MFC ถกลงขันสึนามิฟันด์


ผู้จัดการรายวัน(28 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

บลจ.เอ็มเอฟซีนัดถกสมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุน สมาคมโบรกเกอร์ และสมาคมบลจ.ร่วมลงขันตั้ง"สึนามิฟันด์" มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท ซับน้ำตาอันดามัน เผยกรอบการร่วมทุนเบื้องต้นคาดว่าจะร่วมลงทุน-ปล่อยกู้ ให้กับผู้ประกอบการที่มีขนาดกลางที่มีสินทรัพย์ก่อนเจอคลื่นยักษ์ 200 ล้านบาทขึ้นไป ระยะเวลาโครงการ 10 ปี MFC ใจปั้มไม่คิดค่าฟี ขณะที่ก.ล.ต.คลอดหลักเกณฑ์กว้างเปิดทางบลจ.อื่นที่สนใจสามารถจัดตั้งได้ทันที

นายศุภกร สุนทรกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (28 มกราคม) เวลาประมาณ 14.00 น.คณะทำงานจัดตั้ง"กองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ" มูลค่าโครงการ 3 พันล้านบาท จะจัดประชุมร่วมกัน เพื่อพิจารณากรอบการลงทุน และการร่วมลงขันกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้นสมาคมธนาคารไทยจะร่วมลงขันประมาณ 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1 พันล้านบาท เป็นเงินจากธนาคารออมสิน สภาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม

"วันนี้น่าจะได้ข้อสรุปว่าแต่ละส่วนจะช่วยเหลือวงเงินเท่าไหร่ เพราะเรื่องนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร่งผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน"นายศุภกรกล่าว

สำหรับแนวทางการลงทุนของกองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ภายใต้การบริหารของบลจ.เอ็มเอฟซี จะเน้นการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการเป็นหลัก โดยเป็นกองทุนร่วมทุนเป็นเวลา 10 ปี นโยบายการลงทุนจะมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุน การให้เงินกู้แบบมีเงื่อนไข และเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของการลงบันทึกบัญชี การพัฒนาบุคลากร และเน้นการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน

"บลจ.เอ็มเอฟซีจะไม่คิดค่าธรรมเนียมจากการบริหารงาน เนื่องจากกองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นสำคัญ"นายศุภกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับค่าจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมาย การประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ดิวดิลิเจนท์) หรือการว่าจ้างคณะกรรมการตรวจสอบ อาจต้องใช้เงินส่วนกลางเข้ามาเป็นค่าใช้จ่าย

สำหรับการเข้าไปช่วยเหลือหรือร่วมลงทุน บลจ.จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีขนาดสินทรัพย์ก่อนเกิดคลื่นยักษ์ถล่มมูลค่า 200 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีกองทุนที่เข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีกอยู่แล้ว

ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศใหม่ 3 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดตั้ง "กองทุนรวมสึนามิ" เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ โดยมุ่งขายเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน โดยขณะนี้มี บลจ.เอ็มเอฟซี ประเดิมขอจัดตั้งแล้วเป็นรายแรก มูลค่ากองทุน 3 พันล้านบาท

รายงานข่าวจาก ก.ล.ต. แจ้งว่า ตามที่กระทรวงการคลังมีนโยบายจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อระดมเงินไปลงทุนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยและคลื่นยักษ์สึนามิในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ ในส่วนของ ก.ล.ต. ได้มีการพิจารณาผ่อนผันเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวม เพื่อรองรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องรวม 3 ฉบับ

โดยลักษณะสำคัญของกองทุนรวมสึนามิ ได้แก่ เป็นกองทุนรวมที่เสนอขายเฉพาะแก่ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (non-retail) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากเหตุการณ์สึนามิ สามารถลงทุนโดยตรง (direct investment) ในกิจการกลุ่มเป้าหมายได้ เนื่องจากอาจมีหลายบริษัทไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สามารถลงทุนในลักษณะสัญญาร่วมลงทุน (private equity) คือ การส่งผู้แทนของกองทุนรวมเข้าร่วมเป็นกรรมการในกิจการที่มีการลงทุน มีอัตราส่วนการลงทนแตกต่างจากกองทุนรวมโดยทั่วไป เช่น สามารถลงทุนในหุ้นของบริษัทได้ถึง 100% สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ถึง 100% ของ

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) โดยมี company limit ของการลงทุนในแต่ละบริษัทไม่เกินร้อยละ 25 ของ NAV

สำหรับการยื่นจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าว ต้องยื่นคำขอจัดตั้งภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ 26 มกราคม 2548 และต้องจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ ก.ล.ต. อนุมัติคำขอจัดตั้ง ต้องนำเงินทั้งหมดไปลงทุนภายใน 2 ปี นับจากวันจดทะเบียนเป็นกองทุนรวม โดยขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 1 แห่ง ที่ยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมประเภทนี้ และได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว ได้แก่ บลจ.เอ็มเอฟซี ขอจัดตั้ง "กองทุนเปิดเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ" โดยมีมูลค่ากองทุน 3 พันล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.