Phuket's Still Alive

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางวิกฤติคลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดถล่ม สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับ 3 จังหวัดท่องเที่ยวหลักชายฝั่งทะเลอันดามัน กลับบังเกิดโอกาสสำหรับการพลิกฟื้น เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำเมืองท่องเที่ยวและตากอากาศระดับโลก ให้กลับคืนมายังภูเก็ต พังงา และกระบี่ อีกครั้ง ปัญหามีเพียงว่าภารกิจสำคัญเช่นนี้ต้องเป็นภารกิจระดับชาติที่ต้องมีเจ้าภาพและยุทธศาสตร์ชัดเจน

สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วก็คือ แม้ว่าคลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อตอนสายของวันที่ 26 ธันวาคมปีก่อน ได้สร้างความสูญเสียให้กับชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมหาศาล แต่ระลอกคลื่นดังกล่าว มิได้ทำลายเสน่ห์ความสวยงามของท้องทะเล และชายหาดของภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเป็นเมืองท่องเที่ยว และเมืองตากอากาศชั้นนำในระดับโลกลงไปแต่อย่างใด

ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวของทั้ง 3 จังหวัด ต่างมองตรงกันว่า หากมองข้ามความสูญเสีย ซึ่งหมายถึงความเศร้าโศกที่หลายคนได้รับไปแล้วไปได้ จะพบว่าสิ่งที่คนทั้ง 3 จังหวัด ได้รับกลับคืนมาหลังคลื่นยักษ์ได้ซัดผ่านไปแล้ว ก็คือ ความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเคยถูกใช้เป็นจุดขายหลัก ซึ่งทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรต้องใช้โอกาสที่เกิดขึ้นภายหลังจากวิกฤติในครั้งนี้ เพื่อจัดระเบียบความสวยงามให้กับสถานที่เหล่านี้ให้คงเสน่ห์อย่างยั่งยืนตามธรรมชาติ ตลอดจนกำหนดรูปแบบของเมือง และการก่อสร้างมิเข้าไปกัดกร่อนธรรมชาติ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นไม่นานก่อนที่จะถูกธรรมชาติทวงคืนจากคลื่นสึนามิ

"มองชายหาดในภูเก็ตวันนี้ เหมือนย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ไม่มีผิด" ทุกคนที่รู้จักมนต์ขลังของเสน่ห์เมืองภูเก็ตมาอย่างดี ล้วนบอกตรงกัน

ความเป็นเมืองตากอากาศชั้นนำในระดับโลกของทั้งภูเก็ต พังงา และกระบี่ เป็นพัฒนาการที่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ที่มาที่ไปดังกล่าว เป็นการผสมผสานกันระหว่างความคิดสร้างสรรค์ในการลงทุน ที่เป็นแรงผลักดันของคนท้องถิ่นเอง ตลอดจนการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ และทุนจากส่วนกลาง รวมถึงสถานการณ์ภายนอกที่เอื้ออำนวยและการสนับสนุนจากภาครัฐ

โดยเฉพาะภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ชาติที่ภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาให้เป็นเมืองตากอากาศชั้นนำ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นมาแล้วที่ฮาวาย บาหลี หมู่เกาะมัลดีฟ หรือหมู่เกาะอีกหลายแห่งในแถบทะเลแคริบเบียน

"พัฒนาการที่เกิดขึ้นในภูเก็ตส่วนใหญ่เกิดจากการกระตุ้นของภาคเอกชน โดยเฉพาะคนท้องถิ่น โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน" ปมุข อัจฉริยะฉาย ประธานเครือกะตะกรุ๊ป และประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ให้ภาพกับ "ผู้จัดการ"

เพียงแต่ที่ผ่านมาการพัฒนาเกาะภูเก็ตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไป เพียงระยะเวลาแค่ 10 ปีเศษ มีโรงแรมเกิดใหม่ขึ้นในภูเก็ตนับจำนวนได้มากกว่า 10,000 ห้อง และการพัฒนาดังกล่าวยังขาดความเป็นเอกภาพ ทำให้รูปแบบของเมืองภูเก็ตจึงดูสะเปะสะปะ จุดที่ควรจะคงไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติ กลับถูกรุกล้ำจากกลุ่มทุนทั้งเล็กและใหญ่ พื้นที่บางแห่ง อาทิ ชายหาดป่าตอง กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวระดับล่าง ประเภทแบกเป้สะพายหลังไป คนไทยหลายคนที่มาย่ำราตรีที่ป่าตองบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ป่าตองวันนี้ไม่แตกต่างจากเมืองพัทยา หรือถนนข้าวสาร ในกรุงเทพมหานคร

การรุกล้ำที่สาธารณะ ปัญหาน้ำเสีย ขยะ การรุกล้ำชายหาด การตั้งร้านขายสินค้าระเกะระกะ ตลอดจนปัญหาบาร์เบียร์ โสเภณี และการเกิดขึ้นของกลุ่มมาเฟีย ทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างชาติ ล้วนเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเด็ดขาด ทำให้คนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงเริ่มแสดงความเป็นห่วง

พัฒนาการที่รวดเร็วของภูเก็ต ส่งผลให้เมืองท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้กัน อย่างที่เกาะพีพี ที่กระบี่ และเขาหลัก จังหวัดพังงา ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย เพราะกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการจะเข้าไปที่ภูเก็ต ไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ จึงเลี่ยงมาลงทุนใน 2 จุดดังกล่าวนี้แทน

"ที่เขาหลักก่อนหน้านี้ ก็คือตลาดเดิมของภูเก็ตในอดีต" ปมุขบอก

บนเกาะพีพี ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโรงแรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่พื้นที่บนเกาะมีเพียง 400 ไร่เท่านั้น

"พีพี 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน ผมเองในฐานะที่เป็นคนจังหวัดกระบี่ ไปเที่ยวพีพี นึกภาพแต่ละครั้ง มันทั้งมีความรู้สึกทั้งดีใจ และบางครั้งก็เศร้าใจ ดีใจคือความเจริญที่เข้ามาทำให้คนเขามีงานทำ มีรายได้ แต่เศร้าใจคือว่า มันไม่มีระเบียบแบบแผน" ธรรมศักดิ์ ภูพันธ์วิวัฒน์ กรรมการหอการค้าเขต 16 กระบี่ ภูเก็ต และพังงา แสดงความรู้สึก

ส่วนที่เขาหลัก ยรรยง ข้อเพชร เจ้าของโรงแรมเขาหลัก ลากูน่า และเขาหลัก บันดารี ซึ่งเข้ามาบุกเบิกลงทุนสร้างโรงแรม ที่เขาหลักตั้งแต่ปี 2538 บอกว่าพื้นที่เขาหลักเริ่มบูมมาตั้งแต่ปี 2540

"ตอนผมมาลงทุนใหม่ๆ พาเอเย่นต์ทัวร์เข้ามา ทุกคนต่างบอกว่าที่เขาหลักไม่มีอะไรเลย แต่เราก็พยายามสู้จากความที่ไม่มีอะไรเลย จนประสบความสำเร็จ"

ทวี อุ่นสกุล เจ้าของร้านอาหารเรือนไม้ ซึ่งเข้ามาลงทุนที่เขาหลัก เมื่อประมาณปี 2542 โดยซื้อที่ดิน 12 ไร่ ริมถนนเพชรเกษมสายเก่า ในราคาไร่ละ 5 แสนบาท แบ่งเป็นห้องเช่าเพื่อขายสินค้าที่ระลึก โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ มาเช่าพื้นที่ในโครงการของเขา เปิดเป็นบูธแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วย เล่าว่าช่วงที่เขาเข้ามามาใหม่ๆ ตลอดชายหาดยาว 21 กิโลเมตรของเขาหลัก มีโรงแรมอยู่เพียง 3-4 แห่ง คือ เขาหลัก ลากูน่า, นางทอง, การ์เด้น บีช และ ซันเซ็ท บีช มีห้องพักรวมประมาณ 200 ห้องเท่านั้น หลังจากนั้น 3 ปีก็เริ่มมีการสร้างโรงแรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 200 ห้อง

เขาหลักมาเริ่มบูมอย่างหนัก เมื่อปลายปี 2545 หรือเพียงแค่ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยมีการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น

"2 ปีนี้มีห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ห้อง เฉลี่ยปีละ 2,000 กว่าห้อง" เขาบอก

"หลังจากที่กลุ่มทุนใหญ่ๆ เข้าไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะจากภูเก็ตบ้าง กรุงเทพฯ บ้าง จากเมืองนอกบ้าง ทิศทางการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนไปเล็กน้อย ผมบอกได้เลย การตลาดเริ่มผสมมากขึ้น มีเอเชียเข้าไปบ้าง มีชาติที่ไม่เคยเข้ามาเข้าไปมากขึ้น เพราะฉะนั้นการพัฒนาการท่องเที่ยวช่วงหลัง มันก็มีความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่น้อยเลย" ยรรยงมองภาพความผิดพลาดของการลงทุนที่เขาหลักว่า เกิดจากการลอกเลียนรูปแบบการลงทุนจากภูเก็ตนำมาใช้ที่นี่ ทั้งๆ ที่สภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาหลายโรงแรมที่เกิดใหม่ อัตราการเข้าพักไม่เต็ม แม้จะเป็นช่วงไฮซีซัน

หากมองพัฒนาการที่เกิดขึ้นกับทั้งที่ภูเก็ต พีพี และเขาหลัก มีลำดับขั้นที่ชัดเจน และคล้ายคลึงกัน

การจลาจลบุกเผาโรงงานแทนทาลั่มในจังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2529 เป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ให้กับธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะแห่งนี้ อดีตนายเหมืองหลายคนที่มีที่ดินที่เคยได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกเดิม ได้นำที่ดินดังกล่าว มาพัฒนาเป็นโรงแรม และที่พักอาศัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว การซื้อขายที่ดินบนเกาะแห่งนี้เริ่มทวีความคึกคักขึ้นมาเรื่อยๆ โดยมีกลุ่มทุนทั้งจากภายในภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งทุนจากส่วนกลางเป็นผู้เข้าไปกระตุ้นตลาด

ช่วงฟองสบู่ ปี 2537-2538 ราคาที่ดินบนเกาะภูเก็ตเริ่มแพงขึ้น กลุ่มทุนเริ่มหันไปมองหาพื้นที่ใหม่ที่ราคายังถูกกว่า อย่างบนเกาะพีพี และเขาหลัก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากภูเก็ตมากนัก และถูกมองว่าเป็นเมืองบริวารของภูเก็ตทางด้านการท่องเที่ยว

หลังประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2540 การซื้อขายที่ดินเริ่มเปลี่ยนรูปแบบไป กลายเป็นทุนจากต่างชาติที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในจังหวัดภูเก็ต พีพี และเขาหลัก เนื่องจากค่าเงินบาทที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาที่ดินย่านนี้กลายเป็นของราคาถูกสำหรับชาวต่างชาติ เมื่อแปลงค่าเงินจากบาทเป็นดอลลาร์ รวมทั้งจากพิษเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ผู้ที่เคยซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไรเดิมทยอยปล่อยที่ดินออกมา หลังจาก ปี 2542 เป็นต้นมา การซื้อขายที่ดินในทั้ง 3 พื้นที่ กลับมามีความคึกคักขึ้นอย่างทันตาเห็น

แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด น่าจะเกิดขึ้นหลังจากเดือนตุลาคม 2545 ซึ่งเกิดเหตุการณ์วางระเบิดถล่มแหล่งท่องเที่ยว สำคัญบนเกาะบาหลี ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียเสียชีวิตไปกว่า 200 คน จากเหตุการณ์นี้ยิ่งกระตุ้นให้กระแสทุนหลั่งไหลเข้ามายังภูเก็ต กระบี่ และพังงา อีกเป็นจำนวนมาก เพราะทุกคนล้วนมองตรงกันว่า ถ้านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อจากฟากยุโรป ต้องการจะหนีจากบาหลี สถานที่ที่น่าจะรองรับได้คือที่ภูเก็ต โดยมีเกาะพีพี และเขาหลัก เป็นจุดเสริม

มิเพียงแค่กลุ่มทุน ภาครัฐก็มองเห็นถึงแนวโน้มดังกล่าวเช่นกัน เห็นได้จากในปี 2546 หลังเกิดเหตุระเบิดที่เกาะบาหลี เพียงไม่นานรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศลดภาษีการนำเข้าเรือยอชต์ และการนำเรือยอชต์เข้ามาจอดในประเทศไทย ส่งผลให้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับหรูในรูปแบบมารีน่า ที่อาศัยจุดขายเป็นสถานที่จอดเรือยอชต์พร้อมที่พักอาศัยระดับราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วย เกิดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

"อันนี้ต้องยกเครดิตให้รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มองเห็นจุดนี้ เพราะหากยังเก็บภาษีอยู่เรือยอชต์ก็จะไม่เข้ามา หรือเข้ามาก็เก็บภาษีได้เพียงปีละ 60 ล้านบาท แต่พอลดภาษี เรือที่เคยจอดที่บาหลี หรือลังกาวี ต่างก็เข้ามาที่นี่ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดเป็นหมื่นๆ ล้านบาท" สงกรานต์ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ บริษัทชาญอิสสระ ดีเวล๊อปเมนท์ ซึ่งมีโครงการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศที่แหลมพันวา บนเกาะภูเก็ต ในนามศรีพันวา บอก

ความจริงก่อนหน้านี้ทุกรัฐบาลได้มองเห็นแล้วว่า ภูเก็ตคือพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เห็นได้จากความพยายามที่จะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองศูนย์กลางในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาสุขภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือแม้แต่ด้านการบินในภาคอันดามัน รวมถึงความพยายามผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองปลอดภาษี ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ แต่โครงการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมากลับมิได้มีความต่อเนื่องสักเท่าใดนัก

ปี 2547 อาจถือเป็นปีที่วิถีชีวิตของคนภูเก็ตได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะการเข้าไปยึดหัวหาดของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เพื่อที่จะรองรับวิถีชีวิตของชาวต่างชาติ ที่จะเริ่มขยายตัวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซูเปอร์สโตร์อย่างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี แม็คโคร ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอย่าง อินเด็กซ์ โฮมโปร และโฮมเวิร์ค ล้วนแห่กันเข้าไปเปิดสาขาในภูเก็ตในปีนี้

คำว่า international destination เริ่มถูกกล่าวขวัญให้เป็นนิยามใหม่ของเกาะภูเก็ต ก็ในช่วงนี้

"ถ้าเราเปรียบเทียบว่า หัวหิน คือบ้านพักตากอากาศของคนกรุงเทพฯ ภูเก็ต ก็คือบ้านพักตากอากาศของคนยุโรปที่เข้ามาทำงานอยู่ในเอเชีย อาจเป็นวาณิชธนกิจ หรือวิศวกรอยู่ที่ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือบาง คนที่เกษียณแล้ว อยากจะมีบ้านพักแห่งที่ 2 เพราะเขาสามารถบินมาถึงที่นี่ได้โดยใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง" วรสิทธิ์ อิสสระ ลูกชายคนโตของสงกรานต์ อิสสระ ที่เข้าไปดูแลด้านการตลาดให้กับโครงการศรีพันวาให้ความเห็น

ทั้งสงกรานต์ และวรสิทธิ์ มีมุมมองไม่แตกต่างจากนักพัฒนาที่ดิน และนักธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตคนอื่นๆ อีกหลายคนว่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีความพร้อมสำหรับการเป็น international destination สำหรับชาวยุโรปอย่างครบเครื่อง กล่าวคือ

1. มีสนามบินนานาชาติ ที่สามารถรองรับเที่ยวบินประจำ และเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ มาลงที่ภูเก็ต โดยไม่ต้องผ่านสนามบินดอนเมือง ถึงกว่า 60 เที่ยวบินต่อวัน

2. มีโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต หรือโรงพยาบาลสิริโรจน์ ซึ่งมีเตียงที่พร้อมรองรับผู้ป่วยได้มากกว่า 500 เตียง ไม่รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการรักษาพยาบาลที่ทันสมัย แม้แต่เครื่องไล่ก๊าซออกซิเจนที่ผสมผสานเข้าไปในเส้นเลือด สำหรับนักดำน้ำที่ขึ้นจากท้องทะเลสู่ผิวน้ำโดยใช้เวลารวดเร็วเกินไป ก็มีให้บริการที่โรงพยาบาลเหล่านี้

3. มีโรงเรียนนานาชาติดัลลิช และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่กำลังถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ให้ภูเก็ตเป็นเมืองต้นแบบของ ICT City เช่นเดียวกับที่เชียงใหม่ และขอนแก่น

4. มีแหล่งชอปปิ้งระดับ world class อย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล ที่เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน และโครงการจังซีลอน ที่มีแผนจะเปิดให้บริการ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่บริเวณถนนสาย 2 หาดป่าตอง

5. มีสนามกอล์ฟที่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติซึ่งเป็นหุบเขา และชายทะเลหลายแห่ง

6. มีโครงการที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งโครงการบนเนินเขาในลักษณะ luxury resorts ที่สามารถมองเห็นถึงวิวทะเล โครงการในรูปแบบมารีนา บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมริมชายหาดนับ 1,000 units

มิพักต้องกล่าวถึงโรงแรม ที่มีตั้งแต่ระดับ 3-5 ดาว ขนาดตั้งแต่ 200-300 ห้อง จนกระทั่งถึงที่เป็น boutigue hotel ขนาด 30-50 ห้อง ที่มีห้องพัก ซึ่ง code ราคากันเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่คืนละ 300-3,000 ดอลลาร์ กระจายกันอยู่นับหมื่นๆ ห้อง

แต่ความพร้อมที่มีอย่างครบเครื่องเช่นนี้ ก็ขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ แม้ทุกคนจะมองถึงเป้าหมายเดียวกัน แต่ถึงที่สุดแล้ว ผลประโยชน์เฉพาะหน้าย่อมมาก่อนสิ่งอื่นเสมอ

บางคนเปรียบเทียบพัฒนาการของภูเก็ตกับการฟื้นฟูเมืองพัทยา หรือชายหาดบางแสนที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่ง ว่าที่ภูเก็ตนั้นทำได้ยากกว่า "ที่พัทยา หรือบางแสนที่ทำได้เพราะเพียงกำนันเป๊าะพูดคำเดียว ทุกคนต้องยอมหมด แต่ที่ภูเก็ต ทุกคนใหญ่เท่าเทียมกันหมด"

ว่ากันว่าในภูเก็ต แม้โครงการจะตั้งอยู่ติดกัน ชายหาดก็ใช้ชายหาดเดียวกัน แต่เจ้าของโครงการก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่องว่า จะแบ่งสันการใช้ชายหาดกันอย่างไรหรือ จะห้ามไม่ให้กลุ่มมาเฟีย นำร่มไปให้บริการนักท่องเที่ยวเช่า ซึ่งเป็นการบังทิวทัศน์หน้าหาดได้อย่างไร

คลื่นสึนามิที่ซัดเข้ามารอบนี้ ทุกคนจึงมองได้ว่าเปรียบเสมือนการล้างไพ่ เพื่อการเริ่มต้นใหม่ และเป็นการเริ่มต้นเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทั้งภูเก็ต กระบี่ พังงา ซึ่งถูกเปรียบให้เป็นไข่มุกในฝั่งอันดามัน

เพียงแต่ว่าจะมีใครที่จะเข้ามาเป็นเจ้าภาพ และจะมียุทธศาสตร์การฟื้นฟูในรูปแบบใดเท่านั้น???

"งานนี้คงต้องเป็นระดับรัฐบาล ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมา เพราะจะให้คนท้องถิ่นทำคงไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้ว่าฯ นายก อบจ.ก็ทำไม่ได้ ต้องเป็นระดับรัฐบาลเท่านั้น" ปมุขบอก

อาจเป็นได้ทั้งความโชคร้าย หรือจังหวะไม่ดี เพราะเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เกิดขึ้นก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้งใหญ่เพียงแค่ 1 เดือนเศษเท่านั้น การระดมความช่วยเหลือจากทางรัฐบาล จึงทุ่มเทไปกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุ

หลังจากนั้น ภาระไปตกหนักอยู่กับหน่วยราชการที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือฟื้นฟู เฉพาะอำนาจหน้าที่ที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่

การวางแผนฟื้นฟูโดยมีการวางยุทธศาสตร์ และมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ยังไม่มีการพูดถึงมากนักในช่วงนี้

ตั้งแต่เกิดเหตุจนกระทั่งเวลาผ่านไปครบ 1 เดือนเต็ม แนวทางการฟื้นฟูภูเก็ตและอีก 2 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ที่มียุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ข้อเสนอที่ออกมาจากปากของปมุข อัจฉริยะฉาย ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เพียงแนวทางเดียวเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดมีข้อเสนออื่นๆ ออกมาเสริม

เขาเสนอว่า เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นควรจะต้องฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤติครั้งนี้ ประกาศให้พื้นที่ 3 จังหวัด คือภูเก็ต กระบี่ และพังงา เป็นพื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้อำนาจรัฐในการเข้าไปจัดระเบียบปรับปรุงพื้นที่ และทัศนียภาพของชายหาด และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ใหม่ทั้งหมด

ด้วยความเป็นพื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจพิเศษ รัฐจะมีอำนาจในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ในการผ่อนปรนหนี้สินเดิม และอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหม่ให้มาดำเนินการ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้สินเชื่อของตนเองเป็นหนี้เสีย แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และหากผู้ประกอบการเหล่านี้ล้มลงไป อาจมีผลดึงเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดให้พังครืนไปด้วยทั้งระบบ

ในเรื่องของเมืองท่องเที่ยว ต้องมีการสร้างบุคลิกให้กับพื้นที่หลัก ทั้งภูเก็ต เกาะพีพี และเขาหลักอย่างชัดเจน เพราะทั้ง 3 จุด ต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่มีที่ใดที่สามารถยืนอยู่โดดๆ โดยตนเองได้

ตามยุทธศาสตร์ที่ปมุขเสนอไว้ ภูเก็ตควรต้องพัฒนาให้เป็น world class destination ขณะที่เกาะพีพีต้องบูรณะให้เป็นเหมือนเกาะในฝัน (dream island) และที่เขาหลักคือแหล่งท่องเที่ยวที่แอบอิงอยู่กับธรรมชาติ (natural resorts)

(รายละเอียดของยุทธศาสตร์ทั้ง 3 อ่านจากล้อมกรอบ World Class Strategy)

"แนวทางท่องเที่ยวภูเก็ต กระบี่ พังงา ไม่ควรจะเหมือนกัน ควรจะมีจุดขายที่ชัดเจน ไม่ควรจะก๊อบปี้แบบกัน ใครมีจุดขายที่ดีนำมาเสนอกัน โดยเฉพาะภูเก็ตกับพังงา ถ้าเป็นสินค้าการท่องเที่ยว มันก็เหมือนกับเหล้าพ่วงเบียร์ นักท่องเที่ยวภูเก็ตต้องพึ่งพาทรัพยากรการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา นักท่องเที่ยวพังงา ก็ต้องพึ่งพาสนามบินของภูเก็ต ถ้าเขาหลักล้มเหลว ภูเก็ตก็มีผลกระทบด้วย ถ้าภูเก็ตล้มเหลว พังงาก็มีผลกระทบด้วย แต่ทำอย่างไรให้ในอนาคตภูเก็ตยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง พังงาก็ยืนอยู่ได้ และทำให้เกิดประโยชน์สุขกับภาคอันดามันทั้งภาค และทิศทางการพัฒนา ต้องฉวยวิกฤติให้เป็นโอกาสได้จริงๆ" ยรรยง ข้อเพชร ให้ความเห็นไว้ในงานสัมมนา "ล้มแล้วลุกขึ้นสู้ : กอบกู้อันดามัน" เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตอกย้ำยุทธศาสตร์เดียวกันกับปมุข

จนกระทั่งนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับนี้วางแผง ยังไม่แน่ว่าการฟื้นฟูศักยภาพของ 3 จังหวัดท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามัน จะมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม หรือมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในแนวทางอื่นออกมาเช่นไร เพราะเป็นช่วงที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และอยู่ระหว่างการฟอร์มรัฐบาลใหม่

แม้หลายคนยังเชื่อว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูชายฝั่งอันดามันที่เป็นรูปธรรมน่าจะเกิดขึ้น เพราะ พ.ต.ท. ทักษิณเป็นคนที่เข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์การแข่งขันระดับชาติ ชนิดที่เรียกได้ว่าอ่านขาด แต่หากทิ้งช่วงนานเกินไป ภูเก็ต พังงา และกระบี่ อาจเสียเปรียบคู่แข่งที่เริ่มจะใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นกับ 3 จังหวัดครั้งนี้ ในการดึงนักท่องเที่ยวให้เปลี่ยนจุดหมายปลายทางใหม่

เพียงแค่ไม่กี่วันหลังเกิดคลื่นสึนามิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า มีแผนจะบูรณะเกาะบาหลีขึ้นมาใหม่ เพื่อดึงการเป็นผู้นำเมืองตากอากาศระดับโลกให้กลับไปที่บาหลีอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่วันเช่นกัน บุคคลระดับสูงในรัฐบาลพม่าก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จะเปิดพื้นที่ชายหาดบริเวณฝั่งทะเลอันดามันให้เอกชนเข้าไปพัฒนา เพื่อสร้างให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยอาศัยการที่พม่าได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิครั้งนี้น้อยมากมาเป็นจุดขาย

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนมกราคม กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ 25 ราย ได้จัดงานแทรเวิล เอ็กซ์โป 2005 ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ โดยลดค่าตั๋วเครื่องบิน และแพ็กเกจ ทัวร์ลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 1 หมื่นบาท ต่อการไปเที่ยวที่สิงคโปร์เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน

ปมุขมองว่า การฟื้นฟูภูเก็ต พังงา และกระบี่ หากทำกันอย่างจริงจัง ไม่น่าจะใช้เวลานานเป็นปี เขาเชื่อว่าหลังจากเกิดภาพที่พร่ามัวในช่วงที่เกิดวิกฤติใหม่ๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ทุกอย่างน่าจะชัดเจนขึ้น

ภาพนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับลงไปเล่นน้ำ และนอนอาบแดดบนหาดกะตะ ในวันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นเพียง 2 วัน หลังเพิ่งผ่านพ้นวิกฤติการณ์คลื่นยักษ์สึนามิมาหมาดๆ ได้จุดประกายความเชื่อมั่นให้กับคนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวของภูเก็ตให้กลับคืนมาอีกครั้ง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพื้นที่เหล่านี้ ล้วนเข้าใจในตัวแปรดังกล่าวเป็นอย่างดี

"มันไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ที่ว่า beach destination จะตาย" เป็นคำยืนยันความเชื่อมั่นของปมุข

เพียงแต่หลังจากที่ได้มีการฟื้นฟูกลับคืนมาใหม่แล้ว ทั้งภูเก็ต พังงา และกระบี่จะยังคงมีรูปแบบที่ไร้ระเบียบเช่นเดิม หรือได้รับการจัดระเบียบขึ้นมาใหม่ให้มีพัฒนาการที่ควบคู่กันไประหว่างธุรกิจท่องเที่ยวกับการสร้างสมดุลธรรมชาติ

เชื่อได้ว่าหลายคนต่างกำลังจับตารอตรงนี้อยู่!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.