อกับธนาคารไทยพาณิชย์เมื่อ 30 ปีก่อน

ปลายสงครามเกาหลี ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยตกต่ำอย่างมาก รัฐบาลในสมัยนั้นดำเนินนโยบายสกัดกั้นสินค้าขาเข้า และมีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ "สินค้าที่นี่เตียงนำเข้ามาขายก่อนจำนวนมาก ขายได้กำไรหลายเท่า" คนจีนไหหลำคนเดิมชี้จุดก้าวกระโดดการสะสมทุนของนี่เตียง

"ผู้จัดการ" ถือว่าเป็นทฤษฎีนี้เชื่อถือได้มากที่สุด มากกว่าทฤษฎีการพบทองคำฝังไว้ใต้ดิน ซึ่งนี่เตียงขุดพบหรือทฤษฎีอื่นใด!

เพียง 4 ปีที่สี่พระยา นี่เตียงสามารถหาเงินก้อนซื้อที่ที่หน้าโรงเรียนอัสสัมชัญฯ ที่เรียกว่าตรอกโรงภาษีเก่า หลังจากนั้นก็เลิกกิจการที่สี่พระยา อันเป็นห้างเช่าบนที่ดินของราชนิกูลคนหนึ่งซึ่งคนจีนได้สร้างเป็นตึกแถวสี่ชั้น มาสู่ที่ดินของตนเอง

"เดิมเป็นของพระนางเจ้ารำไพพรรณี คนจีนเช่ามาทำเป็นห้องแถวต่อมาก็ทรงตัดขาย ใครเช่าอยู่ก็ขายคนนั้น เราก็เลยซื้อไว้ ทีแรกคิดจะเก็บไว้เป็นที่ระลึก มันเก่ามากกลัวซ่อมแซมไม่ได้ เพราะไม่มีโครงเหล็กเลยรื้อสร้างใหม่ ตอนหลังทรัสต์มาเช่าแล้วเจ๊งยังทิ้งอยู่จนทุกวันนี้" วันชัย เล่าที่มาของสมบัติชิ้นสำคัญชิ้นแรกของจิราธิวัฒน์

ร้านที่ตรอกโรงภาษีเก่ามีสินค้าเพิ่มมากขึ้น ถุงเท้า เสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ ซึ่งส่วนใหญ่ขายส่ง

ในช่วง 10 ปีแรกจากสี่พระยาจนสิ้นสุดที่ตรอกโรงภาษีเก่า นี่เตียงมีผู้ช่วย 3 คน สัมฤทธิ์ วันชัย และสิทธิพร ลูกชาย 3 คนแรกจากภรรยาแรกซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการติดต่อกับต่างประเทศ เพราะเขาทั้งสามพูดและเขียนภาษาอังกฤษได้เนื่องจากเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญฯ ในขณะที่นี่เตียงพูดและเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้เลย

ห้างเซ็นทรัลเริ่มต้นอย่างแท้จริงราวๆ กึ่งพุทธกาล ที่วังบูรพา และเป็นห้วงเวลา 10 ปีสุดท้ายของชีวิตนี่เตียง แซ่เจ็ง หรือเตียง จิราธิวัฒน์

ประมาณปี 2499 ย่านวังบูรพาเป็นย่านการค้าแห่งใหม่ที่กำลังเติบโต ร้านรวงผุดขึ้นอย่างดอกเห็ดเต็มพรึด ณ ใจกลางนั้นบังเอิญเหลือเกิน ปรากฏที่ว่างแห่งหนึ่งมีพื้นที่พอสมควร ซึ่งเป็นของโอสถ โกสิน นักพัฒนาที่ดินในยุคนั้นเก็บเอาไว้ให้ธนาคารนครหลวงไทย ว่ากันว่าเป็นการตอบแทนผลประโยชน์กัน

นี่เตียงได้ซื้อที่ตรงนั้นสร้างเป็นตึกต่างหาก ดูเด่นท่ามกลางห้องแถวนับร้อยคูหา โดยมีโรงภาพยนตร์แกรนด์ ควีน คิงส์รายล้อม

"เนื้อที่ 100 ตารางวา ราคาประมาณ 1 ล้านบาท" วันชัยยังจำได้

รวมค่าก่อสร้างด้วย เตียงจิราธิวัฒน์ต้องกู้เงินธนาคาร เพื่อใช้ในการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าค่อนข้างสมบูรณ์แบบ หรือต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทยประมาณ 3 ล้านบาท

เคยมีชื่อว่าห้างเจ็งอันเต็งตามชื่อบิดาของเขา!

CONCEPT ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกนี้เกิดจากมันสมองของเตียง สัมฤทธิ์ และวันชัย อันเป็นผลมาจากการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งในช่วงนั้น!

ห้างสรรพสินค้าติดราคาสินค้าครั้งแรกในประเทศประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ เพราะความสำเร็จจึงชักนำให้จิราธิวัฒน์ พยายามขยายอาณาจักรออกไป สู่เยาวราชและราชประสงค์ ซึ่งเป็นความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรกๆ วันชัยบอกว่าที่เยาวราชอยู่ได้ 2 ปีเท่านั้นก็ต้องถอยทัพ เนื่องจากไม่สามารถต่อกรกับการค้าแบบห้องแถวของคนจีนดั้งเดิมได้ ส่วนที่ราชประสงค์ทำเลไม่ดี จึงไม่สามารถสู้กับไดมารูห้างญี่ปุ่นที่มาปักหลักได้

ปี 2511 เซ็นทรัลสาขาสีลมก็เปิดขึ้น ใช้ชื่อเป็นทางการว่าห้างเซ็นทรัล เป็นครั้งแรก

แต่เดิมเตียง จิราธิวัฒน์ ซื้อที่อยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของสาขาปัจจุบัน แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ใหญ่ไป ต้องใช้เงินจำนวนมากจึงตัดสินใจมาซื้อที่ดินฝั่งตรงข้ามในเนื้อที่ที่น้อยกว่า การลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท ตึก 9 ชั้นก็สำเร็จเป็นห้างสรรพสินค้าที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ

ช่วงชีวิตของเตียง เขาไม่เคยต้องใช้ทรัพย์สินอื่นใดค้ำประกันเงินกู้ธนาคารเลย ทั้งๆ ที่กู้ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีห้างต้นแบบสรรพสินค้า "เวลาไปหานายแบงก์กู้เงินแกจะหอบกระเป๋าไปใบหนึ่ง ในนั้นมีโฉนดที่ดินหลายใบไปให้ดู ทุกคนเชื่อ ซ้ำให้กู้โดยไม่ต้องค้ำประกัน คุณเตียงเป็นลูกค้าที่ซื่อสัตย์มาก" นายธนาคารรุ่นเก่าของธนาคารศรีนครเล่าให้ฟัง

บริษัทห้างเซ็นทรัล ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จำกัด เกิดขึ้นเพื่อเป็นนิติบุคคล ดำเนินการห้างนี้นอกจากเตียงและลูกชาย 3 คนแรก สุทธิชัย และสุทธิเกียรติ คือลูกชายอีก 2 คนแรกที่จบการศึกษาจากอังกฤษ เดินทางกลับมาร่วมเป็น กรรมการ บริษัทนี้ด้วย

ที่ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงสายตาอันยาวไกลพอประมาณของเตียง จิราธิวัฒน์ ผู้รู้เล่าให้ฟังว่า การเปิดห้างสรรพสินค้าปรับอากาศแห่งแรกในบริเวณที่ใกล้ย่านการค้าและชุมชน (ในขณะนั้น) เมื่อเปรียบเทียบกับห้างไดมารูของญี่ปุ่นแล้ว เซ็นทรัลสีลมตกอยู่ในที่นั่งลำบากมาก

ไดมารูอยู่ในย่านการค้าราชประสงค์ที่เติบโตขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งหลังจากที่วังบูรพาอิ่มตัว

วันชัยเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเซ็นทรัลสีลมโดดเดี่ยวมาก ถนนมหาสักข์ก็ยังไม่ได้ตัด ดังนั้นตัวเลขการลงทุนจึงสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ…

เตียง จิราธิวัฒน์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบิดาห้างสรรพสินค้าในไทยก็ลาโลกในเวลาเดียวกัน เป็นการจากไปประเภทนอนตาไม่หลับ เขาได้ทิ้งแบบฉบับธุรกิจห้างสรรพสินค้าไว้ข้างหลังให้ลูกๆ แบกรับภาระอันหนักอึ้ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.