แฉผู้บริหารแผนฟื้นฟูยักยอก-ทำลายทีพีไอ


ผู้จัดการรายวัน(27 มกราคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ประชัย" ร้องศาลล้มละลายกลาง ปลดผู้บริหารแผนทีพีไอ ระงับเช่าตึก กสท แฉพฤติกรรมยักยอกถ่ายเทเงิน สั่งห้ามใช้เรือลากถังน้ำมันของระยอง แทงค์ เทอร์มินัล ระบุหวังให้เจ๊งเพื่ออ้างเหตุขายทรัพย์สิน เผยบิ๊กหมงรับเดือนละล้าน พละ-ทนง-ปกรณ์-อารีย์ คนละ 7.5 แสน ที่ปรึกษาได้เบี้ยประชุมนัดละ 2.5 หมื่น บางคนยังเป็นทหารประจำการ กินเงินเดือนหลวงอยู่ 17 เดือน ตั้งแต่เข้ามาบริหารแผนดูดเงินไปแล้ว 651 ล้านบาท ส่วนคดีขอสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนศาลนัดไกล่เกลี่ย 4 ก.พ.

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548 นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการพ้นจากตำแหน่ง

สำหรับผู้บริหารแผนฯดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการคลังให้บริหารแผนฯแทนบริษัทเอฟเฟคทีฟ แพลนเนอร์ ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นมา ประกอบด้วย พล.อ. มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นายพละ สุขเวช นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายทนง พิทยะ และนายอารีย์ วงศ์อารยะ

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2547 นายประชัย ในฐานะผู้บริหารของลูกหนี้ เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้บริหารคนใหม่พ้นจากตำแหน่ง และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล คำร้องที่ยื่นใหม่นี้นายประชัยระบุว่า หลังจากยื่นคำร้องเมื่อ 7 ต.ค.ไปแล้ว ได้ตรวจสอบพบว่าผู้บริหารแผนได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ และมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรเป็นผู้บริหารแผนต่อไป เพิ่มเติมอีกหลายกรณี แต่ที่ตรวจพบและปรากฏหลักฐานมีอยู่ 2 เรื่อง

เช่าตึก กสท แพงกว่า ทีพีไอ ทาวเวอร์

เรื่องแรก ผู้บริหารแผนกำลังดำเนินการทำสัญญาเช่าอาคาร กสท โทรคมนาคม โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ได้เดินทางไปดูพื้นที่และมอบหมายให้บริษัทโจนส์แลง ลาซาลล์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการเช่าอาคาร โดยจะเช่าพื้นที่ประมาณ 3,200 ตารางเมตร ค่าเช่าตร.เมตรละ 350 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำเย็นสำหรับเครื่องปรับอากาศ 2,000 บาทต่อตันต่อเดือน ค่าเช่าที่จอดรถ เป็นต้น ในระยะเวลา 1-3 ปี (ตั้งแต่ 16 ก.พ. 2548- 15 ก.พ. 2551) และสามารถเจรจาต่อสัญญาได้อย่างน้อย 2 ครั้งๆ ละ 3 ปี

คำร้องระบุว่า ปัจจุบัน ทีพีไอเช่าพื้นที่อาคาร ทีพีไอ ทาวเวอร์ ของบริษัทพรชัย วิสาหกิจ ประมาณ 24,000 ตร.เมตร โดยจ่ายค่าเช่าบางส่วนประมาณ 37 บาท ต่อ ตร.เมตร และบางส่วน 250-300 บาทต่อ ตร.เมตร ถูกกว่าค่าเช่าอาคาร กสท มาก และหากผู้บริหารแผนต้องการขยายพื้นที่เช่า อาคารทีพีไอ ทาวเวอร์ก็ยังมีพื้นที่เหลือเพียงพอ การไปเช่าอาคาร กสทฯ จึงเป็นการสร้างภาระเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกหนี้โดยไม่สมควร และไม่ได้ขออนุญาตต่อศาลล้มละลายกลาง

ห้ามใช้เรือ-ถังน้ำมันบริษัทลูก

เรื่องที่ 2 คือ ผู้บริหารแผนมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต โดยสั่งให้ระงับการใช้เรือทักโบตของบริษัทระยอง แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ทีพีไอถือหุ้นมากกว่า 99% และมีคำสั่งให้งดการจ่ายค่าเช่าถังน้ำมันของบริษัท และโอนย้ายพนักงานประมาณ 35 คนไปสังกัดทีพีไอ อันเป็นการ เพิ่มค่าใช้จ่ายของทีพีไอ โดยให้ขึ้นบัญชีบริษัทที่ให้บริการทักโบต 4 บริษัท ได้แก่ เอสซี แมเนจเมนท์, ศรีราชา ทักโบต, เวสคอน-ไทย ชิ้ปปิ้ง และห้างหุ้นส่วนจำกัด รุ่งนที

คำร้องระบุว่า ผลจากคำสั่งผู้บริหารแผนจะทำให้ระยอง แทงค์ เทอร์มินัล ไม่มีรายได้จากการให้เช่าทักโบตที่จะนำไปชำระหนี้ อาจถูกบังคับขายทรัพย์สินในราคาถูกเพื่อชำระหนี้ และถ้าไม่มีถังน้ำมันของระยอง แทงค์ เทอร์มินัล ทีพีไอก็ไม่สามารถขนถ่ายน้ำมัน และไม่สามารถผลิตน้ำมันถึง 2 แสนบาร์เรลต่อวันได้ เปรียบเหมือนการทำลายกิจการครบวงจรของทีพีไออีกทั้ง บริษัทเรือที่เสนอตัวเข้าประมูลการใช้เรือทักโบต อาจมีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เกี่ยวข้องได้

ทั้งการเช่าอาคาร กสท การยกเลิกสัญญาใช้บริการเรือทักโบตกับบริษัทระยอง แทงค์ เทอร์มินัล และมีข่าวว่า ผู้บริหารแผนอยู่ในระหว่างการจัดซื้อรถยนต์ประจำตำแหน่ง ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างภาระในค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแก่ลูกหนี้ โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อยักย้ายถ่ายเทเงินและแบ่งแยกกิจการของลูกหนี้ ขัดต่อเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูกิจการเสมือนหนึ่งองค์กรเดียวกัน ที่ผู้บริหารแผนคนใหม่เองระบุไว้ในแผนฉบับแก้ไข

บิ๊กหมงรับเดือนละ 1 ล้าน

คำร้องยังระบุว่า ผู้บริหารแผนทั้ง 5 เป็นพนักงานระดับผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ทำงานหลายตำแหน่ง และเข้ามาทำงานกับลูกหนี้เพียงครั้งคราว นอกจากจะไม่มีเวลาทำงานให้ลูกหนี้แล้ว ยังเบียดบังเวลาราชการทั้ง 5 คน ซึ่งได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนเต็มที่จากหน่วยงานที่สังกัดอยู่

สำหรับค่าตอบแทนที่ทีพีไอต้องจ่ายให้ผู้บริหารแผนทั้ง 5 คน คือ พล.อ.มงคล ได้เงินเดือนๆ ละ 1 ล้านบาท โดยที่เป็นประธานธนาคารกรุงไทยมีเงินเดือนประจำอยู่แล้ว และตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต้องทำงานเต็มเวลา

ส่วนนายพละ นายทนง นายปกรณ์ และนายอารีย์ ได้เงินเดือนคนละ 750,000 บาทต่อเดือน โดยทั้ง 4 คน ต่างก็เป็นกรรมการในบริษัทอื่นๆ ซึ่งรัฐถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วย

ผู้บริหารแผนทั้ง 5 ยังจ้างที่ปรึกษาต่างๆ มาช่วยงานหลายท่านเป็นข้าราชการประจำและพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีกฎระเบียบห้ามรับค่าตอบแทนจากหน่วยงานอื่น และไม่สมควรเบียดบังเวลาราชการ เพื่อรับค่าตอบแทนจำนวนสูง ซึ่งค่าตอบแทนนี้ยังไม่รวมเบี้ยประชุมของที่ปรึกษาแต่ละคนครั้งละ 25,000 บาท

คำร้องได้ยกตัวอย่างที่ปรึกษาคือ พลโทบัญชร ชวาลสินธุ์ คนสนิทของพลเอกมงคล ซึ่งรับราชการทหารกินเงินเดือนจากกองบัญชาการทหารสูงสุด

พลโทบัญชร นอกจากจะรับค่าตอบแทนจากทีพีไอแล้ว ยังได้เงินเดือนในฐานะที่ปรึกษาของธนาคารกรุงไทยด้วย

ในเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้บริหารแผนนี้ ผู้บริหารฝ่ายบัญชีและการเงินของทีพีไอเคยให้การเป็นพยานในคดีที่นายประชัยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ให้ผู้บริหารแผนฯคืนเงินที่จ่ายเกินกว่าระบุไว้ในแผนฟื้นฟู เมื่อวันที่ 25 มกราคมว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2546-31 ธ.ค. 2547 ผู้บริหารแผนฯเบิกค่าใช้จ่ายจากทีพีไอทั้งสิ้น 651 ล้านบาท

นายประชัย ได้ร้องต่อศาลว่า ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงต้องขอความเป็นธรรมจากศาลให้ระงับการทำสัญญาเช่าอาคาร กสท โทรคมนาคม และมีคำสั่งให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งตน เป็นผู้บริหารแผนแทน

อนึ่งวานนี้ ศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาคำร้องของนายประชัย ที่ขอสิทธิผู้ถือหุ้นเดิม ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอใหม่ ก่อนผู้ร่วมทุนรายอื่นหรือเจ้าหนี้ แต่ทางผู้บริหารแผนคัดค้าน ศาลเห็นว่ากรณีนี้น่าจะเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดฝ่ายนายประชัย ผู้บริหารแผน และตัวแทนการคลัง มาพร้อมกันที่ศาลล้มละลายกลางในวันที่ 4 ก.พ.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.