ตลาดบัตรเครดิตเฮยกเลิกเพดานรายได้


ผู้จัดการรายวัน(10 เมษายน 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ได้เฮหลังธปท.ยกเลิกเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำผู้ขอมีบัตรเครดิต 15,000 บาทต่อเดือน คาดยอดของผู้สามารถมีบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000,000 รายจากปัจจุบัน 1,800,000-2,000,000 ราย

ด้านอิออนธนทรัพย์องุ่นเปรี้ยว ยันไม่ส่งผลกระทบเพราะคนไทยยังถือบัตรเครดิตน้อย ผู้สื่อข่าวรายงานจากธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธปท.

ได้ยกเลิกเงื่อนไขการกำหนดเพดานรายได้ขั้นต่ำของผู้ทำบัตรเครดิตซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของสมาคมธนาคารไทย จากเดิมกำหนดวงเงิน ขั้นต่ำของผู้ขอมีบัตรจากธนาคารพาณิชย์ต้องมีรายได้ 15,000

บาทต่อเดือน "ตอนนี้คิดว่าแบงก์โตแล้ว จัดการเองได้ เรื่องดังกล่าวได้จัดการ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้ธปท.กำลัง ทำหนังสือเวียนไปยังธนาคารพาณิชย์เพื่อให้รับทราบ

ส่วนการจะประกาศให้ชัดเจนช่วงไหนคงต้องรอให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการปรับก่อน"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว นายสุขดี จงมั่นคง กรรมการผู้จัดการบริษัทบัตรกรุงศรี กล่าวในฐานะประธานชมรมบัตรเครดิตว่า

จะทำให้มีฐานลูกค้าที่ประสงค์จะทำบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บัตร ภายในระยะเวลา 2-3 ปีนับจากนี้ จากปัจจุบันที่ฐานบัตรเครดิตมีอยู่ประมาณกว่า 2,000,000 บัตร

และเชื่อว่าการแข่งขันในระบบจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น นายนิวัตต์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี

เพราะจะทำให้คนที่ไม่มีโอกาสมีบัตรเครดิตเพราะติดปัญหารายได้ขั้นต่ำสามารถมีบัตรเครดิตและมีโอกาสใช้เงินในระบบได้มากขึ้น

และการผ่อนปรนในครั้งนี้จะทำให้ฐานบัตรเครดิตในระบบเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยในส่วนของบริษัทบัตรกรุงไทยนอกเหนือจากลูกค้าบัตรทั่วไปที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าลูกค้าที่เป็นพนักงานบัตรเครดิตก็เพิ่มขึ้นด้วย

ทำให้บริษัทมีโอกาสขยายฐานบัตรได้มาก นายธาดา จารุกิจไพศาล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายการตลาด ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหา ชน) กล่าวว่า ความจริง แล้วถือเป็น การย้อนกลับไปสู่เกณฑ์ ที่ใกล้เคียง

กับดั้งเดิม เพราะก่อนหน้าที่จะเกิด วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนั้น ธปท. ไม่ได้มีการกำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ก็ได้มีการปรับเกณฑ์ให้ผู้ขอมีบัตรเครดิตต้องมีรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 20,000

บาทต่อเดือน และปรับลงมาเหลือ 15,000 บาทต่อเดือน "การปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำเหลือ 10,000 บาทจากเดิม 15,000 บาทต่อเดือนนั้น จะทำให้มีลูกค้าที่สามารถมีบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจากที่ปัจจุบันมีประมาณ

1,800,000-2,000,000 ราย เพิ่มเป็น 4,000,000 ราย เพราะฉะนั้น โอกาสในการทำธุรกิจของธนาคารพานิชย์จึงมีมากขึ้น ส่วนยอดการใช้จ่ายนั้น โดยทั่วไปจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณของฐานบัตรที่เพิ่มขึ้น

แต่จะเพิ่มมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของประชาชน ต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ" ส่วนกรณีที่ธนาคารกรุงไทยเริ่มมีการใช้กลยุทธ์ฟรีค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตตลอดชีพนั้น

นายธาดากล่าวว่า คงจะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดเครดิตพอสมควร แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้มีทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบีรัตนสิน ธนาคารเอเชียก็ใช้มาแล้ว

แต่ตนคิดว่าในที่สุดแล้วแนวโน้มธนาคารคงจะต้องหันมาใช้กลยุทธ์เดียวกันเกือบทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นคงลำบาก "การไม่คิดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตนั้นย่อมจะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจนี้ลดลง

เพราะธุรกิจนี้ธนาคารมีรายได้จากค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมจากร้านค้า และอัตราดอกเบี้ยเป็นต้น ดังนั้นคงจะเน้นหารายได้จากส่วนอื่นมาชดเชย" สำหรับธนาคารดีบีเอสไทยธนุนั้น

ตอนนี้ยังไม่เข้าไปรุกตลาดบัตรเครดิตอย่างเต็มที่เพราะ รอความพร้อมด้านระบบไอที ที่กำลังพัฒนาและ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ธนาคารมีบัตรเครดิตอยู่เพียง 6,000 บัตรเท่านั้น

เมื่อระบบพร้อมแล้วเชื่อว่าจะสามารถรุกได้เต็มที่ ส่วนความคืบหน้าของสินเชื่อบุคคลที่ธนาคารได้ออกมากก่อนหน้านั้นได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก โดย 3 เดือนที่ผ่านมามีการอนุมัติสินเชื่อเดือนละประมาณ

500 ล้านบาท รวม 1 ไตรมาสปล่อยไปแล้ว 1,500 ล้านบาท แบงก์ลูกครึ่งรับผลเต็มๆ นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คงจะส่งผลดีต่อธนาคารขนาดกลางและเล็ก

ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร เอเชีย (BOA) ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ (DTDB) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน (SCNB) และธนาคาร ยูโอบี รัตนสิน (UOBR) เนื่องจากแบงก์เหล่านี้ต่างก็รุกตลาดรายย่อย

"สำหรับแบงก์ใหญ่แล้ว คงไม่ค่อยให้ความ สนใจทำตลาดรีเทลมากนัก แต่จะเน้นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า ส่วนอิออนฯแล้ว ธุรกิจหลักยังคงเป็นสินเชื่อเช่าซื้อ อาทิ ผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขณะที่บัตรเครดิตยังมีสัดส่วนจำนวนน้อย" อิออนฯยันไม่ส่งผลกระทบ แหล่งข่าวจากบมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) (AEONTS) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอิออนมากนัก

เนื่องจากตลาดสินเชื่อรายย่อยหรือบัตรเครดิตยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ปัจจุบัน คนไทย 1 คน ยังถือบัตรเครดิตต่ำกว่า 1 ใบ เทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกงถือบัตรคนละ 2-3 ใบ ทั้งนี้

อิออนฯยังได้พยายามแตกไลน์หรือขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม แม้การแข่งขันบัตรเครดิตจะมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาทำตลาดของอีซี่ บาย เซทเทเลม

เป็นต้น อาจจะส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ของอิออนฯลดลง แต่เชื่อว่าวอลุ่มจะมีขนาดใหญ่มากขึ้น ในทางกลับกันกำไรของอิออนก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย ปัจจุบัน อิออนฯมีบัตรเครดิต 5.5

แสนบัญชีและทั้งบริษัทมีฐานลูกค้า 1.1-1.2 ล้านบัญชี "อิออนฯไม่ได้มีธุรกิจบัตรเครดิตอย่างเดียว แต่ยังมีโปรดักส์ที่มีความหลายหลาย โดยล่าสุดได้รุกตลาดรถจักรยานยนต์" แหล่งข่าวกล่าว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.