ปัญหาระหว่างผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ หรือเกรย์มาร์เก็ต
ที่เข้ามาแย่งตลาดกับค่ายรถต่างๆ ปัจจุบันเริ่มกระจายตัวไปในวงกว้าง แต่ดูเหมือนค่ายเดมเลอร์ไครสเลอร์
(ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายรถเบนซ์ เป็นค่าย ที่เป็นเดือดเป็นแค้นมากที่สุด
"บริษัทเหล่านี้เป็นพวกตีหัวเข้าบ้าน และทิ้งภาระไว้ข้างหลัง" คาร์ล ไฮน์ซ
เฮคเฮาเซ่น ประธานบริหาร เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) ได้กล่าว ถึงเกรย์มาร์เก็ตไว้อย่างค่อนข้างรุนแรง
ท่ามกลางสื่อมวลชน และดีลเลอร์เบนซ์จำนวนมาก ในงานเปิดตัวรถซี-คลาสรุ่นใหม่
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา
ในงานเดียวกันนี้ เฮคเฮาเซ่นก็ได้ใช้เป็นเวทีแถลงถึงมาตรการล่าสุด ที่เดมเลอร์ไครสเลอร์จะนำออกมาตอบโต้กับเกรย์มาร์เก็ต
โดยนับแต่นี้ไป เดมเลอร์ไครสเลอร์จะไม่ยอมให้บริการหลังการขายกับรถเบนซ์ ที่ไม่ได้ซื้อรถจากดีลเลอร์ ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท
ในทางตรงข้าม ผู้ที่ซื้อเบนซ์ซี-คลาสรุ่นใหม่จากดีลเลอร์ ที่ได้รับแต่งตั้งจากเดมเลอร์ไครสเลอร์
จะได้รับบริการ "สตาร์ แคร์" โดยรับประกันการซ่อม และบำรุงรักษาฟรีทั้งค่าอะไหล่ และบริการเป็นระยะเวลาสูงถึง
3 ปีเต็ม ซึ่งบริการนี้ ได้เคยมอบให้กับลูกค้า ที่ซื้อรถรุ่นเอส-คลาสรุ่นใหม่ ที่เปิด
ตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ และยังจะมอบให้กับลูกค้า ที่ซื้อรถรุ่น อี-คลาส ที่จะมีการเปิดตัวในอนาคตด้วย
ซึ่งหมายความว่าหลังจากนี้ไปลูกค้า ที่ซื้อรถเบนซ์ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นใดจากดีลเลอร์ของเดมเลอร์ไครสเลอร์
จะได้รับการประกันดูแลรักษา และซ่อมบำรุงฟรี 3 ปี แต่หากซื้อจาก ที่อื่น "ไม่รับซ่อม"
"มันเป็นการง่าย ที่จะออกไปกว้านซื้อรถถูกๆ ในปากีสถาน
บังกลาเทศ แล้วนำเข้ามาขายในไทย บริษัทพวกนี้สามารถขายรถได้ถูกกว่าเรา และยังมาอาศัยบริการของ
ดีลเลอร์ของเรา ซึ่งถือว่าไม่แฟร์ เพราะว่าเราได้มีการลงทุนไปมาก ไม่ว่าจะเรื่องของคน
หรือเครือข่าย" เฮคเฮาเซ่นให้เหตุผล
มีคนมองว่ามาตรการตอบโต้ของเดมเลอร์ไครสเลอร์ครั้งนี้ ค่อนข้างจะรุนแรง
และสุ่มเสี่ยงต่อการเสียภาพพจน์ของสินค้ามากกว่า เมื่อเทียบกับมาตรการที่ค่ายรถอื่นนำมาตอบโต้กลับเกรย์มาร์เก็ต
เพราะก่อนหน้าการประกาศมาตรการของเดมเลอร์ ไครสเลอร์เพียงประมาณ 1 เดือน
ค่ายยนตรกิจ ซึ่งเป็นผู้แทน จำหน่ายรถโฟล์กสวาเกน เพิ่งใช้กลยุทธ์ตอบโต้เกรย์มาร์เก็ต ที่นำเข้ารถโฟล์กนิวบีทเทิลเข้ามาขายตัดหน้า
ด้วยการเปิดประมูลรถในราคาตั้งต้นเพียง 1.5 ล้านบาท จากราคารถ ที่เกรย์ มาร์เก็ตนำเข้ามาขายประมาณคันละ
2.5 ล้านบาท
ซึ่งเป็นมาตรการที่ดูจะนิ่มนวลกว่า
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถเบนซ์ เป็นรถ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในกลุ่มรถระดับหรู
ความต้องการซื้อ ที่มีมากกว่าปริมาณสินค้า เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้มีผู้นำเข้าเบนซ์อิสระเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
และผู้นำเข้าเหล่านี้มีความคล่องตัวกว่า โดยเฉพาะการกำหนดราคา และมีระยะเวลาส่งมอบรถ ที่แน่นอน
ต่างจากเดมเลอร์ไครสเลอร์ ที่หลายเรื่องรอการตัดสินใจจากบริษัทแม่ โดยเฉพาะในเรื่องของจำนวนรถ
ที่ได้รับการจัดสรรเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้ดีลเลอร์ในประเทศไทย ไม่สามารถระบุกับลูกค้า ที่เข้ามาจองรถว่าจะได้รับมอบรถเมื่อไร
เป็นจุดบอด ที่เดมเลอร์ไครสเลอร์เสียเปรียบ เกรย์มาร์เก็ต
นอกจากนี้ ยังมีหลายครั้ง ที่เกรย์มาร์เก็ต สามารถนำรถรุ่นใหม่มาเปิดตัวให้กับลูกค้าในประเทศไทยได้ก่อนเดมเลอร์ไครสเลอร์
เพราะความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร ทำให้ผู้นำเข้าอิสระเหล่านี้สามารถส่งคำสั่งซื้อไปทางตัวแทนของเบนซ์ในประเทศอังกฤษ
ซึ่งเป็นประเทศ ที่ขับรถด้วยพวงมาลัยขวาเหมือนกับประเทศไทย และสามารถนำรถเข้ามาขายได้ก่อน
ทำให้คนที่มีความนิยมในรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์หลายคนนิยมซื้อรถจากเกรย์มาร์เก็ต
เดมเลอร์ไครสเลอร์เอง ก็ทราบดีถึงจุดอ่อนดังกล่าว ดังนั้น ในการเปิดตัวรถเบนซ์รุ่นซี-คลาสครั้งนี้
เป็นการชิงเปิดตัวก่อนประเทศอังกฤษถึง 3 เดือนเต็ม เพื่อเป็นการตัดหน้าเกรย์มาร์เก็ต
แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ เพราะกว่าลูกค้า ที่สั่งจองรถรุ่นนี้ไว้ จะได้รับรถก็ต้องเลยไปถึงประมาณเดือนกันยายน
ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว ก็เป็นการเปิดช่องว่างให้กับผู้นำเข้าอิสระสามารถเข้ามาทำตลาดรถรุ่นเดียวกันนี้ได้อีก
การแก้ปัญหาระยะยาวของเดมเลอร์ไครสเลอร์ คือ การนำรถรุ่นซี-คลาสเข้ามาผลิตในประเทศไทย
ซึ่งนอกจากทำให้ขายรถได้ในราคา ที่ต่ำลงแล้ว ยังสามารถกำหนดจำนวนรถ ที่จะนำออกมาทำตลาด
แก้ปัญหาการส่งมอบรถ ที่ล่าช้าไปได้
แต่กว่ารถคันแรกจะเริ่มออกมาจากสายการผลิตของโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ต้องรอไปถึงเดือนกุมภาพันธ์
ปีหน้า
ไม่รู้ว่าจนถึงวันนั้น ปัญหาระหว่างเดมเลอร์ไครสเลอร์ กับเกรย์มาร์เก็ต
จะปะทุกันไปถึงขั้นไหน